ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “ไม่รู้ว่าใครเป็นคนบัญญัติศัพท์ ซากไวรัส ก็อาจจะแปลว่า สิ่งที่ตายไปแล้วเหลือแต่ซาก ไวรัสไม่มีกระดูก ไม่มีเนื้อ มีแต่ส่วนโครงสร้างห่อหุ้ม ที่เป็นชั้นไขมันโครงสร้างของโปรตีน ภายในมี RNA เมื่อตายแล้วก็คงจะไม่มีซากให้เห็น ในผู้ที่ติดเชื้อและหายจากโรคแล้ว บางรายเคยตรวจไม่พบด้วยซ้ำ บางรายหายมาหลายอาทิตย์แล้วยังตรวจพบ RNA ของไวรัสอยู่ การตรวจในปัจจุบันมีความไวสูงมาก และเป็นการตรวจหาชิ้นส่วน RNA ของไวรัส ไม่ได้บอกว่าไวรัสนั้นยังมีชีวิตแบ่งตัวได้ หรือมีความสามารถในการติดต่อไปสู่ผู้อื่น เพราะจะติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้จะต้องไปแบ่งตัวในเซลล์ของผู้รับได้ ในการตรวจว่าไวรัสนั้นยังคงความสามารถแบ่งตัวได้หรือติดเชื้อได้ สามารถเอาไวรัสนั้นไปเพาะเชื้อและถ้าเพิ่มจำนวนได้ก็แสดงว่าไวรัสนั้นยังมีชีวิตอยู่ การตรวจอีกวิธีหนึ่งที่ไม่ยุ่งยากกว่าการเพาะเชื้อ เพราะต้องใช้ห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยสูง สามารถทำได้ในการตรวจหา RNA ในจีโนมของไวรัส (Subgenomic RNA) ที่เป็นส่วนในการแบ่งตัวของไวรัส ถ้าพบชิ้นส่วนนี้ก็บ่งบอกว่าไวรัสนั้นยังคง Active มีความสามารถเพิ่มจำนวนได้ ในทางห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่ไม่ได้ทำการตรวจกัน ขณะนี้ที่ศูนย์ไวรัสที่ทำอยู่กำลังพัฒนาการตรวจหา Subgenomic RNA เพื่อจะบ่งบอกว่าไวรัสนั้นยังคงเพิ่มจำนวนได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่หายแล้วยังตรวจพบอยู่ ด้วยห้องปฏิบัติการธรรมดา จะได้ยืนยันว่าไวรัสนั้นยังติดต่อได้หรือไม่”