วันที่ 27 พ.ย. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึง กรณีที่ทางการไทยปล่อยตัวนักโทษชายชาวอิหร่าน 3 คนที่ถูกจำคุกจากแผนวางระเบิดในกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ.2555 ซึ่งมีผลหลังจากที่ประเทศอิหร่านปล่อยตัว ไคลี มัวร์-กิลเบิร์ต นักวิชาการชาวออสเตรเลียเชื้อสายอังกฤษ ว่า เป็นการถ่ายโอนนักโทษไม่ใช่การแลกตัว เพื่อกลับไปรับโทษต่อในประเทศอิหร่าน นักโทษทั้งหมดมี 3 คน 2 ใน 3 คน เป็นข้อตกลงของตัวนักโทษไทยกับอิหร่าน ส่วนอีก 1 คนได้รับโทษครบแล้ว จึงต้องปล่อยตัวไป โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำว่า การโอนตัวนักโทษ กับการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน แตกต่างกัน เนื่องจากความตกลงในตัวนักโทษระหว่างไทยกับประเทศนั้น ๆ ตัวนักโทษต้องขอแสดงคำร้องไปยังประเทศของตัวเอง ซึ่งมีขั้นตอนในการพิจารณา ทั้งการส่งคำร้องรอการอนุมัติในประเทศนั้น ๆ ประเทศนั้นต้องพิจารณารับตัวนำกลับประเทศด้วย การโอนตัวนักโทษจึงเกิดขึ้นได้ ส่วนการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเป็นข้อตกลงทวิภาคีกับประเทศที่ไทยมีข้อตกลงกับประเทศที่จะส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน และจะต้องมีข้อหาความผิดที่ตรงกันทั้ง 2 ประเทศ และไม่เป็นคดีเกี่ยวข้องกับการเมือง ส่วนไทยได้อะไรจากการโอนตัวนักโทษกลับไปในครั้งนี้ นายธานี กล่าวว่า ประโยชน์ที่นักโทษจะได้รับส่วนใหญ่เป็นเหตุผลทางมนุษยธรรม ซึ่งใช้เวลาในการพิจารณาพอสมควร ส่วนประเทศไทยได้ขอโอนตัวนักโทษของไทยในอิหร่านเพื่อกลับมาประเทศไทยบ้างหรือไม่ นายธานี กล่าวว่า ไม่แน่ใจ