จับมือเอ็มโอยู โครงการแผนน้ำประปาปลอดภัย ย้ำความมั่นใจคุณภาพน้ำประปาสะอาดปลอดภัย เมื่อวันที่ 27 พ.ย.63 นายกวี อารีกุล ผู้ว่าการ กปน. พร้อมด้วย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) โครงการแผนน้ำประปาปลอดภัย (Water Safety Plan) เพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นคุณภาพน้ำประปาปลอดภัย โดยร่วมมือกันทางวิชาการ บูรณาการสร้างความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการน้ำประปาในเขตนครหลวง ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในการจัดการคุณภาพน้ำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พัฒนาหลักเกณฑ์ มาตรฐานทางวิชาการ และบุคลากรทีมตรวจประเมินกลาง ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลคุณภาพน้ำประปา เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงน้ำประปาที่สะอาดปลอดภัยตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลกอย่างทั่วถึงและเพียงพอ นายกวี กล่าวว่า กปน. มีการควบคุมคุณภาพน้ำทุกขั้นตอน ตั้งแต่แหล่งน้ำดิบ โรงงานผลิตน้ำ จนถึงบ้านเรือน เพื่อสุขอนามัยของประชาชนกว่า 12 ล้านคน ในกทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ และมีการตรวจคุณภาพน้ำโดยนักวิทยาศาสตร์ กปน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จนกระทั่งปี 2554 เป็นต้นมา กปน. ได้นำแผนน้ำประปาปลอดภัย (Water Safety Plan) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) มาจัดกระบวนการดำเนินการที่ผ่านมาให้เป็นระบบที่เหมาะสมมากขึ้น ให้ความสำคัญตั้งแต่การดูแลรักษาแหล่งต้นน้ำ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนต้นน้ำ เมื่อน้ำดิบเข้ามาสู่กระบวนการผลิต จะต้องมีการปิดจุดเสี่ยงรอบด้าน เพื่อคงคุณภาพของน้ำอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อผลิตเป็นน้ำประปา จะต้องมีการดูแลรักษาต่อเนื่องทั้งระบบสูบส่งและสูบจ่าย จนกระทั่งไปถึงบ้านเรือนประชาชน จำเป็นต้องปรับปรุงระบบท่อ และการซ่อมท่อ ให้ได้มาตรฐาน ไร้การปนเปื้อนใดๆ ในน้ำประปา เพื่อคงคุณภาพน้ำประปาปลายทาง ให้ได้มาตรฐานเดียวกับน้ำประปาที่ออกจากโรงงานผลิตน้ำทุกแห่ง นำมาซึ่งความมั่นใจในการอุปโภคบริโภคน้ำประปาของประชาชนทุกคน ด้าน นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า กรมอนามัยได้ร่วมกับ กปน. ในการพัฒนาคุณภาพน้ำประปาที่สะอาด ปลอดภัย มาอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกันทางวิชาการ การปฏิบัติการในพื้นที่ รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน ส่งผลให้สามารถควบคุมคุณภาพน้ำประปาได้ ซึ่งจากการสุ่มเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคในครัวเรือน ตั้งแต่ปี 2560-2563 พบว่า น้ำประปาของ กปน. มีคุณภาพผ่านเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ของกรมอนามัยเฉลี่ยร้อยละ 88.07 โดยปีล่าสุดพบว่า มีคุณภาพผ่านเกณฑ์ฯ ร้อยละ 100 จึงมีคุณภาพที่เหมาะสมสำหรับนำมาบริโภคในครัวเรือน