วันนี้ ( 26 พ.ย. 2563 ) ผู้สื่อข่าวลงพื้นทีแหล่งชุมชนไทลื้อบ้านธาตุสบแวน ต.หย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา เพื่อเยี่ยมชมบ้านไทลื้อของแม่แสงดา สมฤทธิ์ อายุ 90 ปี ซึ่งถือว่ายังคงรักษาเอกลักษณ์ของเรือนหรือเฮือนในภาษาเหนือ และ เฮิน “ ในภาษาไทลื้อไว้อย่างเหนียวแน่น และยังมีการเก็บเครื่องมือ เครื่องใช้และวัตถุที่สร้างจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ศึกษาและถือได้ว่าเฮินไตแม่แสงดา เป็นบ้านหลังสุดที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของเรือนไทลื้อไว้ได้สมบูรณ์เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แม่แสงดา เปิดเผยว่า “ เฮินไตลื้อ “ หลังนี้สร้างขึ้นเมื่อตอนแม่แสงดา อายุ 17 ปี ถ้านับถึงตอนนี้มีอายุประมาณ 73 ปี เป็นบ้านที่สร้างตามแบบบ้านไตลื้อโบราณ กล่าวคือมี เป็นเรือนไม้ยกใต้ถุนสูง ใช้งานใต้ถุนเรือน ทางขั้นบันใดมีหลังคาคลุม ทั้งที่หลังคาผืนใหญ่คลุมและที่ต่อชายคายื่นยาวคลุม มีบริเวณที่เรียกว่า หัวค่อมหรือค่อม เหมือนเติ๋นในเรือนล้านนา แต่นิยมทำม้านั่งยาวโดยรอบแทนการทำราวกันตก ภายในเรือนเป็นโถง แบ่งพื้นที่ซ้ายขวาเป็นส่วนเอนกประสงค์และส่วนนอน ซึ่งอาจแบ่งสองส่วนนี้ด้วยฝาไม้หรือเพียงผ้าม่าน ใช้แม่เตาไฟเป็นกระบะไม้ดาดดินเหนียวใช้ตั้งเตาไฟ เป็นต้น แม่แสงดา กล่าวต่อไปว่า ในการที่จะอนุรักษ์ เฮือนไทลื้อ หลังนี้ มีค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังต้องซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของไม้ ตั้งแต่หลังคาจนถึงเสาเรือน รอบๆบ้านยังมีการปลูกฝ้าย นำมาทำเป็นเส้นด้ายไว้ทอผ้า เพียงตนเองที่จำหน่ายผ้าทอและของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวและยังมีตู้รับบริจาค ก็ยังไม่พอกับค่าที่ตนดูแลรักษาบ้านหลังนี้เลย หลายๆคนบอกกับตนเองว่า ให้เก็บค่าเข้าชม คนละ 20-30 บาท แต่ตนเองไม่อยากจะทำเพราะว่าการมาเยี่ยมชมบ้านไทลื้อของตนเองนั้นให้เหมือนกับมาเที่ยวหาญาติพี่น้องของตนเอง ถ้าเราไปเก็บเงินกับลูกกับหลานที่มาเที่ยวบ้าน แม่แสงดาบอกว่ารู้สึกไม่สบายใจไม่อยากจะทำ เพียงแค่ขอให้หน่วยงานไหนก็ได้มาช่วยสนับสนุนค่าดูแลบำรุงรักษาแบบถาวร ถ้าเกิดตนเองจากไปแล้วบ้านหลังนี้จะได้มีกำลังที่จะรักษาตัวบ้านเองได้จากงบสนับสนุนเหล่านั้น เพราะว่าเฮือนไตลื้อแม่แสงดา เป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมที่ควรรักษาไว้ บางหน่วยงานที่เข้ามาทำการวิจัยศึกษาและเห็นว่าคู่ควร แก่การอนุรักษ์ไว้ น่าจะมีงบประมาณส่งเสริมสนับสนุนให้ยั่งยืน เพื่อให้นักเรียนรุ่นหลังๆได้มีที่เรียนรู้สืบไป ปัจจุบันแม่แสงดา ได้อนุรักษ์บ้านหลังนี้ให้คงสภาพเดิม แต่มีการซ่อมแซมในหลายๆส่วน ซึ่งเสียหายผุกร่อนตามกาลเวลา เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ศิลปะบ้านโบราณแบบไทลื้อ(สิบสองปันนา) ที่นี่ยังมีชุดเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายของชาวไทลื้อ ที่คุณแม่แสงดาทอขึ้นมาด้วยมือของท่านเอง ที่บริเวณใต้ถุนบ้าน ให้คนมาเยี่ยมได้ชมและอุดหนุนการทอผ้าไทลื้ออีกด้วย ทั้งยังมีข้าวของเครื่อใช้โบราณ เช่น บุงโตงข้าว(กระบุงตวงข้าว) ขันใส่หมาก เตาไฟดินเหนียว ตาชั่งแบบคานลูกตุ้ม สุดดำ(มุ้งสีดำ) ติ๊บข้าวไปวัด(ตะกร้าใส่ข้าวไปทำบุญ ) และโบราณชิ้นเล็กชิ้นน้อยอีกมากมาย