ปัจจุบัน “วงการฟุตบอล” ทั่วโลก ต่างได้รับผลกระทบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “โควิค-19” เนื่องจากการห้ามแฟนบอลเข้ามาเชียร์ทีมรักในสนามแข่ง ไม่ว่าจะเป็นลีกเล็ก-ลีกใหญ่ ต่างต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมหาศาล เพราะไม่มีรายได้จากการขายตั๋วเข้าชมการแข่งขัน เนิ่นนานเกือบ 1 ปี ที่การแข่งขันฟุตบอลในลีกทวีปยุโรป ต้องเตะกันแบบไร้คนดูในสนาม ไม่ใช่แค่รายได้ของสโมสรอย่างเดียว แต่เป็นบรรดาแฟนบอลของแต่ละทีมก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะการเข้าชมการแข่งขันของทีมรัก ที่ได้สัมผัสกับบรรยากาศการเชียร์บอล และประเพณีในสนามแข่ง ที่เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นนั้นขาดหายไป โดยเฉพาะใน “พรีเมียร์ลีก” ประเทศอังกฤษ ที่มีแฟนบอลทั่วโลกให้ความสนใจมากที่สุด ขณะนี้ไร้ซึ่งมนต์ขลังของกองเชียร์ ที่ขึ้นชื่อว่าสุดยอดที่สุดในโลก เพราะเชียร์สนุก อีกทั้งยังสามารถกระตุ้นนักเตะของทีมตัวเองให้สร้างปาฏิหาริย์ ได้หลายครั้ง ในยามที่ได้เล่นในถิ่นตัวเอง หรือแม้แต่เกมที่ต้องออกไปเยือนคู่แข่ง แต่ล่าสุดเริ่มมีความหวังให้กับบรรดา “แฟนบอลเมืองผู้ดี” บ้างแล้ว เมื่อ “บอริส จอห์นสัน” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ออกมายืนยันเตรียมจะให้บรรดาแฟนบอลได้กลับมาชมการแข่งขันในสนามได้อีกครั้ง ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่จะสามารถเข้าชมได้สูงสุด 4,000 คนเท่านั้น ซึ่งจะเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่การแข่งขันอย่างเป็นทางการจะสามารถให้แฟนๆ เข้ามาชมในสนามได้ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่โค้ชและนักเตะต่างปรารถนาที่อยากจะให้มันเกิดขึ้นอีกครั้ง ทั้งนี้ อังกฤษ จะยุติมาตรการล็อกดาวน์ รอบ 2 เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ในวันพุธที่ 2 ธันวาคมนี้ และคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะดีขึ้นเรื่อยๆ พอที่จะให้แฟนๆ ได้กลับเข้ามาชมการแข่งขันกีฬาในสนามได้อีกครั้ง โดยนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า พื้นที่ที่มียอดผู้ติดเชื้อน้อย จะอนุญาตให้มีแฟนกีฬาเข้าไปชมการแข่งขันในสนามได้ โดยกีฬากลางแจ้งจะเข้าชมได้จำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ของความจุ แต่สูงสุดไม่เกิน 4,000 คน ส่วนพื้นที่ที่มียอดผู้ติดเชื้อปานกลาง จะเข้าชมได้ 50 เปอร์เซ็นต์ของความจุของสนาม แต่ไม่เกิน 2,000 คน และพื้นที่ที่มียอดผู้ติดเชื้อสูง จะยังไม่อนุญาตให้แฟนๆ เข้าชมกีฬาในสนามเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม ในการอนุญาตให้แฟนบอลเข้าสนาม ทาง “พรีเมียร์ลีก” ได้เตรียมพร้อมรับมือไว้แล้ว โดยได้ส่งหนังสือถึงทุกสโมสรในลีก เพื่อแจ้งให้ทราบถึงมาตรการ ซึ่งในเอกสารดังกล่าวระบุว่าอาจรวมถึงการงดร้องเพลงเชียร์ งดตะโกน และงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย โดยแฟนบอลต้องยืนยันการยอมรับมาตรการดังกล่าวตอนซื้อตั๋ว ขณะเดียวกัน แต่ละสโมสรสามารถปรับมาตรการต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับความต้องการได้ นอกจากนี้ ยังมีการอนุญาตให้แฟนบอล สามารถนำเจลล้างมือเข้าสนามได้ไม่เกิน 50 มิลลิลิตร ขณะที่สโมสรต้องมีการจำหน่ายตั๋วผ่านระบบดิจิทัลอีกด้วย เพื่อหลีกเสี่ยงการสัมผัสมือ ซึ่งอาจนำไปสู่การแพร่เชื้อโควิด-19 และจะยึดระเบียบใหม่นี้ไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม จากนั้นภาครัฐจะมาประเมินสถานการณ์อีกครั้ง โดยหลังจากนี้จะมีการหารือถึงบทลงโทษสโมสรที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวด้วย สำหรับ 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีกนั้น สนามเหย้าของทีมที่เข้าข่าย 3 ระดับ มีดังนี้ ระดับ 1 : ไบรท์ตัน, เซาธ์แฮมป์ตัน / ระดับ 2 : เชลซี, อาร์เซน่อล, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์, นิวคาสเซิล, เลสเตอร์ ซิตี้, เวสต์แฮม, คริสตัล พาเลซ, ฟูแลม / ระดับ 3 : ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เอฟเวอร์ตัน, แอสตัน วิลลา, วูล์ฟแฮมป์ตัน, เวสต์บรอม, เบิร์นลีย์, ลีดส์, เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด นอกจากนี้ รัฐบาลอังกฤษ ยังตั้งงบประมาณ 300 ล้านปอนด์ (12,000 ล้านบาท) ให้การช่วยเหลือองค์กรกีฬาที่ได้รับผลกระทบจากโควิดในช่วง 4 เดือนนับจากนี้ แบ่งเป็น รักบี้ฟุตบอล 135 ล้านปอนด์ (5,400 ล้านบาท), รักบี้ลีก 12 ล้านปอนด์ (480 ล้านบาท), ฟุตบอลลีกล่างและฟุตบอลหญิง 28 ล้านปอนด์ (1,120 ล้านบาท), ม้าแข่ง 40 ล้านปอนด์ (1,600 ล้านบาท), มอเตอร์สปอร์ต 6 ล้านปอนด์ (240 ล้านบาท), เทนนิส 5 ล้านปอนด์ (200 ล้านบาท) ส่วนเน็ตบอล บาสเกตบอล ฮอกกี้น้ำแข็ง แบดมินตัน และแข่งวิ่งสุนัข จะได้งบกลาง 15 ล้านปอนด์ (600 ล้านบาท) ไปแบ่งสรรกัน ขณะที่ลีกฟุตบอลในลีกฟุตบอลอาชีพอังกฤษ (อีเอฟแอล) ได้แก่ พรีเมียร์ลีก แชมเปี้ยนชิพ ลีกวัน และลีกทูนั้น ยังอยู่ระหว่างการหารือเรื่องรายละเอียดของเงินชดเชยและช่วยเหลือกันอยู่