รมว.แรงงาน เปิดเวทีประชุมชี้แจงการจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์และการตรวจสอบข้อมูลการใช้บริการทางการแพทย์ให้กับ รพ.ประกันสังคมทั้งภาครัฐบาลและเอกชน เมื่อวันที่ 27 พ.ย.63 ที่ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน กรุงเทพฯ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เป็นประธานเปิดงาน “โครงการประชุมชี้แจงการจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์และการตรวจสอบข้อมูลการใช้บริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลประกันสังคมทั้งภาครัฐบาลและเอกชน” โดยมีนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารสถานพยาบาลให้การต้อนรับ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้ไปสู่เป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้กับผู้ประกันตนมีสุขภาพที่ดี โดยใช้หลักการ “ป้องกัน ดีกว่าแก้ไข” รวมถึงการปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับบริการที่ดีมีมาตรฐาน เพื่อให้แรงงานได้มีหลักประกันที่ดี เหมาะสมในการดำรงชีวิต เพราะหากผู้ประกันตนมีสุขภาวะที่ดี ย่อมเกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้กระทรวงแรงงาน มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการจัดการและพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ของสำนักงานประกันสังคม เพื่อดูแลด้านการรักษาของผู้ประกันตน ให้ได้รับการบริการที่ดี มีคุณภาพ โดยมุ่งหวังที่จะให้บริการทางการแพทย์มีระบบการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ (Governance Excellence) ซึ่งประกอบไปด้วยระบบข้อมูลด้านสารสนเทศด้านสุขภาพ ความมั่งคง ด้านยาและเวชภัณฑ์ และการคุ้มครองผู้บริโภค สำหรับการจัดงาน “โครงการประชุมชี้แจงการจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์และการตรวจสอบข้อมูลการใช้บริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลประกันสังคมทั้งภาครัฐบาล และเอกชน” ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงให้สถานพยาบาลในระบบประกันสังคม ภาครัฐ จำนวน 164 แห่ง และภาคเอกชน จำนวน 81 แห่ง พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกันซักซ้อมทำความเข้าใจแนวทางการตรวจสอบข้อมูลการใช้บริการทางการแพทย์ (Medical Audit) มาดำเนินการให้สอดคล้องกับการเบิกจ่ายอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างความมั่นใจในการให้บริการทางการแพทย์อย่างมีคุณภาพ ถูกต้องและเป็นไปตามความจำเป็นทางด้านการแพทย์ที่ผู้ประกันตนต้องได้รับ อีกทั้งคุ้มค่ามีประสิทธิภาพเหมาะสมต่อการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีการชี้แจงให้สถานพยาบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ทราบ และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน นำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะกรณีการจัดส่งข้อมูลเวชระเบียบเพื่อใช้ในการตรวจสอบ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นในการพิจารณาจ่ายค่าบริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน