แม้จะเป็นปากปล่องภูเขาไฟที่สูงจากระดับน้ำทะเล 230 เมตร แต่ “เขากระโดง” ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางอารยสถาปัตย์ของจังหวัดบุรีรัมย์ เมืองแห่งภูเขาไฟ เพราะเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟที่ดับแล้วถึง 6 ลูก โดยเขากระโดงเป็นภูเขาไฟ 1 ใน 6 แห่งของจังหวัดแห่งนี้ สำหรับความพิเศษของเส้นทางท่องเที่ยวของ เขากระโดง คือ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบของวนอุทยานภูเขาไฟเขากระโดง ให้มีความสวยงาม มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย ตามความหมาย ‘ใครๆ ก็เที่ยวได้’ ให้สามารถเดินทางเข้าถึงและชื่นชมความงามตามธรรมชาติได้ถึงปากปล่องภูเขาไฟ และจุดชมวิว ซึ่งเป็นที่ประดิษฐ์ สถานของพระสุภัทรบพิตรจำลององค์ใหญ่ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ ณ จุดชมวิว ให้ผู้คนได้ชมทั้งทิวทัศน์ความงามของเมืองบุรีรัมย์ในมุมสูง และกราบสักการะพระภัทรบพิตร เพื่อเป็นสิริมงคลในการดำเนินชีวิตต่อไป ซึ่ง เขากระโดง เป็น 1 ใน 6 ภูเขาไฟที่ตั้งในจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นภูเขาไฟที่ดับมอดแล้วมาเป็นเวลานับแสนปี คงเหลือไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความสวยงามของธรรมชาติและป่าไม้ มีพันธ์ไม้หายากอย่างต้น โยนีปีศาจ และอีกหลายๆชื่อ เช่น ต้นมะกอกเผือก ต้นมะกอกโคก โดยภาษาเขมรจะเรียกต้นนี้ว่า ต้นกะนุยขมอย เป็นที่ตั้งของปราสาทหินเขากระโดง ที่สร้างขึ้นก่อนสมัยสุโขทัย เดิมเป็นปรางค์หินทรายก่อบนฐานศิลาแลงองค์เดียว ฐานสี่เหลี่ยมขนาด 4x4 เมตร มีช่องทางเข้า 4 ด้าน ต่อมาหินดังกล่าวได้พังลง จึงมีผู้นำหินมาเรียงขึ้นใหม่แต่ไม่ตรงตามรูปเดิม ต่อมาตระกูลสิงห์เสนีย์ ได้สร้างพระพุทธบาทจำลองมาประดิษฐานไว้ในปราสาท และสร้างมณฑปครอบทับไว้บนปราสาท พร้อมประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ส่วนจุดชมวิวยังเป็นที่ประดิษฐานของพระสุภัทรบพิตร ขนาดหน้าตักกว้าง 12 เมตร ฐานกว้าง 14 เมตร ภายในเศียรบรรจุพระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุ ประทับอยู่ขอบปากปล่องภูเขาไฟ รูปจันทร์เสี้ยว หันหน้าไปทางทิศเหนือเข้าเมืองบุรีรัมย์ นอกจาก เขากระโดง เป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติและพรรณไม้แล้ว จุดไฮไลท์ของเขากระโดง คือปากปล่องภูเขาไฟที่ดับแล้ว ที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ โดยเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ และจังหวัดบุรีรัมย์ได้สร้างสะพานแขวน ให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมปากปล่องภูเขาไฟได้อย่างใกล้ชิด มีความสะดวกในการเข้าชมแต่ละจุดท่องเที่ยว ด้วยการจัดทำทางเดินที่เหมาะกับทุกเพศ วัย และทุกสภาพร่างกาย โดยผู้ที่ใช้รถวีลแชร์ก็สามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละจุดได้อย่างสะดวกสบาย นอกจากนั้น ในการเดินทางขึ้นเขา รถยนต์ก็สามารถขับไปส่งได้ถึงที่ รวมทั้งยังได้ทุ่มงบประมาณในการพัฒนา ปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบให้สวยงามเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เข้าชมความงามและศึกษาธรรมชาติ ซึ่งในเวลานี้ทาง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ร่วมหารือกับจังหวัดบุรีรัมย์ องค์กรภาคีเครือข่ายในจังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์ หาแนวทางการดำเนินกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้และพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ โดย อพท. จะกำหนดแผนการพัฒนาให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่เป้าหมายต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล โดยในระยะแรกจะเน้นพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคีที่เกี่ยวข้อง ผ่านกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้ และจะลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง อพท. ชมรมทูตอารยสถาปัตย์ และหน่วยงานในจังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์