ถึงเวลาที่ต้องลุ้นกับตัวเลขเศรษฐกิจส่งท้ายปีนี้ว่าจะมีตัวเลขที่ออกมาสวยหรู หรือร้องยี้ มากน้อยแค่ไหน เพราะตลอดทั้งปีที่ผ่านมา สถานะการณ์เศรษฐกิจทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ต้องยอมรับว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ โดยทุกประเทศทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้จำเป็นต้องปรับรูปแบบในการรับมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นจากขั้นวิกฤติให้ได้โดยเร็ว! ล่าสุด “นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เผยว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ อาทิ โครงการคนละครึ่ง เงินเติมบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช้อปดีมีคืน เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในยามยากลำบาก เพราะไม่ใช่เป็นการให้เงิน ประชาชนครึ่งหนึ่ง รัฐจ่ายครึ่งหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นเหตุผลว่าทำไมเศรษฐกิจประเทศไทยถึงไม่ติดลบเหมือนอย่างที่คนคาดคะเนกันไว้ว่า จีดีพีจะติดลบเยอะมาก หรือติดลบ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ มากกว่า เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยว 10 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี และการส่งออก 70 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี มิหน้ำซ้ำต้องล็อกดาวน์ประเทศอีก 3 เดือน “แต่วันนี้สภาพัฒน์แถลงตัวเลขจีดีพีติดลบ – 6 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้สำคัญมาก เพราะถ้าติดลบมากกว่า -10 เปอร์เซ็นต์ เราจะใช้เวลาในการฟื้นตัว 3 ปี หรือมากกว่า 3 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณอันตราย เพราะจะมีการว่างงานจำนวนมาก แต่ถ้าเราติดลบ -6 เปอร์เซ็นต์ หรือ ต่ำกว่าติดลบ – 6 ถ้าติดลบน้อย ๆ ปีหน้าเศรษฐกิจจะโต 3-4 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 12 เดือน 18 เดือน ประเทศไทยจะฟื้น ที่คิดว่า 2 ปี ผมคิดว่าจะเร็วกว่านั้น รวมทั้งเสถียรภาพทางการเงินของประเทศยังดีมาก ล้มแล้วไม่ได้เจ็บ ล้มแล้วยังแข็งแรงขึ้นมาได้ กระดูกยังดี” อย่างไรก็ตามพวกเราต้องช่วยกันประคับประคองให้ประเทศลุกขึ้นมา และปีหน้าเราจะเดิน เราจะวิ่ง แล้วเราจะดีกว่าเดิม นอกจากนี้ การเตรียมตัวที่จะลุกขึ้นยืนอย่างมีความพร้อม รัฐบาลคำนึงถึงความจำเป็นการได้รับวัคซีนเป็นความสำคัญอันดับแรก นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับปีหน้ายังมีความท้าทาย เพราะเศรษฐกิจไม่ฟื้นเร็ว กว่าวัคซีนจะใช้ได้ไตรมาสสอง หรือ ไตรมาสสามของปี 64 ต้องประคับประคองและช่วยกันต่อไป เพื่อเดินหน้าและเติบโตให้ได้ ตั้งเป้าไว้ 12 เดือน 18 เดือน จะต้องกลับมาเหมือนเดิม โดยจะปฏิบัติการเชิงรุก ให้กรุงเทพฯเป็นศูนย์สำนักงานภูมิภาคเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามา หรือเป็นศูนย์นวัตกรรมดิจิทัล ดึงดูดคนเก่งเข้ามาทำงานในประเทศไทยด้วยมาตรการที่ได้เตรียมไว้ อีกทั้ง รถไฟฟ้า 13 สายจะเกิดขึ้น สถานีรถไฟกลางบางซื่อจะเปลี่ยนเป็นสถานีรถไฟกลายขนาดใหญ่ มีสิ่งปลูกสร้างที่ทันสมัยเกิดขึ้น สถานีหัวลำโพงจะเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ เป็นห้องสมุดสำคัญ สำหรับ EEC โครงการต่าง ๆ เช่น ท่าเรือ สนามบิน จะเริ่มได้ในปีใหม่ เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น อุตสาหกรรมยา การแพทย์และสุขภาพ เช่นเดียวกับ “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แม้ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ที่ออกมาจะเป็นตัวเลขติดลบ แต่หากเทียบกับตัวเลขของไตรมาสก่อนหน้า ตัวเลขจีดีพีจะบวก 5% ซึ่งมาจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่กำลังซื้อที่มาจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใหญ่มากหายไปหมด แต่คาดว่าในปี 2564 