การประชุมปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นเป็นเวลา 5 วัน กำลังจะเริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่วันพุธนี้ ที่กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมา โดยการประชุมครั้งนี้เป็นผลของการผลักดันโดยรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศเมื่อเดือนเมษายน ด้วยความหวังที่จะยุติความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในเมียนมาที่ดำเนินมานานหลายศตวรรษ การประชุมในครั้งนี้จะมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1800 คน ประกอบไปด้วยตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธต่างๆ ตัวแทนพรรคการเมือง นักการทูตนานาชาติ ผู้สนับสนุนกระบวนการสันติภาพ และผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ หรือยูเน ได้ตอบรับที่จะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย ในกระบวนการสันติภาพที่ผลักดันโดยรัฐบาลชุดก่อน กลุ่มติดอาวุธที่ไม่ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมด้วย แต่กระบวนการสันติภาพของรัฐบาลที่นำโดยพรรคสันบิตชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดีในครั้งนี้ ได้กำหนดชัดเจนถึงความสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องเข้าร่วมข้อตกลงก่อน ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะไม่เห็นพันธมิตรจากฝ่ายเหนือไม่ว่าจะเป็นกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (ทีเอ็นแอลเอ) กองกำลังพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (เอ็มเอ็นดีเอเอ) รวมถึงกองกำลังอารกัน (เอเอ) ในการประชุมครั้งนี้ เช่นเดียวกับกองกำลังโกก้างที่ไม่ได้รับเชิญ การประชุมปางหลวงนี้ตั้งเป้าไว้ว่าจะสร้างเสถียรภาพความมั่นคงโดยการจัดตั้งสหพันธรัฐ และการมีรัฐธรรมนูญที่รับประกันสิทธิที่เท่าเทียมของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า จะยังคงไม่สามารถมีข้อสรุป หรือข้อตกลงอะไรที่สำคัญเกิดขึ้นได้จากการประชุมครั้งนี้ แต่จะเป็นเวทีที่ดีที่นางอองซาน ซูจี และกองทัพเมียนมาจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการเจรจาในอนาคต