จากปัญหาสภาวะโลกร้อน และฝุ่นควันมลพิษเกินมาตรฐาน หลายประเทศทั่วโลกได้ประกาศแผนสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะในภาคขนส่งที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับต้นๆ อุตสาหกรรมยานยนต์จึงต้องปรับตัวมุ่งสู่การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ไทยในฐานะที่เป็นฐานผลิตสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคนี้ ต้องก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงจากความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปสู่ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าด้วยเช่นกัน การก้าวเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ภาครัฐ นำโดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้วางโรดแมปการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Roadmap 30@30) โดยมีเป้าหมายในปี 2573 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (xEV) ร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด 2,500,000 คัน หรือประมาณ 750,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) 375,000 คัน รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicle: HEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicle: PHEV) 375,000 คัน โดยที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีมติเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 เห็นชอบเปิดให้การส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอีกครั้ง โดยให้ครอบคลุมการผลิตยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภท รวมทั้งจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า และเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพ และสามารถพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีในอนาคตได้ มุ่งส่งเสริมยานพาหนะที่ใช้แบตเตอรี่เป็นหลัก สำหรับการส่งเสริมการลงทุนกิจการยานพาหนะไฟฟ้าประเภทต่างๆ มีสิทธิประโยชน์และเงื่อนไข ดังนี้ 1.กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า มุ่งเน้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่เป็นหลัก (BEV) แต่ให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมควบคู่ไปด้วยกันได้ ในกรณีที่มีขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาก็สามารถได้รับสิทธิเพิ่ม ในกรณีขนาดการลงทุนน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เริ่มผลิตรถยนต์ภายในปี 2565 มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มเติมจากข้อกำหนดพื้นฐาน มีปริมาณการผลิตจริงมากกว่า 10,000 คันต่อปี และมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ถ้ามีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ PHEV ด้วย จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ทั้งนี้ต้องการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย 3 ชิ้น 2.กิจการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี โดยจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เริ่มผลิตภายในปี 2565 มีการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่เริ่มจากขั้นตอน Module มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น Traction Motor และมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา 3.กิจการผลิตรถสามล้อไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี โดยจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น มีการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่เริ่มจากขั้นตอน Module มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น Traction Motor และมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา 4.กิจการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี โดยจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น มีการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่เริ่มจากขั้นตอน Module มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น Traction Motor และมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ทุกประเภท ผู้ลงทุนจะต้องเสนอแผนงานรวม (Package) เช่น โครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ โครงการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า แผนการนำเข้าเครื่องจักรและติดตั้ง แผนการผลิตในระยะ 1–3 ปี แผนการผลิตหรือจัดหาชิ้นส่วนอื่นๆ และแผนการพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบ ในประเทศไทย (ที่มีคนไทยถือหุ้นข้างมาก) เป็นต้น 5.กิจการต่อเรือหรือซ่อมเรือ ที่มีการติดตั้งหรือขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และต้องได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 14000 ภายใน 2 ปี จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีเพิ่มส่งเสริมกิจการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ นอกจากนี้ บีโอไอยังได้ขยายขอบข่ายให้การส่งเสริมชิ้นส่วนยานพาหนะไฟฟ้าให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เพื่อให้ไทยเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะไฟฟ้าที่สามารถสนับสนุนผู้ผลิตในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ไม่มีการผลิตในประเทศ ในอัตราร้อยละ 90 เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มเติมอีก 4 ประเภท ประกอบด้วย ชุดสายไฟแรงดันสูง (High Voltage Harness) เป็นอุปกรณ์สำคัญในระบบขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าทำหน้าที่ในการส่งผ่านพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งเก็บพลังงานเริ่มตั้งแต่การชาร์จไฟเก็บในแบตเตอรี่และจ่ายไฟจากแบตเตอรี่ไปสู่อุปกรณ์ต่างๆ อาทิ Inverter, Converter โดยมีแรงดันไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 300 โวลต์ Reduction Gear ทำหน้าที่ปรับความเร็วรอบและส่งผ่านแรงบิดจากมอเตอร์ไปยังล้อ ประกอบด้วยชิ้นส่วนสำคัญ อาทิ Housing, Bearing และ Gear Battery Cooling System ระบบหล่อเย็นในแบตเตอรี่เพื่อรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในระดับใช้งานและไม่สูงจนเกินไป เพื่อยืดอายุการทำงานของแบตเตอรี่ ประเภทของระบบ Cooling System อาทิ ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำหล่อเย็นจากหม้อน้ำ ด้วยน้ำยาแอร์จากระบบปรับอากาศของแอร์มาช่วยหรือน้ำหล่อเย็นจากระบบแบบเตอรี่โดยตรง และด้วยแผ่นหรือวัสดุระบายความร้อน Regenerative Braking System เป็นอุปกรณ์สำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัย ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานจลน์ที่เกิดจากการชะลอความเร็วของล้อเป็นพลังงานไฟฟ้า และนำมากักเก็บไว้ในแบตเตอรี่เพื่อใช้ในการขับเคลื่อน นโยบายการให้ส่งเสริมกิจการยานพาหนะไฟฟ้าของบีโอไอในครั้งนี้ ครอบคลุมยานพาหนะทุกประเภท รวมทั้งชิ้นส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ที่มีโอกาสทางการตลาดสูงมาก เช่น รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันไทยมีการผลิตรถจักรยานยนต์แบบมอเตอร์ปีละ 2,100,000 คัน ส่งออกปีละ 400,000 คัน เป็นการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วนที่น้อยมาก การส่งเสริมกิจการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของบีโอไอครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพในตลาดส่งออกได้มากขึ้น ทั้งนี้ บีโอไออยู่ระหว่างการจัดทำประกาศต่างๆ ในการส่งเสริมการลงทุนในกิจการยานพาหนะไฟฟ้า ซึ่งการส่งเสริมกิจการยานพาหนะไฟฟ้ารอบใหม่ของบีโอไอในครั้งนี้ ถือเป็นการสนับสนุนให้ไทยก้าวสู่การเป็นฐานผลิตสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค โดยเฉพาะการเป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อตอบสนองนโยบายการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม และตอบโจทย์การดูแลรักษาสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืนในอนาคต