บันทึกประวัติศาสตร์คนชายขอบ 8 องค์กร ลงนามส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์ วราวุธ ย้ำแนวทางวิถีชุมชนคู่การอนุรักษ์และพัฒนา พร้อมหนุนแก้ปัญหาชาวเล ด้าน หมอโกมาตร ชี้เป็นเป็นความก้าวหน้า 10 ปี มติครม.ชาวเล หวังคลอด พรบ.ชาติพันธุ์ในปี 65 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 ที่บริเวณโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ได้มีการจัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 11 โดยมีผู้ร่วมงานราว 600-700 คน ซึ่งมีความทางหลากหลายชาติพันธุ์ ทั้ง ชาวเล ชาวมันนิ และชาวกะเหรี่ยง ทั้งนี้ภายในงานได้มีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายและภาพเขียนจากศิลปินในโครงการศิลปะชุมชน ขณะที่เครือข่ายชาวเลหลายพื้นที่ได้นำอาหารทะเลที่เป็นสินค้าประจำถิ่นมาวางขาย เวลา 08.30 น.นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและรับฟังปัญหาชาวเลในหมู่บ้านพร้อมรับหนังสือร้องเรียน ขณะที่ชาวเลได้จัดขบวนเรือประมงนับร้อยลำที่เดินติดป้ายเรียกร้องสิทธิทำกินและสิทธิในที่ดินมาต้อนรับ ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลได้กล่าวรายงานในพิธีเปิดว่า เกาะหลีเป๊ะเป็นพื้นที่มีประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปักปันเขตแดน ซึ่งการจัดงานครั้งนี้เป็นช่วงที่รัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยจังหวัดสตูลมีความหลากหลายชาติพันธุ์มีทรัพยากรธรรมชาติสวยงาม มีอุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง และในงานครั้งนี้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง ตัวแทนชุมชน ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) และกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ร่วมกันผลักดันกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งประเทศไทยกลุ่มชาติพันธุ์ถึง 6 ล้านคน นางแสงโสม หาญทะเล ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ กล่าวรายงานชาวเลว่า การจัดงานครั้งนี้มีความสำคัญต่ออนาคตของพวกเรา พวกเราเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมอาศัยในอันดามันกว่า 300 ปี หาอยู่หากินพึ่งพิงธรรมชาติ แต่วันนี้เมื่อมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวและประกาศเขตอนุรักษ์ของรัฐบาล ทำให้วิถีชีวิตของพวกเราเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ปัญหาของชาวเลคือ 1.ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย 25 ชุมชน 2.สุสานชาวเลถูกรุกราน 23 แห่ง 3.ถูกฟ้องขับไล่โดยธุรกิจเอกชนที่ออกเอกสารสิทธิมิชอบทับที่ดินของชาวเล 4. ปัญหาที่ทำกินที่เราเคยมีแหล่ง 27 แหล่ง แต่เหลือไม่กี่แห่ง 5.บริเวณหน้าหาดและที่จอดเรือถูกบีบและกดดันไม่ให้จอดเรือ 6.ด้านการศึกษาที่ทำให้วัฒนธรรมลชาวเลสูญหาย 7. ยังมีชาวเลมีปัญหาสัญชาติกว่า 400 คนซึ่งตกสำรวจทำให้เกิดปัญหาไม่ได้เรียนหนังสือ “ผ่านมา 10 ปีมีบางส่วนที่ปัญหาได้รับการแก้ไข แต่ยังมีอีกมากมายที่ยังไม่สามารถแก้ได้เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ไม่สามารถแก้ด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือมติครม. จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อแก้ปัญหาและลดควาเหลื่อมล้ำของสังคม นอกจากนี้ยังต้องร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อสร้างพื้นที่นำร่องเพื่อให้เห็นว่าพวกเราที่เผชิญปัญหามีความพร้อมพัฒนาชุมชนให้ก้าวไกล”นางแสงโสม กล่าว นายวราวุธ กล่าวว่า ทุกคนต่างอยู่บนผืนแผ่นดินไทย การที่รัฐบาลจะดำเนินการอะไรนั้น การพัฒนาต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ตอนนี้เรายืนบนผืนดินอันศักดิ์สิทธิของชาวเลซึ่งทุกคนหวงแหน วิธีหวงแหนแผ่นดินเริ่มต้นง่ายๆ เริ่มจากการเก็บขยะ นโยบายของ ทส. ไม่ใช่ไล่คนออกจากพื้นที่ แต่ทำอย่างไรจะดูแล ต้องทำให้ทุกกลุ่มเดินหน้าต่อไปได้ ไม่มีใครหวงแหนเกาะหลีเป๊ะมากกว่าชาวเลเพราะอยู่บนเกาะหลีเป๊ะมาก่อน คนที่จะช่วยงาน ทส. และข้างราชการที่ดีที่สุดคือชาวเลหลีเป๊ะ “ทุกปัญหารัฐบาลรับทราบและพยายามแก้ไข แต่ถ้าแก้ไขง่ายปัญหาคงอยู่มาไม่ถึงป้จจุบัน แต่เราไม่ได้นิ่งนอนใจ ปัญหาทั้งหมดตั้งถูกนำมากางบนโต๊ะ ขอให้กำลังใจทุกคน ปัญหามากมาย ปัญหาความขัดแย้ง ต้องได้รับการแก้ไข”นายวราวุธ กล่าว หลังจากนั้นนายวราวุธได้เป็นสักขีพยานในการร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ “ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์” โดยผู้ร่วมลงนามประกอบด้วยรองปลัดกระทรวงทส. ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) ผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ผู้แทนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนมูลนิธิชุมชนไท ผู้แทนมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ผู้แทนเครือข่ายชาวเลและผู้แทนเครือข่ายกะเหรี่ยง นายวราวุธ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า กรณีชาวเลและกลุ่มชาติพันธุ์เป็นปัญหาที่มีมายาวนานมากกว่า 10 ปี และมีความหลากหลาย เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ดังนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาฝ่ายเดียวได้ แต่ ทส. จะเป็นกลไกสำคัญช่วยให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์สามารถอาศัย และมีวิถีชีวิตในดินแดนถิ่นเกิดอย่างยั่งยืน เพื่ออนุรักษ์พรัยากรธรรมชาติไว้ให้คนไทยทุกคน วันนี้จึงเป็นการมาให้กำลังใจและรับทราบแนวทางออกร่วมกันกับทุกฝ่าย ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลมีความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหา โดยการลงนามเอ็มโอยูครั้งนี้จะเป็นสัญญาณให้เร่งแก้ปัญหานี้โดยเร็ว โดยฝากผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่ประสานงานกับทุกหน่วยงาน “ตั้งแต่ตนเข้ามาเป็นรัฐมนตรีได้ให้นโยบายไว้ชัดเจนว่า หัวใจสำคัญคือการทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาเดือนร้อน จะอนุรักษ์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำควบคู่ไปพร้อมการพัฒนา ทำอย่างไรให้การดำเนินชีวิตของชาวบ้านไม่เป็นการทำลายทรัพยากร จึงต้องพิจารณาจากบริบทในปัจจุบันให้สอดคล้อง ควรมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม เช่น ประเพณีการลอยกระทงที่ปัจจุบันประชากรมี 70 ล้าน คน การลอยกระทงก็อาจทำลายแม่น้ำ หรือการหาหอยตามชายหาดให้เขตอุทยานฯ ชาวบ้านก็ต้องปรับเปลี่ยนวิถีให้เหมาะสม ไม่เช่นนั้นจะไม่เหลือหอยไปถึงลูกหลายในอนาคต” นายวราวุธ กล่าว ด้านนายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ให้สัมภาษณ์ การลงนามในบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญในวาระครบรอบ 10 ปี มติ ครม. 2 มิถุนายน 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ที่จะเป็นกลไกสำคตัญขับเคลื่อนให้ ชุมชน ภาคธุกิจ และหน่วยงานยทุกฝ่ายได้มาหารือร่วมกัน เพื่อนำไปสู่ข้อตกลงและกำหนดระเบียบหรือเกิดข้อกฏหมายเพื่อจัดการปัญหา โดยเฉพาะ ร่าง พรบ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เครือข่ายได้ร่วมกันผลักดัน เพื่อให้มีการแก้ปัญหาในเชิงนโยบายและเกิดรูปธรรม ให้มีการกำหนดเขตวัฒนธรรมพิเศษที่ชาวบ้านสามารถดำรงวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยไม่ขัดต่อกฏหมาย ซึ่งปัจจุบันมี 12 ชุมชน กำหนดเขตวัฒนธรรมพิเศษนำร่อง ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าชาวบ้านสามารถดำรงชีวิตควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ได้อย่างเข้มแข็ง โดยคาดว่า ร่าง พรบ.ฉบับนี้จะประกาศใช้ได้ภายในปี 2565 “การพิสูจน์สิทธิพื้นที่ดั้งเดิมของชุมชน สามารถดูได้จากหลักฐานการอยู่มาก่อนอุทยานหรือการออกโฉนด การขุดกระดูกบรรพบุรุษ หรือต้นไม้ที่ปู่ย่าปลูกไว้ รวมทั้งหลักฐานอื่นๆ ข้อมูลเหล่านี้ยังไม่เคยนำมาหาข้อสรุปหรือเจรจาร่วมกัน ปัญหาไหนทำได้ก่อนก็ควรดำเนินการไปก่อน กระบวนการหลักจากนี้จะต้องหาชุมชนต้นแบบมีความเข้มแข็ง อย่างเช่น กรณีหลีเป๊ะ ที่ชาวบ้านรู้จักคุณค่าสามารถดูแลทรัพยากรการท่องเที่ยวโดยไม่ทำลาย เพื่อกำหนดเขตวัฒนธรรมพิเศษต้นแบบนำร่อง”นายแพทย์โกมาตร กล่าว