เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 26 พ.ย.63 นายวิสูจน์ ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการสัมมนาการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง ครังที่ 6 โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม ภาคประชาชน รวม 500 คน จากจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และยโสธร เข้าร่วมการสัมมนา ที่โรงแรมสีมา ธานี จังหวัดนครราชสีมา จ่าสิบตรี พงษ์สถิตย์ อรอินทร์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดยโสธรที่เดินทางเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้เปิดเผยว่า การสัมมนาดังกล่าว เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในสาระสำคัญและขั้นตอนการจัดทำร่างธรรมนูญว่าด้วยการผังเมืองและการวางผังเมืองได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนเกี่ยวกับร่างธรรมนูญและหน่วยงานภาครัฐรับทราบอำนาจ หน้าที่และภารกิจที่ต้องดำเนินการตามร่างธรรมนูญว่าด้วยการผังเมืองโดยในการสัมมนา มีการเสวนาเรื่องระบบการผังเมืองของประเทศไทย พรบ.การผังเมือง พ.ศ.2562 หลักการวางผังเมืองในระดับต่างๆ สาระสำคัญของร่างธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง แนวทางการจัดทำร่างธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง กระบวนการมีส่วนร่วมประกอบการจัดทำร่างธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง และการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นเรื่องการจัดทำร่างธรรมนูญว่าด้วยการผังเมืองและกระบวนการมีส่วนร่วมประกอบการจัดทำร่างธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง ทั้งนี้ ธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง ในหลักการเชิงนโยบาย ประกอบด้วยรัฐต้องบรรจุการผังเมืองในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล แผนการบริหารราชการ ใช้เป็นกรอบในการพัฒนาประเทศและหน่วยงานภาครัฐ จัดทำแผนงาน โครงการให้สอดคล้องกับผังเมือง สนับสนุนส่งเสริมให้ดำเนินโครงการเป็นไปตามผังเมืองและพัฒนาองค์ความรู้ด้านผังเมืองทั้งในและนอกสถานศึกษา จ่าสิบตรีพงษ์สถิตย์ ยังกล่าวอีกว่าสำหรับหลักการพื้นฐานของธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง ประกอบด้วย การทำผังเมืองต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน การป้องกันอุบัติภัยและความสงบเรียบร้อย ความเสมอภาคและเท่าเทียมในการเข้าถึงสาธารณประโยชน์ ยึดตามหลักวิชาการทางผังเมือง แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน สร้างความเชื่อมโยงในการเดินทางของประชาชน มีความเหมาะสมกับการตั้งถิ่นฐานและสภาพแวดล้อม คำนึงถึงการบริหารจัดการน้ำ การบริหารพื้นที่เพื่อสาธารณะประโยชน์ พื้นที่สีเขียว มีแนวทางการพัฒนาสู่เมืองอัจริยะและเมืองแห่งอนาคตและวางผังกลุ่มอาคารสิ่ง ก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ส่วนหลักการเชิงพื้นที่ ต้องกำหนดเขตสงวน เขตอนุรักษ์ เขตพัฒนาให้เหมาะสมกับพื้นที่ คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมที่มีความสมบูรณ์ กำหนดเขตเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมโดยไม่กระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ แร่ธาตุ ภูเขา น้ำตก แหล่งท่องเที่ยว โบราณสถาน ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชุมชน