ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนต.ค.63 ขยายตัวร้อยละ 0.45 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สอดคล้องกันกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติ สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับระดับในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่ช่วยเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้แนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดย สศอ.ประมาณการเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมปี 64 คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.0-5.0 ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวม(GDP) ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.0-5.0 นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ต.ค.63 อยู่ที่ระดับ 95.72 ลดลง -0.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือน ก.ย.63 ที่หดตัว -2.15% ส่งผลให้ช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.63) ลดลง -10.33% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือน ต.ค.63 อยู่ที่ 63.2% ลดลงเล็กน้อยจาก 63.46% ในเดือน ก.ย.63 ส่งผลให้ช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.63) อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 60.44% ทั้งนี้ MPI เดือน ต.ค.63 ขยายตัว 0.45% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สอดคล้องกันกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติ สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับระดับในช่วงก่อนหน้าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่ช่วยเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้แนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลต่อดัชนีฯในเดือน ต.ค.63 มาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของการกลั่นปิโตรเลียม เพิ่มขึ้น 8.45%,ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 6.07% และการแปรรูปผัก ผลไม้ เพิ่มขึ้น 19.98% ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ปรับตัวลดลง -3.32%, เครื่องแต่งกาย ลดลง -17.21% และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็นหรือแช่แข็ง ลดลง -14.14% ส่วนปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตในเดือน พ.ย.63 ได้แก่ 1.มาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการช้อปดีมีคืน 2.ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยในเดือน ต.ค.63 ขยายตัว 12.42% ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัว 12.2% และ 3.การนำเข้าสินค้าวัถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือน ต.ค.63 หดตัวลดลงเหลือเลขหลักเดียว สะท้อนถึงสัญญาณที่ดีต่อการผลิตในระยะต่อไป ดังนั้น สศอ.คาดว่า MPI จะพลิกกลับเป็นบวกในเดือน พ.ย.63 ราว 0-2% และในเดือน ธ.ค.63 จะเป็นบวกราว 2-4% ทั้งนี้ สศอ.คาดการณ์ว่า MPI ในปี 63 จะหดตัว -8.0% และผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ภาคอุตสาหกรรมจะหดตัว -7.0% ภายใต้สมมุติฐานอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30-35 บาท/ดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 35-45 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่ MPI ในปี 64 คาดว่าจะขยายตัว 4.0-5.0% และ GDP ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัว 4-5% ภายใต้สมมุติฐานอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 29-32 บาท/ดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 40-50 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยในเดือน ต.ค.63 ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับระดับในช่วงก่อนหน้าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคและบริโภค เช่น อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) หลายตัวยังคงขยายตัวดี เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมยารักษาโรคที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน สำหรับการควบคุมการระบาดที่ดีและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศทยอยกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในประเทศจากมาตรการของภาครัฐที่กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งส่งผลในแง่บวกสะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญอย่างอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันที่ขยายตัว 8.45% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่การผลิตกลับมาเพิ่มขึ้น โดยดัชนีผลผลิตหดตัว 2.24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) หดตัว 1.63% ซึ่งมีแนวโน้มการหดตัวลดลงจากที่เคยหดตัวถึง 22.44% ในเดือน พ.ค.63 สะท้อนให้เห็นถึงการผลิตที่เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับสภาวะปกติในปีก่อน ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนตุลาคมหดตัวลดลงที่ 0.54% โดยคาดว่าการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย.63 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น และส่งผลให้เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งในปี 64 ขณะที่อุตสาหกรรมหลักที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคเป็นหลัก อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) ขยายตัว 1.10% อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัว 4.50% และอุตสาหกรรมถุงมือยางขยายตัว 30.28% ส่วนอุตสาหกรรมหลักๆที่เริ่มฟื้นกลับมาโดยขยายตัวอีกครั้ง เช่น อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ขยายตัว 9.20% ตามการปรับฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องเช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระป๋องโลหะ โดยอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดี ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัว 8.45% เนื่องจากโรงกลั่นและบริษัทบางแห่งหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ในปีก่อน แต่ปีนี้มีการซ่อมบำรุงเพียงบางแห่งและเริ่มกลับมาผลิตตามปกติแล้ว สำหรับชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัว 6.07% เนื่องจากความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยมีการเร่งผลิตและส่งมอบสินค้าหลังสถานการณ์ในต่างประเทศมีความไม่แน่นอนจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แปรรูปและถนอมผลไม้และผัก ขยายตัว 19.98% จากผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋อง เป็นหลัก เนื่องจากปีนี้มีการปลูกสับปะรดในหลายพื้นที่และเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าปีก่อน รวมถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัว 9.19% จากผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กลวด ท่อเหล็ก เหล็กเคลือบโครเมี่ยม และเหล็กเคลือบดีบุกเป็นหลัก เนื่องจากความต้องการที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยมและดีบุกที่เติบโตตามการบริโภคอาหารกระป๋อง ในขณะที่ปีก่อนความต้องการหดตัวตามสภาพเศรษฐกิจและผลกระทบจากเหล็กนำเข้าราคาถูก ทำให้ผู้ผลิตบางรายหยุดผลิต นอกจากนี้เครื่องใช้ในครัวเรือน ขยายตัว 21.54% จากผลิตภัณฑ์ตู้เย็นและเครื่องซักผ้า โดยตู้เย็นมีความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับได้มีผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตมาจากประเทศจีนตั้งแต่เดือน มิ.ย.63 ในขณะที่เครื่องซักผ้าได้มีการทำโปรโมชั่นกระตุ้นตลาดและคำสั่งซื้อเพิ่มจากมาเลเซียและญี่ปุ่น