ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต [email protected] “ชีวิตประกอบขึ้นจากความดิบเถื่อน และชีวิตที่มีพลังที่สุดก็คือชีวิตที่มีความเถื่อนดิบอยู่ในตัวโดยที่ยังไม่ยอมหมอบราบคาบแก้ว.. " “เมื่อใดที่อำนาจตกไปอยู่ในมือของประชาชนแล้ว เมื่อนั้นคนหมู่มากก็จะได้ทำการปกครองอย่างต่อเนื่องยาวนาน นั่นมิใช่เพราะว่าการเป็นฝ่ายข้างมากเป็นความชอบธรรม ทั้งมิใช่ดูยุติธรรมดีแล้วในสายตาของฝ่ายข้างน้อย... แต่เป็นเพราะเหตุว่าฝ่ายข้างมากนั้นมีกำลังเข้มแข็งที่สุด ทว่ารัฐบาลซึ่งปกครองโดยหมู่คนมากส่วนแล้ว เท่าที่เห็นมาก็ไม่อาจยึดมั่นอยู่ในบรรทัดฐานแห่งความยุติธรรมได้ จะมีรัฐบาลใดไหมที่คนหมู่มากมิได้กระทำการตัดสินถูกผิดชั่วดีลงไปอย่างเด็ดขาด แต่ปล่อยให้เป็นเรื่องของมโนธรรม จะมีรัฐบาลใดไหมที่เสียงข้างมากตัดสินแต่เพียงเรื่องที่เกี่ยวพันกับการอำนวยประโยชน์ ควรหรือที่ประชาชนพลเมืองจะยอมสละมโนธรรมของตนให้แก่ผู้ออกกฎหมาย... แม้แต่เพียงชั่วอึดใจหนึ่งหรือชั่วพริบตาหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นดังนั้นแล้ว มนุษย์จะมีมโนธรรมไว้เพื่อสิ่งใดกันเล่า” ทรรศนะแห่งความเป็นมนุษย์และมโนธรรมเบื้องต้น ถือเป็นภาพรวมในการประกาศเจตจำนงของ “เฮนรี่ เดวิด ธอโร” นักคิด นักเขียนคนสำคัญของอเมริกาในยุคสมัยใหม่ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1817 – 1862 อันเป็นช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงและขยายตัวครั้งใหญ่ในเชิงสังคมและการเมือง ทั้งด้วยสาเหตุภายในอเมริกาเองและผลกระทบอย่างรุนแรงจาก “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” ที่ก่อตัวขึ้นในยุโรปเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19... ว่ากันว่า แต่เดิมประชาธิปไตยสำหรับคนอเมริกันหมายถึงหลักการเสรีนิยมเป็นสำคัญ... โดยมุ่งที่จะจำกัดบทบาทของรัฐไม่ให้เข้ามาก้าวก่ายกับทรัพย์สินและการค้าขาย ประชาธิปไตยจึงมิได้หมายถึงการมีส่วนร่วมของพลเมืองทุกคน แต่จำกัดวงอยู่เฉพาะในหมู่ผู้มีทรัพย์สิน เหตุนี้การขยายตัวของอเมริกาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาเพียง 50 ปี จากค.ศ.1800 – 1850... จึงได้ก่อให้เกิดผลที่ตามมาหลายอย่างนั่นก็คือประชากรเพิ่มขึ้นอีก 4 เท่าตัว... เกิดการขยายใหญ่ทางเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น รถจักรไอน้ำ เรือกลไฟและโทรเลข... เป็นเหตุให้ดินแดนที่กว้างใหญ่กลับเล็กลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ การเติบโตทางเทคโนโลยีดังกล่าวส่งผลให้อเมริกาสามารถตักตวงทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ... ภาวการณ์ “ตื่นทอง” ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียกลายเป็นสัญลักษณ์ของภาวการณ์ที่ชี้ให้เห็นในภาพขยายว่า แท้จริงอเมริกากำลังตื่นไปทั้งทวีป ความฝันที่จะเห็นความรุ่งเรืองขยายตัวออกไปสุดขอบฟ้าที่มีมาแต่ครั้งก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19... กลายเป็นที่ประจักษ์ผ่านการก้าวขึ้นสู่การเติบใหญ่ของ พาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม การขยายตัวของอเมริกาในลักษณะดังกล่าว ผสานเข้ากับอิทธิพลของอุดมการณ์ด้านประชาธิปไตยที่เน้นความเสมอภาคตามแบบฉบับของการปฏิวัติฝรั่งเศส ทำให้ความเข้าใจที่มีต่อ “ประชาธิปไตย” ผิดแผกไปจากเดิม... อเมริกาในต้นศตวรรษที่ 19 กลายเป็นยุคของ “สามัญชน” ที่เริ่มเรียกร้องสิทธิ์และเสียงตลอดจนการมีส่วนร่วมโดยไม่มีข้อจำกัด... พลังของสามัญชนที่เน้นความเสมอภาคได้แผ่ขยายออกไปจนกลายเป็นอุดมการณ์ที่แตกแขนงออกไปในหลายลักษณะ... ความขัดแย้งระหว่างชนผิวขาวกับผิวดำจนนำไปสู่สงครามกลางเมืองและจบลงด้วยการประกาศเลิกทาสและแก้ไขรัฐธรรมนูญในปีค.ศ.1865 สามปีหลังจากที่ธอโรเสียชีวิตลง... รวมทั้งอคติที่คนผิวขาวมีต่อชนพื้นเมือง “อินเดียน” เจ้าของพื้นถิ่น กลายเป็นความขัดแย้งในเชิงผลประโยชน์ กระทั่งนำไปสู่การเผชิญหน้ากันอย่างแตกหักระหว่างโลกทัศน์สองแบบที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว... บริบทที่กล่าวนำมาทั้งหมดนี้คือสาระสำคัญที่ธอโรได้ประจักษ์และขบคิดผ่านการเรียนรู้ที่ประสบด้วยประสบการณ์จริง... เขาสนใจในทางธรรมชาติวิทยา ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการอ่านหนังสือและเดินทางเพื่อการแสวงหาแง่มุมของโลกและชีวิต... ผ่านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด... ได้พบและคุ้นเคยกับนักคิดนักปรัชญานิยมแห่งโลกสมัยใหม่ “ราล์ฟ วัลโด อีเมอร์สัน” จนกลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่สำคัญในเวลาต่อมา “ธอโร” ชอบเขียนบันทึกในสิ่งที่เขาได้ค้นพบจากการแสวงหาของชีวิต... เริ่มเขียนบันทึกครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1937 ขณะที่มีอายุได้ 20 ปี... เมื่อสิ้นชีวิตลงในอีกยี่สิบห้าปีต่อมา เขามีสมุดบันทึกจำนวน 39 เล่ม... เป็นความเรียงที่เต็มไปด้วยแง่มุมความคิดในเชิงวิพากษ์ต่างๆ... รวมทั้งบทกวีที่เต็มไปด้วยความหมายอันลึกซึ้งและงดงาม... เขาเริ่มเขียนบทวิพากษ์วิจารณ์ความฝันของลัทธิ “คลั่งเทคโนโลยี”... ปีค.ศ.1845 ช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิได้ลงมือสร้างกระท่อมในป่าบึง “วอลเดน” และได้ทดลองใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเองโดยดำรงชีวิตอยู่อย่างสมถะ เขาได้อยู่ที่นั่นเป็นเวลาสองปีและได้สร้างสรรค์งานนิพนธ์ “วอลเดน” อันลือลั่นขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1846... ในช่วงเวลานี้เขาถูกจับและถูกคุมขังในข้อหาที่ไม่ยอมเสียภาษี แต่เขาก็ต่อสู้อย่างจริงจังด้วยเหตุผลที่ว่า “รัฐได้นำเงินภาษีที่ได้จากประชาชนไปใช้ในการทำสงครามและไล่ล่าทาสผิวดำ”... จนมาถึงเดือนมกราคมปีค.ศ.1948 เขาก็ได้แสดงปาฐกถาเรื่อง “The relation of the individual to the State” ซึ่งต่อมาได้ถูกนำมาตีพิมพ์ภายใต้ชื่อเรื่องว่า “Resistance to Civil Government” (Civil Disobedience) “ต้านอำนาจรัฐ” อันถือเป็นข้อเขียนที่โด่งดังที่สุดของธอโร ซึ่งมีคนมากมายได้แสดงความชื่นชมว่าเทียบเท่ากับบทความเรื่อง “ว่าด้วยเสรีภาพ” (on Liberty) ของ “จอห์น สจ๊วต มิลล์” อันนับเป็นบทบรรยายชั้นครูที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชนกับรัฐ “ความเรียงสี่ชิ้น ของ เฮนรี่ เดวิด ธอโร” (Great short works of Henry David Thoreau) ถอดความเป็นภาษาไทยโดย “พจนา จันทรสันติ”... เป็นการถอดความที่แยบยลและเต็มไปด้วยมิติของความเข้าใจสาระเนื้อหาอันมีคุณค่านั้นๆได้อย่างลึกซึ้งและมีน้ำหนัก... นอกเหนือจาก “ต้านอำนาจรัฐ” ก็ยังคงมีความเรียงอีกสามชิ้นที่ถูกนำมาประกอบรวมกันได้อย่างสอดคล้องและสามารถปลุกจิตสำนึกให้ได้ตระหนักถึงทั้งภาวะชีวิตส่วนตัว ตลอดจนหลักการของการเรียนรู้สู่สังคมและธรรมชาติได้อย่างดีงามและมีแง่คิด... นับแต่ “ชีวิตที่ขาดหลักการ” (Life without Principle) “สีสันแห่งฤดูใบไม้ร่วง” (Autumnal Tints) และ “การเดิน” (Walking) ใน “ต้านอำนาจรัฐ” ธอโรได้เปิดฉากแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาว่า “ข้าพเจ้ายอมรับอย่างหมดหัวใจในคำกล่าวที่ว่า... รัฐบาลที่ดีที่สุดนั้นย่อมปกครองน้อยที่สุด... ทั้งข้าพเจ้ายังอยากเห็นสัจธรรมข้อนี้บรรลุถึงมรรคผลแห่งการนำไปปฏิบัติอย่างรวดเร็วและกว้างขวางอีกด้วย ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว สัจพจน์ข้อนี้ย่อมไปสิ้นสุดลงตรงที่ว่า... รัฐบาลที่ดีที่สุดนั้นย่อมไม่ปกครองเลย... ซึ่งข้าพเจ้าก็ยังคงเชื่ออย่างหมดหัวใจเช่นกัน” นี่เป็นทรรศนะทางการเมืองที่พุ่งตรงเข้าใส่เงื่อนไขของความจริงอย่างเข้มข้น กระตุ้นสำนึกและเร่งเร้าให้ผู้คนได้นำมาพินิจพิเคราะห์อย่างใคร่ครวญ เพื่อจะได้เตรียมตนให้พร้อมสู่วิถีของการอยู่ร่วมในสังคมโดยไม่ตกเป็นเหยื่อที่โง่งมของรัฐบาล “รัฐบาลนั้นอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก็เป็นเพียงแค่สิ่งอำนวยประโยชน์เท่านั้น ทว่าตามปกติแล้ว รัฐบาลส่วนใหญ่ก็ไม่มีประโยชน์อะไร และไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ บางครั้งก็ไร้ประโยชน์” ธอโรพิจารณาความไร้ประโยชน์ของรัฐบาลตรงส่วนนี้ด้วยมิติคิดที่พุ่งเป้าเข้าใส่ “เครื่องมือ” ที่เป็นฐานค้ำจุนของรัฐบาลที่คนในโลกส่วนใหญ่จะรู้จักกันดีในนามของ “กองทัพ”... ซึ่งแต่ละยุคแต่ละสมัยก็มีการต่อต้านคัดค้านกันอย่างมากมาย แต่เครื่องมือชิ้นนี้ก็ยังคงอยู่และแผ่ขยายฐานอำนาจของความเชื่อมั่นในการเป็นเครื่องมือในการ “ยึดพยุงหรือค้ำจุน” รัฐบาลอย่างไม่เปลี่ยนแปร ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานสักเท่าใดก็ตาม “ด้วยว่ากองทัพเป็นเพียงแขนขาของรัฐบาลเท่านั้น ที่จริงแล้วรัฐบาลนั้นเป็นเพียงเครื่องมือซึ่งรัฐบาลชนิดใดที่ตนจะมอบความเคารพนบนอบให้และนี่คงเป็นก้าวหนึ่งที่จะนำไปสู่การได้มาซึ่งรัฐบาลชนิดนั้น” สิ่งที่ธอโรได้กระทำถือเป็นพันธะหน้าที่ซึ่งเขาได้ระบุว่าเป็นหน้าที่เพียงหนึ่งเดียวที่ต้องปฏิบัติตามอันหมายถึง “การกระทำในสิ่งที่ถูกต้องในทุกกาลสถาน” นี่เป็นหนังสือเล่มสำคัญ ที่สามารถทำให้ผู้อ่านได้มีโอกาสที่จะขบคิดและมองเห็นหนทางอันรื่นรมย์ของชีวิตบนแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์และมีคุณค่าในหัวใจของทุกคนได้... ยิ่งอ่านก็ยิ่งจะค้นพบ... ยิ่งอ่านก็ยิ่งจะเห็นถึงคำตอบอันเป็นคุณ “ชีวิตประกอบขึ้นจากความดิบเถื่อน และชีวิตที่มีพลังที่สุดก็คือชีวิตที่มีความเถื่อนดิบอยู่ในตัวโดยที่ยังไม่ยอมหมอบราบคาบแก้ว การดำรงอยู่ของมนุษย์เช่นนี้ย่อมกระตุ้นให้มนุษย์รู้สึกถึงพลังความสดฉ่ำ... สำหรับผู้ที่รุดไปเบื้องหน้าไม่หยุดยั้ง กระทำการอย่างมานะอดทน ผู้ซึ่งเติบใหญ่อย่างรวดเร็วและเรียกร้องเอาจากชีวิตอย่างต่อเนื่อง คนเช่นนี้ย่อมจะบรรลุถึงดินแดนใหม่ๆ ซึ่งแวดล้อมอยู่ด้วยทรัพยากรของชีวิต” .....