"จุรินทร์" แย้มตั้ง "คกก.สมานฉันท์" 2 ชุด แก้ปัญหาเร่งด่วนระยะกลาง-ระยะยาว เชื่อสรรหาบุคคลมาเป็น "สสร." ไม่ล็อกสเปก "พท." จ่อชง 4 ประเด็นเข้ากมธ.แก้รธน.วันนี้ ยกคำพูดนายกฯทวงสัญญาต้องเสร็จธ.ค.63 ด้าน"เสี่ยหนู" ปัดข่าวส้มหล่นเสียบเก้าอี้นายกฯ แทน"บิ๊กตู่" บอกไม่ใช่ส้ม แต่กลัวเป็นทุเรียนหล่นใส่ขาแหก ส่วน"บิ๊กตู่" ลั่นไม่ต้องการให้คนไทยฆ่าแกงกันอีก ยันไม่เลือกปฏิบัติกับผู้ชุมนุม ปัดประกาศใช้"กฎอัยการศึก"สยบ"ม็อบราษฎร" 25 พ.ย.นี้ "บิ๊กป้อม"ไม่รู้เอกสารสมช.สั่งสกัดม็อบเข้ากรุง 25 พ.ย.หลุด ย้ำห้ามเข้าใกล้เขตพระราชฐานเกิน 150 เมตร รับห่วงเรื่องมือที่สาม ขณะที่ ทหารสยบลือ !ลั่นไม่คิดทำรัฐประหาร เชื่อมือตร.เอาอยู่ ส่วน "ตร."เรียกถกทีมพิจารณาม.112 เอาผิดแกนนำม็อบราษฎร "ปริญญา" ระบุ "การสืบทอดอำนาจ" คือต้นตอเกิด "ม็อบสามนิ้ว" จี้ "นายกฯ" รับผิดชอบ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 พ.ย.63 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ 7 ฝ่าย ว่า ขณะนี้ค่อนข้างมีความชัดเจนว่าจะมีการตั้งขึ้นมา 2 คณะ คณะแรกจะเป็นคณะที่ประกอบด้วย 7 ฝ่าย ตามที่ตนและพรรค ปชป.ได้เสนอ รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบตั้งแต่เบื้องต้น เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับคำสั่งของ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะออกมาว่าอย่างไร ส่วนอีกคณะเป็นคณะที่จะดูปัญหาในระยะกลางและระยะยาว ทั้งนี้พรรคปชป.จะเสนอแนวทางการดำเนินการในลักษณะให้ใช้ฉันทามติ คือให้ใช้มติที่เป็นเอกฉันท์ประกอบการที่จะให้แต่ละฝ่ายรับไปดำเนินการเพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสเข้าร่วมได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าเสียงข้างน้อยจะถูกเสียงข้างมากบังคับให้เป็นไปตามนั้น แต่ถ้าใช้มติเอกฉันท์เป็นการแสดงว่าจะต้องเห็นพ้องต้องกันทั้งหมด แต่ละฝ่ายก็รับไปดำเนินการ ส่วนประเด็นไหนที่ยังไม่สามารถหาฉันทามติได้อาจจะยกยอดไปให้คณะกรรมการชุดสองที่จะไปดำเนินการในระยะกลางและระยะยาวรับไปดำเนินการพิจารณาต่อไป ซึ่งเป็นหลักที่ตนจะมอบให้ผู้แทนของพรรคเป็นผู้รับไปเสนอที่ประชุมต่อไป เมื่อถามว่า ขณะนี้มีการพูดถึงที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในส่วนของพรรคปชป.เห็นควรให้มีการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ได้ระบุไว้ชัดในร่างฯของพรรคร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว ซึ่งได้กำ หนดว่าให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 150 คน และอีก 50 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรกบุคคลที่มาจากการสรรหา จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 10 คน วุฒิสภา 10 คน มาจากอธิการบดี 20 คน และตัวแทนของเยาวชน นักศึกษา 10 คน โดยเป็นไปตามแนวทางร่างของพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งพรรคปชป.ได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนด้วย แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นจะเป็นผู้เคาะ ขณะที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเตรียมประชุมกรรมาธิการของรัฐ สภาแก้ไขรัฐธรรมนูญนัดแรกในวันที่ 24 พ.ย. ว่า พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอที่ประชุม 4 ประเด็น ได้แก่ 1.การเลือกประธานกมธ.พิจารณารัฐธรรมนูญ ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย 2.พรรคยึดในหลัก การและเหตุผลของร่างรัฐธรรมนูญ ปี 60 ที่พรรคและพรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น 3.พรรคจะเสนอ ให้เชิญบุคคลภายนอก เข้ามาเป็นที่ปรึกษา และร่วมให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการ 4.ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ควรมีกรอบระยะเวลาการทำงานที่ชัดเจน โดยยึดพูดของนายกฯ ที่กล่าวในการประชุมของรัฐสภา เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา ว่า จะพิจารณา เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในเดือนธ.ค.นี้ ซึ่งหวังไว้ว่า นายกฯจะรักษาคำพูดที่ได้ให้ไว้ต่อรัฐสภาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทำนายว่า พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม จะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ กรณีเรื่องบ้านพักหลวง และผู้ที่จะได้ส้มหล่นมาเป็นนายกฯคนต่อไปคือ นายอนุทิน ว่า"ทุเรียนหล่นโดนขาเจ็บหมดแล้ว" เมื่อถามว่า คำทำนายของนายจตุพรมีแนวโน้มจะเป็นจริงได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มีแนวโน้มอะไรเลย นายกฯคนปัจจุบันคือ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งได้ทำหน้าที่อย่างทุ่มเทและเสียสละ เป็นผู้นำรัฐบาลที่ทำงานตลอดเวลา และรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสม ซึ่งทุกพรรคที่ร่วมรัฐบาลต้องสนับสนุนหัวหน้ารัฐบาลให้ทำงานต่อไปให้ได้ เมื่อถามย้ำว่า พรรคร่วมรัฐบาลยังเหนียวแน่นอยู่เหมือนเดิมใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า "เหนียวแน่น เหนียวแน่นมาก ไม่มีส้มหล่น กลัวแต่ทุเรียนหล่นใส่ขา เดี๋ยวขาเจ็บ ขาแหก ไม่ไหว เดินไม่ได้ ยืนยันว่าไม่มีอะไร ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ พรรคภูมิใจไทยยังให้การสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป" วันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่เอกสารสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อสกัดม็อบเข้ากรุงเทพฯ ในวันที่ 25 พ.ย. เนื่องจากมีการนัดชุมนุมใหญ่ ว่า ไม่รู้ ส่วนฝ่ายความมั่นคงจะต้องมีการตั้งด่านเพื่อดูแลอะไรเป็นพิเศษหรือไม่นั้น ทางฝ่ายความมั่นคงก็ทำหน้าที่ดูแลอยู่แล้วและยังไม่รู้ว่า บิ๊กเซอร์ไพร์ส ที่แกนนำพูดคืออะไร ส่วนที่ผู้ชุมนุมยืนยันว่าจะเข้าไปใกล้พื้นที่ชั้นในให้มากที่สุดนั้น ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ห้ามเข้าใกล้เขตพระราชฐานและพื้นที่ราชการเกิน 150 เมตร อย่างไรก็ตามคงต้องระวังเรื่องมือที่ 3 เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการเตรียมการรับมือการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ที่มีการนัดหมายหน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในวันที่ 25 พ.ย. นี้ ที่คาดว่าจะมี 2 ฝ่าย เผชิญหน้ากันว่า ก็พยายามห้ามไม่ให้ตีกันอยู่แล้ว ไม่ว่าใครก็ต้องเคารพกฎหมาย จะตีจะขว้าง ยิงไม่ยิงกันไม่รู้ ทั้งคู่ เก็บภาพจากกล้องทั้งหมด ตนให้ดำเนินการตามกฎหมายทั้งสองฝ่าย "ผมไม่ต้องการให้มีการตีกันอยู่แล้ว ไม่เคยเลือกปฏิบัติ การชุมนุมที่บอกว่าเป็นสิทธิเสรีภาพ เพราะฉะนั้น สิทธิเสรีภาพก็ไม่ได้สงวนให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มันก็สามารถชุมนุมได้ทั้งสองฝ่าย สามฝ่าย อะไรก็แล้วแต่ แต่จะต้องไม่ตีกัน ตีก็ผิดทั้งหมด รัฐบาลพยายามให้เกิดความสงบให้มากที่สุด ต้องคำนึงถึง ห่วงเจ้าหน้าที่บ้าง เจ้าหน้าที่ถูกกระทำเยอะเหมือนกัน เขาก็มีครอบครัว มีชีวิตจิตใจเหมือนกัน ถึงไม่ได้ทำอะไร เว้นแต่ฝ่าฝืนมากๆ เขาก็รับไม่ได้ ยอมไม่ได้เพราะเขาจำเป็นต้องรักษากฎหมาย ดูเหมือนเจ้าหน้าที่ทำอะไรก็ดูจะผิดไปทั้งหมด ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่ ไม่มีตำรวจแล้วใครจะทำ" นายกฯ กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีความกังวลเรื่องการทำให้เกิดม็อบชนม็อบเพื่อสร้างเงื่อนไขนั้น ตนเป็นรัฐบาล เป็นนายกฯ ไม่อยากให้คนไทยต้องมาฆ่าแกงกันอีก เข้าใจหรือไม่ ไม่อยากให้มีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ตนฝากสื่อไปถามแกนนำผู้ชุมนุมทำไมต้องไปสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็รู้จุดประสงค์ทำไปเพื่ออะไร ก็ไปดูแล้วกัน เมื่อถามว่า จะมีการใช้กฎอัยการศึก เพื่อไม่ให้เกิดการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ในวันที่25พ.ย.นี้ หรือไม่ รวมถึงนายกฯ จะยอมให้มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "เรื่องปฏิวัติ เรื่องกฎอัยการศึก มีใครประกาศได้บ้างไหมตรงนี้ มีไหม หรือใครจะประกาศตรงนี้ได้ เมื่อผมไม่ประกาศ แล้วใครจะประกาศ เธอประกาศกันเองได้เหรอ หรือคนที่มากล่าวอ้างประกาศเองได้ ก็ไม่เห็นมีใครจะประกาศ ก็ชอบหาเรื่องระดมคนมาอยู่นั่นแหละ" ขณะที่รายงานข่าวจากฝ่ายความมั่นคง เปิดเผยถึงกรณีแกนนำราษฎรออกมาระบุทหารจะทำรัฐประหาร ว่า เป็นการสร้างกระแสขึ้นมา เพราะข้อมูลที่แกนนำพูด ล้วนไม่มีเหตุผล และไม่มีความเชื่อมโยง ที่จะเกิดขึ้นได้ ยืนยันว่าทหารยังไม่มีแนวความคิดในเรื่องการทำรัฐประหาร รวมถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังไม่ถึงขั้นใช้กำลังทหารเข้ามาควบคุมสถานการณ์ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแลและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) มีรายงานว่า ในวันที่ 24 พ.ย. เวลา 10.00 น. พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้เรียกประชุมประจำสัปดาห์กับพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) ทั้งนี้ในที่ประชุมจะมีการพูดคุยถึงคดีเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อพิจารณาแจ้งข้อหากับแกนนำเพิ่มเติม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ส่วนจะเป็นแกนนำกี่ราย ขึ้นอยู่กับพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบสำนวนนั้นๆ เป็นผู้รวบรวมเสนอมาให้ ตร. พิจารณาต่อไป ที่โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันพระปกเกล้า ได้ขอเชิญสื่อมวลชนมาร่วมทำข่าว เก็บประเด็นที่น่าสนใจ ในงานสัมมนา "พลเมืองตื่นรู้ (สมาชิก) รัฐสภาตื่นตัว : เสียงประชาชนกับการเป็นตัวแทนของรัฐสภา"โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้บรรยายพิเศษ หัวข้อ"การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการทำงานในกระบวนการนิติบัญญัติ" ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ตนมองว่าปัญหาที่ทำให้นักศึกษา ประชาชน ออกมาชุมนุมและขยายไปถึงสถาบันเรื่องใหญ่ที่สุดคือของการสืบทอดอำนาจของนายกฯ ซึ่งในวันที่ 24 มี.ค.62 หากการตัดสินว่าใครจะเป็นนายกฯจบที่หีบบัตรเลือกตั้ง โดยไม่มี ส.ว. ที่เลือกไว้เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็จะไม่มีการประท้วงแบบนี้ ซึ่งคนทำผิดทั้งหลายคือนายกฯ และในเรื่องของการใช้อำนาจขององค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา ป.ป.ช. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือ กกต. องค์กรอิสระ ก็มาจาก ส.ว.ซึ่ง สว.ก็มาจากการเลือกของหัวหน้า คสช.ฉะนั้นถ้าจะไม่พอใจ ส.ว. องค์กรอิสระทั้งหลาย คนรับผิดชอบก็ต้องเป็นนายกฯ เพราะทำไมต้องรอให้เกิดการนองเลือดก่อน ถึงจะมาแก้ปัญหา ทำไมไม่แก้ปัญหาก่อนที่จะเกิดการนองเลือดอย่างไรก็ตาม วันนี้ยังไม่สายเกินไป อย่ารอให้ถึงทางตันแล้วค่อยมาหาทางออก /////////////////