กรมชลฯ วางแผนแก้น้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เดินหน้าโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก เมื่อวันที่ 25 พ.ย. นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้า ครั้งที่ 1 งานสำรวจ ออกแบบโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท - ป่าสัก จังหวัดชัยนาท (เพิ่มเติม) โดยมี นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมและให้ข้อเสนอแนะต่อบริษัทที่ปรึกษาเพื่อนำไปเป็นข้อมูลและออกแบบต่อไป ณ ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 10 อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาประสบปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะเมื่อปี 2554 เห็นได้ชัดว่าปริมาณน้ำหลากมากกว่าศักยภาพการระบายน้ำที่มีอยู่ ซึ่งปริมาณน้ำส่วนใหญ่ในแม่น้ำเจ้าพระยาจะไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไปยังด้านท้ายน้ำ ความสามารถในการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยารวมกับการระบายผ่านคลองชลประทานฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกบริเวณเหนือเขื่อนสามารถระบายน้ำได้รวมประมาณ 3,425 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่ในปี 2554 ที่ผ่านมา บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำประมาณ 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้น้ำล้นตลิ่ง เกิดความเสียหายตามพื้นที่ต่างๆ มีมูลค่าสูงถึง 1.42 ล้านล้านบาท และยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาคธุรกิจ ฉะนั้นในปี 2555 จึงมีโครงการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่จะสามารถระบายน้ำให้ไหลลงทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาในปี 2560 กรมชลประทานได้จัดทำแผนบรรเทาอุทกภัยทั้งหมด 9 แผนงาน โดยมีมติเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ซึ่งโครงการคลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก เป็นแผนงานลำดับที่ 2 จาก 1 ใน 9 แผนงาน ซึ่งจะช่วยระบายน้ำหลากหน้าเขื่อนเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทยจากเดิมเป็น 930 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สามารถช่วยบรรเทาปริมาณน้ำหลากพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ แผนงานลำดับที่ 2 คือ แผนงานคลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ประกอบไปด้วย โครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท–ป่าสัก จังหวัดชัยนาท และ โครงการคลองระบายน้ำหลากป่าสัก–อ่าวไทย ซึ่งในปี 2562 ได้ดำเนินการสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก ในระยะที่ 1 เสร็จสิ้นแล้ว จากประตูระบายน้ำมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ถึงประตูระบายน้ำช่องแค จังหวัดนครสวรรค์ รวมระยะทาง 46.5 กิโลเมตร โดยจะเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำหลากหน้าเขื่อนเจ้าพระยาจากเดิม 130 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ให้เป็น 930 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที การออกแบบประกอบไปด้วย 1.คลองส่งน้ำอนุศาสนนันท์ พร้อมอาคารประกอบ มีอาคารบังคับน้ำกลางคลอง 1 แห่ง (ประตูระบายน้ำโคกกะเทียม) และอาคารระบายน้ำปลายคลอง 1 แห่ง (ประตูระบายน้ำเริงราง) 2.คลองระบายชัยนาท-ป่าสัก พร้อมอาคารประกอบ มีอาคารบังคับน้ำกลางคลอง 3 แห่ง และอาคารระบายน้ำปลายคลอง 1 แห่ง ในปี 2563 นี้ โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินงานต่อในระยะที่ 2 แล้ว กรมชลประทานได้ว่าจ้างกิจการร่วมค้า FWTG JV ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ฟรอนเทียร์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ส จำกัด บริษัท วิศวชาญ 2002 จำกัด และบริษัท ธูว์ บราเดอร์ พาทเนอร์ จำกัด ให้สำรวจออกแบบโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสักจังหวัดชัยนาท (เพิ่มเติม) ผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด เริ่มตั้งแต่ประตูระบายน้ำช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ผ่านจังหวัดลพบุรี จนถึงแม่น้ำป่าสักที่ตำบลเริงราง อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี รวมระยะทางประมาณ 88 กิโลเมตร "ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานของโครงการมีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 540 วัน นับจากวันเริ่มปฏิบัติงาน โดยเซ็นสัญญาแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เริ่มปฏิบัติงาน 21 พฤษภาคม 2563 และสิ้นสุดการปฏิบัติงาน 11 พฤศจิกายน 2564 แบ่งเป็น 2 งานหลักคือ งานสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการ และงานประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน เบื้องต้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมปฐมนิเทศโครงการในจังหวัดลพบุรี เพื่อฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เข้าร่วมกว่า 151 คนแล้ว"นายเฉลิมเกียรติ กล่าว