เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ที่บริเวณโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ อ.เมือง จ.สตูล ชาวเลเกาะหลีเป๊ะพร้อมเครือข่ายได้ร่วมกันเตรียมงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 11 กันอย่างคึกคักซึ่งงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 พฤศจิกายน โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)จะเดินทางมาเป็นพยานการลงนามระหว่างกระทรวงทส.และกระทรวงวัฒนธรรมในการจัดตั้งเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวเลและกะเหรี่ยง โดยพื้นที่เกาะหลีเป๊ะเป็นโครงการนำร่องแห่งหนึ่งของเขตคุ้มครองวัฒนธรรมชาวเล นางปรีดา คงแป้น ที่ปรึกษามูลนิธิชุมชนไท กล่าวตอนหนึ่งระหว่างบรรยายสรุปให้สื่อมวลชนจากส่วนกลางที่ร่วมกันลงพื้นที่ว่า ในการจัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 11 ถือเป็นวาระสำคัญที่ครบ 10 ปีมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เกี่ยวกับการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ซึ่งหลายฝ่ายต่างร่วมกัน ทั้งนี้ประเทศไทยมี 56 กลุ่มชาติพันธุ์ แต่มตินี้คุ้มครอง 2 ชาติพันธุ์ เราจึงต้องยกระดับเป็นกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เพราะปัญหากลุ่มชาติพันธุ์เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง หลายเรื่องที่แก้ไม่ได้เพราะเป็นเรื่องใหญ่ เช่น ที่ดิน การยกระดับเป็นกฎหมายซึ่งอยู่ระหว่างการยกร่างจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยกฎหมายฉบับนี้เป็น 1 ใน 11 ฉบับที่รัฐบาลต้องทำเร่งด่วน ให้เสร็จภายในปี 2564 นางปรีดากล่าวว่า ชาวเลได้รับผลกระทบจากนโยบายการท่องเที่ยวรวมทั้งการประกาศเขตอนุรักษ์ของรัฐ เพราะตอนประกาศเขตไม่ได้มีการกันพื้นที่ของชาวเลออก ตอนนี้สุสานชาวเล 23 แห่งมีโอกาสถูกเบียดขับ ขณะที่พื้นที่จอดเรือหน้าหาดเป็นปัญหาของชาวเลใน 46 ชุมชุน 5 จังหวัดอันดามัน ทั้งหมดเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง “ในพื้นที่หลีเป๊ะคุกรุ่นมาก ตอนนี้ชาวเลหลังชนฝาแล้ว เพราะปัญหาของเขาไม่มีทางออก พวกเขามีเรือ 300 ลำ รัฐบาลบควรรีบเร่งแก้ปัญหา ถ้าเขาเกิดใช้วิธีการเอาเรือปิดเกาะก็ทำให้วุ่นวายได้ แต่มีโอกาสเกิดความรุนแรงถ้าไม่รีบแก้ไข เมื่อตอนที่อุทยานฯย้ายชาวบ้านออกจากเกาะอาดังด้วยวิถีการเอาปืนจี้หัว และไม่ได้กันกันพื้นที่ให้ชาวเลออกทั้ง 2 หมู่บ้าน ตอนนี้กลายเป็นพื้นที่ของอุทยานฯ หากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯไม่ทำให้เรียบร้อยก็กลายเป็นปัญหาคาราคาซังอยู่อย่างนี้”นางปรีดากล่าว นางแสงโสม หาญทะเล ชาวเลหลีเป๊ะกล่าวว่า ตั้งแต่เล็กๆที่นี่เป็นสวรรค์ของชาวเล แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นนรกเพราะไปทางไหนที่ดินก็ถูกจับจองหมด แต่ชาวเลไม่อยากมีปัญหากับใครแม้พวกเรายากจน เรามีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์สามารถหากินได้ ทั้งนี้กลุ่มคนที่เข้ามาอาศัยได้หลอกและกอบโกยเอาที่ดินไปโดยใช้ความเป็นมิตร เช่น ให้ชาวเลเอาข้าวสารไปกินก่อนแล้วเป็นหนี้ จนสุดท้ายก็ยึดเอาที่ดินไป เราพยายามเรียกร้องไปยังรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร นางแสงโสมกล่าวว่า ปัญหาที่พบขณะนี้คือ ปัญหากลุ่มอาชีพประมง โดยเมื่อก่อนเราหากินที่ไหนก็ได้แต่พอประกาศเขตอุทยานฯและพื้นที่ท่องเที่ยวซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่ทำมาหากิน ทำให้ชาวประมงต้องถอยห่างลงไปในน้ำลึกขึ้นและเป็นโรคน้ำหนีบเพิ่มขึ้นทุกปี ชาวประมงบางส่วนพลิกผันชีวิตแปลงเรือประมงเป็นเรือรับจ้างนำเที่ยว แต่ตอนหลังมีกลุ่มนายทุนจากภายนอกที่มีรีสอร์ทจ้างมาขับเรือกลายเป็นแย่งอาชีพชาวเล