นอกจากโควิด-19 ที่ประชาคมโลกยังคงต้องเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอย่างเข้มแข็งแล้ว ในวงการหมูทั่วโลกก็ยังคงต้องเกาะติดกับโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ในสุกร ที่แพร่ระบาดสร้างความเสียหายให้อุตสาหกรรมหมูในหลายประเทศมาตั้งแต่ปี 2451 ปัจจุบันมีการระบาดในกว่า 34 ประเทศทั่วโลก และยังคงพบรายงานการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องและเป็นวงกว้าง สำหรับละแวกเพื่อนบ้านเรา พบการระบาดทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ขณะที่ประเทศไทยยังคงสถานะประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียที่ “ปลอดจากโรคนี้” แต่ด้วยความเสี่ยงที่ ASF อาจเล็ดลอดเข้ามาไทยได้ โดยเฉพาะตามแนวชายแดนที่มีช่องทางติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน “การ์ดที่ตั้งไว้สูงอยู่แล้ว ยิ่งต้องยกให้สูงขึ้นไปอีก” เพื่อให้สามารถป้องโรคนี้ให้ได้อย่างเด็ดขาด เกิดเป็นความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคผู้ผลิต รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงทั้งประเทศ จำนวน 192,889 ราย ในการเฝ้าติดตามสถานการณ์ของโรคอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งร่วมกันวางแผนเตรียมความพร้อม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคนี้ได้อย่างเข้มแข็ง ดังที่ฟันฝ่าทุกปัจจัยเสียงทำให้หมูไทยกว่า 12.99 ล้านตัว ปลอดภัยจากโรคนี้ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ที่น่ายินดีกว่านั้นคือ ในการประชุมคณะกรรมการป้องกันควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ที่มี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นประธาน โดยที่ประชุมมีมติให้ “ยกระดับมาตรการขั้นสูงสุด” เพื่อสะกัดกั้นไม่ให้โรค ASF เข้าสู่ประเทศไทยได้อย่างเด็ดขาด เริ่มจากการเสนออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เร่งด่วน เพื่อป้องกันโรค ASF อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบเสนอของบประมาณจำนวน 1,111.557 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการป้องกันโรค อาทิ เข้มงวดการตรวจสอบนักท่องเที่ยวห้ามนำผลิตภัณฑ์จากสุกรเข้ามาในประเทศไทย การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคแก่สาธารณชน เน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกสร้างความตระหนักและการรับรู้ที่ถูกต้องทันสถานการณ์ ควบคู่กับการตรวจสอบและเฝ้าระวังข่าว การรับแจ้งโรค และการยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity system) พร้อมขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ลูกจ้างเหมาบริการ ตามโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ (Tambon Smart Team) ในการบันทึกข้อมูลและประสานงานด้านการเกษตรในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค และยังแต่งตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อติดตาม ประเมินสถานการณ์ และกำหนดมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคที่เหมาะสม โดยที่ประชุมอนุมัติในหลักการและให้กรมปศุสัตว์ ศึกษาโครงสร้างและขอบข่ายหน้าที่ภารกิจให้ชัดเจน และนำเสนอที่ประชุมครั้งหน้า การยกระดับมาตรการดำเนินการอย่างเข้มงวด ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินงานงบประมาณและบุคลากร ผ่านการร่วมมือกันบูรณาการดำเนินงานทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุดนี้ เป็นภาพสะท้อนและช่วยตอกย้ำความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในวงการหมูทั้งหมด ที่เข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์ ตราบใดที่ทุกคนยังคงมุ่งมั่นในการสร้างค่ายกลป้องกันโรคที่แน่นหนา และร่วมกันสร้างป้อมปราการที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เชื่อว่าจะปกป้องไม่ให้โรคนี้เข้ามาทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูของไทย ที่มีมูลค่าสูงถึงกว่า 2 แสนล้านบาท ได้อย่างแน่นอน โดย : ผศ.น.สพ.คัมภีร์ กอธีระกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสุกรในอาเซียนและจีน