จากกรณีที่มีการชุมนุมของกลุ่ม"นักเรียนเลว" ในกิจกรรมบ๊ายบายไดโนเสาร์ เมื่อวันที่ 21 พ.ย.63 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ชุมนุมแต่งมาสคอตเป็นตัวไดโนเสาร์เดินบนถนนหน้าห้างสยามพารากอน และจัดกิจกรรมเขียนข้อความใส่กระดาษนำไปแปะ เพื่อสื่อถึง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ในประเด็นการศึกษามีปัญหา ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนเห็นว่าตัวเร่งแรงที่ทำให้เด็กออกมาจัดกิจกรรม ซึ่งเป็นคำพูดของเด็กๆ เอง ก็คือ กรณีที่นายณัฏฐพล ลงมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับนั้น อาจจะแสดงให้เห็นว่า รมว.ศธ.มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ความเคลื่อนไหวและเห็นความต้องการของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชนจริงหรือไม่ ทำให้เกิดการไม่ไว้วางใจกัน เพราะส่วนตัวตนมองว่าเห็นใครที่จะมาทำงานด้านเด็ก อย่างน้อยจะต้องมีความเข้าใจกิจกรรม ความเคลื่อนไหวและจินตนาการ ไม่จำเป็นต้องเข้าข้างเด็ก แต่ต้องเข้าใจ อีกทั้งหากพื้นฐานมีความขาดความไว้วางใจกันแล้ว ตนมองว่าจะไปต่อค่อนข้างลำบาก เพราะพื้นฐานของคนที่จะทำงานรวมกันเด็กนั้น นอกจากจะต้องรับฟังเสียงเด็ก มีความเข้าใจเด็กแล้ว จะต้องไม่เห็นเรื่องที่เด็กทำเป็นเรื่องที่ผิด หรือ เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ นอกจากนี้สิ่งที่ตนมองว่าการที่เด็กยังคงมีการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงออกนั้น เป็นเพราะการปฏิรูปการศึกษาที่ไม่มีความคืบหน้า ไม่ไปถึงไหน และอาจจะแย่ หรือ หนักกว่าที่ผ่านมา และการปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของเด็กไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคุกคามต่างๆ การแก้ปัญหาเรื่องทรงผม ก็ยังคงมีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในโรงเรียน โดยในส่วนของระเบียบที่เหี่ยวย้องกับทรงผม และชุดนักเรียน ที่คณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนนักเรียน นักศึกษาของ ศธ. ได้มีการพิจารณาให้ปรับแก้ให้ยืดหยุ่นขึ้นแล้ว แต่เมื่อเสนอไปแล้วก็ยังไม่มีข้อตอบรับจากทาง รมว.ศธ.และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงกฎระเบียบที่มีการประกาศอย่างชัดเจน “อย่างก็ตาม ปัจจุบันผมมองว่าโรงเรียน มหาวิทยาลัยและสถานศึกษา ยังเป็นสถานที่ที่เปิดอิสระรับเด็กให้สามารถแสดงออก จัดกิจกรรม หรือยอมรับความคิดเห็นของเด็ก เฉพาะฉะนั้นกิจกรรมเหล่านี้จึงเกิดการระเบิด ทำให้เด็กลงถนน และมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ส่วนตัวที่ผมทำงานกับเด็กมากว่า 30 ปี และในระยะ 6-7 เดือนที่ผ่านมา ผมได้มีการเสนอในคณะกรรมการหลายๆ ชุด ว่า หากเราไม่เปิดพื้นที่มห้เด็กเข้ามามีส่วนร่วม ไม่รับฟังความเห็น ก็จะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ คือ เด็กลงถนนจัดกิจกรรม แต่ก็ไม่มีการรับฟังหรือบอกว่าผมเข้าข้างเด็ก แต่ผมขอบอกว่านั่นคือ สังคมไทยที่เราใช้อำนาจกดทับไม่เปิดพื้นที่ ไม่ทำให้เด็กได้แสดงออกอย่างอิสระ ดังนั้นจากนี้ผมคิดว่าเราต้องลงมาทำงานร่วมกับเด็ก มาพูดคุยรับฟังความเห็น เปิดพื้นที่และสร้างความปลอดภัยในการแสดงความเห็น ผมเชื่อว่าจะทำให้สังคมเราดีขึ้นอย่างแน่นอน”อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว