คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย ในช่วงหกสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง 3 พฤศจิกายน “ว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน” ได้ปฏิบัติตามกฎกติกาของรัฐธรรมนูญ โดยเขาอดทนฝ่าฟันจนสามารถผ่านด่านสำคัญๆไปได้อย่างทุลักทุเล เนื่องจากถูก “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” ออกคำสั่งให้ทีมทนายความในเครือข่ายของเขากระหน่ำทำเรื่องฟ้องร้องว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้มีการโกง” จนทำให้เกิดความโกลาหลวุ่นวายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อ 232 ปีก่อนหน้านี้รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาได้ถือกำเนิดขึ้นมา ที่มีความยาวของเนื้อหาสาระเพียง 4,543 คำ และได้ประกาศให้เป็นตัวบทกฎหมายเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 1788 ที่ได้กลายเป็นบทพิสูจน์ถึงความศักดิ์สิทธิ์ที่นักการเมืองอเมริกันทุกๆคนต้องเคารพ และยังถือเป็นกฎกติกาที่ยั่งยืนของแม่บทกฎหมายสูงสุดของสหรัฐฯอีกด้วย!!! แต่ขณะนี้ปรากฏว่าประธานาธิบดีทรัมป์กลับมิได้ให้ความเคารพต่อรัฐธรรมนูญข้อกำหนดที่ได้ยึดเป็นกฎกติกาของการเลือกตั้งเสมอมา โดยเขาเริ่มออกมาป่าวประกาศร้องแรกแหกกระเชอวิพากษ์วิจารณ์การลงคะแนนทางไปรษณีย์ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2020 เป็นต้นมาว่าไม่เป็นประชาธิปไตย อีกทั้งในวันที่ 30 กรกฎาคม 2020 ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ออกมากล่าวเสนออย่างมีเลศนัยว่า “ควรจะเลื่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ออกไปก่อนจนกว่าโรคระบาดโควิด-19 จะหดหายไป” แต่กลับถูกต่อต้านอย่างหนัก และเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ออกมากล่าวประกาศ ในทันทีทันใดนั้นเหล่าบรรดานักการเมืองของพรรครีพับลิกันก็พากันออกมาขานรับด้วยการผนึกพลังต่อต้านการลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์ อนึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าจากผลการหยั่งเสียงของสำนักหยั่งเสียง “Emerson College” ซึ่งเป็นโพลที่ได้รับความเชื่อถืออย่างสูงได้เปิดเผยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2020 ที่ผ่านมานี้ว่า “คนอเมริกันส่วนใหญ่นิยมไปลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์ที่มีมากถึง 76% โดยมีผู้ที่ต้องการเดินทางไปลงคะแนนเสียงในวันเลือกตั้งตามความต้องการของประธานาธิบดีทรัมป์เพียง 65%” สำหรับผลของคะแนนเสียงที่ผ่านมานั้นปรากฏว่า โจ ไบเดนได้รับคะแนนป๊อปปูลา 81,281,502 คะแนน ซึ่งได้รับมากกว่าประธานาธิบดีทรัมป์ถึงเจ็ดล้านกว่าคะแนน และเมื่อผลออกมาดังนั้นประธานาธิบดีทรัมป์จึงออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยต่อผลการเลือกตั้ง ยื่นฟ้องในหลายๆรัฐ แต่ผลปรากฏออกมาแบบพลิกล็อกมิได้เป็นดั่งที่ใจเขาหวัง เพราะเขาแพ้ในทุกๆคดีกว่าห้าสิบคดี อีกทั้งศาลสูงสุดสหรัฐฯยังปฏิเสธข้อฟ้องร้องด้วยมติ 9 ต่อ 0 ถึงสองครั้งสองคราด้วยกัน สำหรับเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นด่านนรกที่ประธานาธิบดีทรัมป์มิสามารถฝ่าไปได้ก็คือ บรรดาสื่อต่างๆได้ออกมาประกาศยอมรับผลของการนับคะแนนตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายนว่า โจ ไบเดนได้รับคะแนนอิเล็กโทรัล 306 และประธานาธิบดีทรัมป์ได้คะแนนอิเล็กโทรัล 232 คะแนน!!! ส่วนปราการด่านที่สองที่ประธานาธิบดีทรัมป์มิสามารถฝ่าฟันได้ก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมาไม่นานนี้คณะผู้เลือกตั้งได้มีการนับคะแนนทั่วประเทศ โดยยึดตามหลักปฏิบัติข้อรัฐธรรมนูญสหรัฐฯซึ่งผลปรากฏออกมาว่าผู้ที่ได้รับคะแนนอิเล็กโทรัล 306 และเป็นผู้ชนะก็คือ ว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยมีประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับคะแนนอิเล็กโทรัลตามหลังอยู่ที่ 232 เช่นเดิม จึงถือว่าเป็นการยืนยันผลของการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว โดยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมนี้ “รัฐมนตรียุติธรรมวิลเลียม บาร์” ก็ได้ออกมาแถลงว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้โปร่งใสไม่มีการโกง” ซึ่งขัดต่อถ้อยแถลงของประธานาธิบดีทรัมป์อย่างสิ้นเชิง มีผลทำให้เขาโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง เพราะที่ผ่านมารัฐมนตรียุติธรรมบาร์ผู้นี้จงรักภักดีชี้นกเป็นนกต่อประธานาธิบดีทรัมป์อย่างแข็งขัน แต่เกิดมาแข็งข้อ อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดรัฐมนตรียุติธรรมบาร์อดรนทนไม่ไหวยื่นใบลาออกเสียเองก่อนที่จะถูกปลด!!! เมื่อวันจันทร์ที่ 21 ธันวาคมก่อนหน้าที่รัฐมนตรียุติธรรมวิลเลียม บาร์จะพ้นออกจากตำแหน่งเพียงสองวัน เขาได้ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อนักข่าวโดยยืนยันว่า “จะไม่แต่งตั้งอัยการพิเศษ เพื่อจะให้เข้าไปตรวจสอบการเลือกตั้ง” นับว่าเขาได้หันหลังมิยินดียินร้ายกับประธานาธิบดีทรัมป์ต่อไปแล้ว อีกทั้งเขายังได้แถลงต่อไปอีกว่าเขาจะไม่แต่งตั้งอัยการพิเศษในการตรวจสอบ “ฮันเตอร์ ไบเดน” ลูกชายของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนตามคำเรียกร้องของประธานาธิบดีทรัมป์ ตามมาด้วย “วุฒิสมาชิกมิชท์ แมคคอนเนล”ที่เคยเป็นพันธมิตรคนสำคัญและคอยรับใช้ปกป้องประธานาธิบดีทรัมป์ในทุกๆเรื่องก็ได้ออกมาแถลงเสริมเพิ่มเติมในวุฒิสภาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2020 อย่างเป็นทางการว่า “ขณะนี้โจ ไบเดนได้รับเลือกอยู่ในตำแหน่งว่าที่ประธานาธิบดี และวุฒิสมาชิกคามาลา แฮร์ริสก็ได้รับเลือกในตำแหน่งว่าที่รองประธานาธิบดีด้วยเช่นกัน” เท่ากับว่าวุฒิสมาชิกแมคคอนเนล ซึ่งเป็นนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลที่สุดอีกคนหนึ่ง ก็หันหลังให้กับประธานาธิบดีทรัมป์ด้วยเช่นกัน ผู้นำของพรรครีพับลิกันหลายๆคนก็เริ่มทะยอยออกมายอมรับ รวมถึงผู้นำทั่วโลกที่รวมถึงบรรดาผู้นำของประเทศมหาอำนาจทุกๆประเทศต่างก็ส่งสาส์นไปแสดงความยินดีต่อว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนและว่าที่รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริสอีกเช่นกันด้วย