เมื่อเวลา 13.30น. วันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ที่ จ.อุบลราชธานี นางสาวพรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า พร้อมด้วย เชษฐา ไชยสัตย์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุบลราชธานี ในนามคณะก้าวหน้า เบอร์ 1 ซึ่งก่อนเดินทางไปยังอ.เขื่องใน นางสาวพรรณิการ์ ได้ร่วมพูดคุยกับคณะทำงานและผู้สนับสนุนคณะก้าวหน้า ถึงทิศทางการทำงาน และภาพรวมของการหาเสียงของทีมคณะทำงานจังหวัดอุบลราชธานี นางสาวพรรณิการ์ กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์นี้แกนนำคณะก้าวหน้า โดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ,ปิยบุตร แสงกนกกุล รวมถึงตน ได้เดินทางมาณรงค์หาเสียง ให้กับทีมผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สังกัดคณะก้าวหน้าในพื้นที่ภาคอีสาน โดยแกนนำแต่ละคนจะเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆของภาคอีสานตลอดสัปดาห์นี้ ซึ่งตนเริ่มที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ของภาคอีสาน ซึ่งนั่นหมายถึงว่าการลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์กับพี่น้องประชาชน ต้องอาศัยความมุ่งมั่น และความขยันขันแข็งของทีมจังหวัด ซึ่งตนขอเป็นกำลังใจให้กับทีมผู้สมัครและทีมทำงานทุกคน แม้ในบางครั้งเราลงพื้นที่อาจมีอุปสรรคติดขัดบ้าง เจอการกลั่นแกล้งบ้าง นั่นหมายถึงว่าเราเป็นที่จับตาในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้ ขอให้ทุกคนอดทนฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ และร่วมเปลี่ยนแปลงอุบลราชธานีไปด้วยกัน จากนั้นนางสาวพรรณิการ์ พร้อมนายเชษฐาได้เดินทางไปยัง ตลาดเขื่องใน เพื่อประชาสัมพันธ์ ให้กับพ่อค้าแม่ค้า และประชาชนที่กำลังจ่ายตลาด ว่าวันที่ 20ธันวาคมนี้จะมีการเลือกตั้งนายกอบจ. ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีมีงบประมาณของอบจ. ถึง1,700ล้านต่อปี ขอโอกาสให้ทีมทำงานของคณะก้าวหน้าเข้ามาจัดสรรทรัพยากรพัฒนาจ.อุบลราชธานี ให้เต็มศักยภาพ ซึ่งตลอดการเดินตลาดมีประชาชนเข้าทักทายและให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก จากนั้นทีมผู้สมัครได้พานางสาวพรรณิการ์ ไปยัง ศูนย์อนุรักษ์หัตถกรรมหล่องทองเหลืองบ้านปะอาว ต.ปะอาว เพื่อชมกรรมวิธีหล่อแบบโบราณแบบสูญขี้ผึ้ง หรือขี้ผึ้งหาย โดยมีนายทองคำ ประทุมมาศ ช่างประจำศูนย์เป็นผู้สาธิต นายเชษฐาระบุว่า ศูนย์อนุรักษ์หัตถกรรมหล่อทองเหลืองบ้านปะอาวแห่งนี้มีนักท่องเที่ยว นักศึกษาให้ความสนใจพอสมควร แต่ยังขาดการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามา ซึ่งบ้านปะอาว อยู่ในเขตอำเภอเมืองแต่ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งตนมองว่า ศูนย์อนุรักษ์แหล่งนี้มีศักยภาพที่พัฒนาเป็น พิพิธภัณฑ์แหล่งการเรียนรู้ สามารถจัดกิจกรรมเวิร์คช็อปให้กลุ่มผู้สนใจ นักเรียน นักศึกษาเข้ามาร่วมทำกิจกรรมกับคนในชุมชนได้ ซึ่งการหล่อทองเหลืองนี้เป็นวิธีแบบโบราณที่มีกว่า 18ขั้นตอน ปัจจุบันช่างฝีมือก็มีไม่มากนัก หากเราทำให้คนรุ่นใหม่เข้าทำความรู้จักภูมิปัญญา เข้ามาสานต่อก็น่าจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีของคนอุบลราชธานีในอนาคต