รายงาน: องคมนตรี ลงพื้นที่ติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อจากตอนที่แล้ว พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เสร็จภารกิจช่วงเช้าแล้ว ในช่วงบ่าย เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำยางชุมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี รับฟังบรรยายสรุปภาพรวมการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ สรุปสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตลอดจนผลสัมฤทธิ์ของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำยางชุมฯ ซึ่งก่อสร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานพระราชดำริ ไว้เมื่อปี 2546 ให้พิจารณาเพิ่มปริมาณการเก็บกักของอ่างเก็บน้ำยางชุม เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่ากุยบุรี ตลอดจนส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินงานสนองพระราชดำริ นับเป็นโครงการเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริแห่งแรก ที่เป็นต้นแบบการเพิ่มการกักเก็บน้ำ จากเดิมมีความจุ 32.00 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 41.10 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกรวมทั้งอุปโภคบริโภคในพื้นที่ชลประทาน 20,300 ไร่ อีกทั้งช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในบริเวณลุ่มน้ำกุยบุรี และช่วยผลักดันน้ำเค็มในคลองกุยบุรีในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดแหล่งรายได้เสริมด้านการทำประมงน้ำจืดให้กับราษฎรในพื้นที่ และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้กับประชาชน ต่อมา เดินทางไปยังโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรับฟังบรรยายสรุปความเป็นมาและรายงานสรุปผลการดำเนินงานสนองพระราชดำริ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำริ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 สรุปความว่า “...ช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างให้เพียงพอ การปฏิบัติคือ ให้ไปสร้างอาหารในป่าเป็นแปลงเล็ก ๆ ... ” โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้สนองพระราชดำริ มาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2563 ได้ดำเนินการจัดหาและรวบรวมพืชอาหารช้าง (พันธุ์ไผ่ท้องถิ่น) จำนวน 30,000 กล้า ปรับปรุงแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่า ขนาด 1,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 3 แห่ง ปรับปรุงแหล่งอาหารสัตว์ป่า (โป่งเทียม) จำนวน 20 แห่ง พร้อมทดลองทำชุดรั้วรังผึ้งสาธิต พร้อมอุปกรณ์ติดตั้ง จำนวน 3 ชุด เพื่อช่วยเพิ่มแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และที่อยู่อาศัยของช้างป่าและสัตว์ป่าอื่นๆ ส่งผลให้ช้างป่าไม่ออกจากป่ามากินพืชผลการเกษตรของราษฎร ลดการกระทบกระทั่งระหว่างคนกับช้างป่า นอกจากนี้ราษฎรยังได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ก่อเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ช้างป่าและสัตว์ป่า ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ โอกาสนี้ องคมนตรีได้พบปะพูดคุยกับกลุ่มราษฎร (บ้านรวมไทย) ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ได้แก่ กลุ่มการท่องเที่ยวและโฮมสเตย์ กลุ่มกระดาษจากใบสับปะรดและมูลช้างป่ากุยบุรี พร้อมกันเยี่ยมชมกิจกรรมรั้วรังผึ้งเพื่อป้องกันช้างป่า ต่อจากนั้นเดินทางไปยังจุดชมสัตว์ป่าโป่งสลัดได ซึ่งอยู่ภายในพื้นที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีฯ พร้อมกับชมทัศนียภาพผืนป่าและสัตว์ป่าบริเวณพื้นที่โครงการด้วย