กระนั้นก็ตามขณะนี้มีรายงานข่าวแพร่กระจายออกมาทางสื่อต่างๆแทบทุกฉบับ อาทิ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส ซีเอ็นเอ็น หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ที่ออกมารายงานว่า ประธานาธิบดีทรัมป์กับคณะที่ปรึกษาคบคิดเพื่อต้องการพลิกการเลือกตั้งให้จงได้โดยมีพลโทไมค์ ฟลินน์อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์เพิ่งอภัยโทษเมื่อเร็วๆนี้ เข้าไปร่วมด้วย ที่ได้ออกแนวความคิดให้ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศกฎอัยการศึก เพื่อล้มการเลือกตั้ง!!! โดยมีทนายความชื่อ “ซิดนีย์ พาวเวลล์” หนึ่งในทีมกฎหมายฟ้องร้องคดีตามรัฐต่างๆออกแนวความคิดสกปรกๆให้ประธานาธิบดีทรัมป์ออกคำสั่งยึดอุปกรณ์การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่เมื่อข่าวแพร่ออกไปแน่นอนว่า จะต้องเป็นข่าวใหญ่ให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ออกมาปฏิเสธข่าวในทุกกรณีผ่านทางทวิตเตอร์ว่า ล้วนแล้วแต่เป็นข่าวปลอม ส่วนด่านที่สาม ในวันที่ 6 มกราคม 2021 ซึ่งเป็นวันประชุมสภาคองเกรส ซึ่งวันนั้นคงจะเป็นโอกาสให้ “รองประธานาธิบดีไมค์ เพนส์” รับหน้าที่ประธานจำเป็นต้องประกาศอย่างเป็นทางการว่า “โจ ไบเดน และ คามาลา แฮร์ริส จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ” สำหรับด่านที่สี่ก็จะเป็นพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของ ว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และ ว่าที่รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส และเมื่อวันพุธ ที่ 23 ธันวาคมนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ทิ้งทวนอภัยโทษชุดใหญ่ดังเช่น พอล มานาฟอร์ตอดีตผู้จัดการทีมหาเสียงของเขา ชาร์ลส์ คุชเนอร์บิดาของจาเร็ด คุชเนอร์ลูกเขยประธานาธิบดีทรัมป์โดยรวมแล้วได้นิรโทษกรรมเต็มรูปแบบแก่บุคคลต่างๆถึง 26 คนที่สนิทและได้ช่วยเหลือเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 นอกจากนั้นประธานาธิบดีทรัมป์ยังขู่จะไม่ลงนามร่างกฎหมายเยียวยาโรคโควิด-19 ในวงงบประมาณเก้าแสนล้านเหรียญโดยเขาเรียกร้องให้สภาคองเกรสจ่ายค่าเยียวยาคนอเมริกันคนละ 2,000 เหรียญและให้ภรรยาอีก 2,000 เหรียญทั้งๆที่พรรคเดโมแครตเคยเสนอจำนวนดังกล่าว แต่ประธานาธิบดีทรัมป์อยู่เบื้องหลังให้นักการเมืองของพรรครีพับลิกันต่อต้านคัดค้านตั้งแต่เริ่มแรกซึ่งหมายความว่าผู้ที่รอเงินเยียวยาเพื่อประทังชีวิตอันแสนจะลำบากกว่าห้าเดือนต่างก็ผิดหวังกันอย่างทั่วหน้า และในที่สุดเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์เสร็จสิ้นการนิรโทษกรรมผู้ที่จงรักภักดีต่อตน เขาก็ได้เดินทางไปพักผ่อนที่รัฐฟลอริด้าโดยไม่แยแสต่อความเดือดร้อนของคนอเมริกันแม้แต่น้อย กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นเวลาที่ยังคงเหลือในการครอบครองอยู่ในตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์มีไม่ถึงหนึ่งเดือน และเนื่องจากเขามีอารมณ์ค่อนข้างแกว่งไม่นิ่ง จึงยากอย่างยิ่งที่จะคาดคะเนได้ว่าในหัวของเขาต้องการจะคิดวางแผนทำสิ่งใดเพื่อตนเองอีกละครับ