จะมีต่างชาติเดินทางมาไทยประมาณ 8 ล้านคน และเมื่อวัคซีนออกมาจะทำให้ปี 2565 มีนักท่องเที่ยวมาไทยประมาณ 16 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 32 ล้านคนในปี 2566 ก่อนจะกลับมาเต็มศักยภาพที่ 40 ล้านคนในปี 2567 ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับประเทศต้นทางว่าจะมีการผ่อนคลายการเดินทางมากน้อยแค่ไหนด้วย ด้านภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แสดงความเห็นถึงตัวเลขโดยสรุปของเศรษฐกิจในปี 2563 และทิศทางเศรษฐกิจในปี 2564 ซึ่ง “นายกลินท์ สารสิน” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. กล่าวว่า เศรษฐกิจโลก และไทยในไตรมาสที่สี่ปี 2563 แผ่วลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่สาม ความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่เป็นบวกต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายการค้าของสหรัฐฯเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงโค้งสุดท้ายของไตรมาสที่สี่ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวมีสัญญาณแผ่วลง นอกจากนี้ การส่งออกของไทยยังได้รับผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวดขึ้นภายหลังจากการกลับมาระบาดที่รุนแรงขึ้นในหลายประเทศ ส่วนเศรษฐกิจไทยคาดว่าปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 แต่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ภาคการส่งออกของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น ในหลังจากมีการใช้วัคซีนในวงกว้างในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกยังน่าจะได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยจะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 10 ของ GDP ยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด รวมถึงตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง ทั้งนี้ภาครัฐยังต้องเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2564 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อของครัวเรือนที่มีความต่อเนื่องยังคงมีความจำเป็นในการประคับประคองเศรษฐกิจประเทศ นอกจากนี้ การลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญจะเป็นแรงสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมถึงยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยในระยะยาว ขณะที่มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมท่องเที่ยว สมาคมโรงแรมไทยได้มาเสนอในที่ประชุม กกร.ขอให้ภาครัฐพิจารณาข้อเสนอ 2 มาตรการ 1.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับกรณีหนี้คงเหลือเดิมปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นคงที่ 2% พร้อมทั้งพักการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 ปี และขอวงเงินสนับสนุนเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจไทย อนุมัติปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกินรายละ 60 ล้านบาท/โรงแรม ในอัตราดอกเบี้ย 2% ปลอดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 ปี เมื่อครบกำหนดแล้วให้แปลงเป็นสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำผ่อนชำระกับธนาคารพาณิชย์ หากลูกค้ามีหลักประกันไม่พอ ขอให้ บสย.หรือรัฐบาลเป็นผู้จัดตั้งกองทุนค้ำประกัน และไม่จำกัดสิทธิสำหรับโรงแรมขนาดใหญ่ที่มีวงเงินรวมเกิน 500 ล้านบาท และ2.มาตรการสนับสนุนเงินเดือนค่าจ้างร้อยละ 50 Co-payment เพื่อรักษาการจ้างงาน สนับสนุนให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจ้างพนักงานเดิมจำนวน 200,000 คน (จำนวนไม่เกิน 30% ของจำนวนพนักงานปัจจุบัน) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี ฟ้าหลังฝนย่อมมีแสงแดดสาดส่องให้ฟื้นตัว! เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยที่กำลังรอฟื้นตัว!