ขณะที่เรือหางยาวที่เคยรับนักท่องเที่ยวจากโป๊ะที่เรือโดยสารนำมาส่ง ซึ่งเป็นวิถีอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง แต่ปัจจุบันกลายเป็นเศษปะการังเพราะให้เรือโดยสารเข้ามาถึงฝั่ง และชุมชนกว่า 1,000 ชีวิตขาดรายได้ “ชาวเลกลายเป็นแค่คนขนของและคนแบกของ มันไม่ใช่ตัวตนของเรา เหมือนทาสรับใช้ มันไม่มีศักดิศรี สู้เราขับเรือยังเป็นความภูมิใจมากกว่า บางบริษัทไม่ยอมแม้แต่ให้เราแบกของ เราถูกกดทับมาก”นางแสงโสมกล่าว นางแสงโสมกล่าวว่า ปัญหาที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องที่ดินซึ่งมีการฟ้องร้องคดีอยู่หลายกรณี นอกจากนี้ยังมีปัญหากรณีการจัดการขยะ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวมาก ทำให้ปริมาณขยะเยอะ เมื่อก่อนขยะฝังกลางเกาะ แต่ต่อมาขนออกไปข้างนอกโดยให้เอกชนสัมปทาน แต่การขนผ่านชุมชนใกล้โรงเรียนเพื่อไปจัดการบนบกทำให้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ชาวบ้านบางคนที่อยู่ใกล้ๆแหล่งขนขยะมีอาการป่วย ถ้าเป็นไปได้อยากให้รัฐมนตรีรีบแก้ไข นางแสงโสมกล่าวว่า ยังมีปัญหาชายหาดและพื้นที่จอดเรือถูกรีสอร์ทจับจองพื้นที่หน้าหาด ตั้งโต๊ะ เต้นท์ ทำให้จุดจุดเรือของชาวเลถูกเบียดขับให้ออก และยังมีปัญหาเรื่องน้ำจืด เพราะสมัยก่อนชาวเลมีบ่อน้ำตื้นเอาไว้ใช้ แต่รีสอร์ทใช้ไม่ได้ก็เลยเจาะบ่อบาดาล ทำให้เป็นปัญหากับบ่อน้ำตื้นเพราะน้ำจากห้องน้ำหรือน้ำสกปรกไหลลงบ่อน้ำตื้นจนใช้ไม่ได้ ในที่สุดชาวบ้านต้องไปขนน้ำจากเกาะอาดัง “เดิมเราใช้น้ำดื่มที่ไหลมาจากรากไม้บริเวณหัวแหลม แต่ปัจจุบันไม่สามารถดื่มได้เพราะด้านบนบริเวณดังกล่าวกลายเป็นรีสอร์ท เราจึงต้องไปเอาน้ำดื่มจากเกาะอาดัง แต่อุทยานฯก็จำกัดพื้นที่ให้เราใช้ บางพื้นที่ก็ปิดกั้นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว”นางแสงโสม กล่าว นายพงษ์ธร แก้วผนึก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ(รพ.สต.)เกาะหลีเป๊ะ กล่าวว่าปัญหาสุขภาพชาวบ้านคือการเดินทางขึ้นไปรักษาตัวบนฝั่งเป็นไปอย่างลำบากเพราะรพ.สต.สามารถช่วยเหลือสภาวะฉุกเฉินได้ระดับหนึ่ง สามารถตรวจเบื้องต้นและแก้ไขเฉพาะหน้าได้ แต่ต้องส่งขึ้นไปตรวจละเอียดบนฝั่ง แต่ปัญหาเรื่องการเดินทางและค่ากินอยู่ เมื่อก่อนชาวบ้านจ่ายค่าเรือเอง ตอนนี้ไปเรือฟรี แต่ยังต้องจ่ายค่ารถ ส่วนโรคน้ำหนีบยังพบอยู่โดยส่งไปที่โรงพยาบาลวชิรภูเก็ต ทั้งนี้ชาวบ้านบนเกาะหลีเป๊ะได้นำผู้สื่อข่าวลงสำรวจพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ 143 ไร่ซึ่งอยู่ในการครอบครองของเอกชนรายหนึ่ง โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นปัญหากับชาวเลเนื่องจากเอกชนรายดังกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในบริเวณซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเล ขณะเดียวกันทางอุทยานฯได้เข้ามาตรวจสอบและพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์เกินความเป็นจริงจึงทำเรื่องให้กรมที่ดินเพิกถอน แต่เรื่องยังติดอยู่ที่กรมที่ดิน นอกจากนี้บริเวณดังกล่าวยังมีการถมที่ดินทับคลองสาธารณะทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณกลางเกาะซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวเล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการจัดงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลในวันพรุ่งนี้(28 พฤศจิกายน) นอกจากนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)จะเดินทางมาลงพื้นที่และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีบันทึกความร่วมมือ “ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์”แล้ว ทางเครือข่ายชาวเลยังได้จัดขบวนเรือ 100 ลำเพื่อร่วมพิธีและจะมีการเรียกร้องให้ “คืนสิทธิที่ดิน คืนถิ่นหาปลา”ให้กับชาวบ้าน