นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยกรณีการรายงานข่าว เกี่ยวกับมาตรการห้ามนำเข้าอาหารทะเลสดและแช่แข็งจากประเทศไทยของ สปป. ลาว ดังนี้ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ๒๕๖๓2563 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว ได้ออกประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากไทยเป็นการชั่วคราว เนื่องจากพบว่ามีการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ตลาดอาหารทะเล จ.สมุทรสาคร และเกรงว่าอาจมีการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในอาหารทะเล โดย น.ส. อุรวดี ศรีภิรมย์ อุปทูตฯ สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ และที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ ได้เข้าพบกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว เพื่อชี้แจงมาตรการของไทยในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในครั้งนี้ ทั้งนี้ ทางการ สปป.ลาว แสดงท่าทีมั่นใจในมาตรการควบคุมโรคของทางการไทย ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 คณะเฉพาะกิจ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาวได้ออกประกาศฉบับใหม่เพื่อบังคับใช้แทนฉบับเดิม โดยยุติการนำเข้าอาหารทะเล (สดและแช่แข็ง) ที่มาจากทุกประเทศที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ชั่วคราว โดยไม่ระบุเฉพาะเจาะจงประเทศไทย ทั้งนี้ การห้ามนำเข้าชั่วคราวดังกล่าวจะสามารถยกเลิกได้หาก สปป. ลาว และประเทศผู้ส่งออกเห็นชอบในมาตรการรับประกันความปลอดภัยของสินค้าอาหารทะเลจากเชื้อโควิด-19 ร่วมกัน เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 อุปทูตฯ และที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ ได้เข้าพบนายสมจิด อินทะมิด รองรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว เพื่อแจ้งความมุ่งมั่นและความพยายามของฝ่ายไทยในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 โดยรับรองว่าฝ่ายไทยมีมาตรการเข้มข้นในการสุ่มตรวจอาหารทะเล และการส่งออกอาหารทะเลต้องมีใบรับรองสุขอนามัย (Health Certification) จากกรมประมง ซึ่งเป็นการรับรองอีกชั้นหนึ่ง อุปทูตฯ แจ้งความมุ่งมั่นและความพร้อมของไทยที่จะหารือกับ สปป.ลาวต่อไปในการหาแนวทางร่วมกัน เพื่อให้สามารถส่งออกสินค้าอาหารทะเลของไทยไปยัง สปป.ลาวได้โดยเร็ว ด้านรองรัฐมนตรีสมจิดฯ มีท่าทีสนับสนุนการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของลาวผ่านระบบการประชุมทางไกล (Teleconference) ในเรื่องมาตรการการรับประกันว่าอาหารทะเลไทยมีความปลอดภัยจากโควิด-๑๙ ต่อไป กรมประมงของไทยได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจในการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ได้ประสานกรมอาหารและยา กรมควบคุมพยาธิติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข และกรมเลี้ยงสัตว์และประมง กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ ของ สปป.ลาว เพื่อชี้แจงรายละเอียดทางเทคนิค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ฝ่ายลาว เพื่อใช้เตรียมการในการประชุมหารือระหว่างสองประเทศต่อไป รัฐบาลไทยดำเนินการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเต็มที่ เชื่อมั่นว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ ในส่วนของสินค้าอาหารทะเล มีการตรวจสอบการปนเปื้อนซึ่งปัจจุบันยังไม่พบการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด นอกจากนี้ ไทยมีแหล่งส่งออกอาหารทะเลอีกหลายแห่งนอกเหนือไปจาก จ.สมุทรสาคร และทั่วโลกยังไม่มีการพบกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากอาหารทะเล กรณีการออกมาตรการห้ามนำเข้าอาหารทะเลสดและแช่แข็งที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่ออุปทานและอุปสงค์ของทั้งไทยและลาว จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันหามาตรการที่รัดกุมเพื่อแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน ส่วนกรณีที่ สปป.ลาวยกเลิกการกำหนดผู้ส่งออกไทยจำนวน 12 บริษัท สามารถส่งออกสุกรมีชีวิตไปยังลาวได้นั้น อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า เป็นการยกเลิกการกำหนดให้ผู้ส่งออกเฉพาะ 12 บริษัทเท่านั้นที่มีสิทธิส่งออกหมูมีชีวิต โดยฝ่ายลาวจะเปิดรับผู้ประกอบการทุกรายที่มีใบรับรองมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ที่ดี ที่ออกโดยกรมปศุสัตว์ และปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศไทย ลาว และประเทศที่สามที่เกี่ยวข้อง และจะมีการหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในรายละเอียดเกี่ยวกับการคัดเลือกและกำหนดผู้ส่งออกหมูต่อไป