กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “The Way Forward: ก้าวต่อไปขององค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในประเทศไทย” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่องค์กรจัดเก็บและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ตาม “หลักปฏิบัติที่ดีในการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง” ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้จัดทำขึ้น และหวังใช้เป็นแนวทางและข้อแนะนำในการดำเนินงานขององค์กรจัดเก็บให้พัฒนาไปสู่การบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่ดี มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติในระดับสากล โดยมีผู้แทนบริษัทจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ เจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้ใช้งานลิขสิทธิ์ และสมาคมที่เกี่ยวข้องกว่า 80 คน เข้าร่วมสัมมนา นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีบริษัทที่แจ้งจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ต่อคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) จำนวนทั้งสิ้น 39 ราย โดยมีเพลงไทยจำนวน 262,420 เพลง และเพลงสากลจำนวน 9,608,553 เพลง อย่างไรก็ดีเนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลการบริหารจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เอาไว้ ทำให้การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงในประเทศไทยมีแนวทางที่แตกต่างกัน โดยเจ้าของลิขสิทธิ์แต่ละรายสามารถกำหนดอัตราค่าลิขสิทธิ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเอง ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกัน ส่งผลต่อการขออนุญาตใช้สิทธิจากการนำงานเพลงไปใช้ของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม หรือสถานบันเทิง ในลักษณะต่างๆ มาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องดังกล่าวและมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการหาแนวทางเพื่อให้การบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้จัดทำ “หลักปฏิบัติที่ดีในการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง” ขึ้น โดยได้นำแนวทางของประเทศออสเตรเลีย สิงคโปร์ สหภาพยุโรป และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) มาเป็นต้นแบบ “หลักปฏิบัติที่ดีในการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงนี้จะเป็นแนวทางเบื้องต้นในการพัฒนาระบบการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในประเทศไทย โดยจะช่วยให้การบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส และเป็นธรรม อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ของประเทศ ตลอดจนได้รับการยอมรับจากเจ้าของสิทธิ ผู้ใช้งาน และสาธารณชนโดยรวม และส่งผลให้อุตสาหกรรมเพลงของไทยเติบโตได้อย่างมั่นคงต่อไป”