เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ 7 ฝ่ายว่า ขณะนี้ค่อนข้างมีความชัดเจนว่าจะมีการตั้งขึ้นมา 2 คณะ คณะแรกจะเป็นคณะที่ประกอบด้วย 7 ฝ่ายตามที่ตนและพรรคปชป.ได้เสนอ รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบตั้งแต่เบื้องต้น เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับคำสั่งของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะออกมาว่าอย่างไร ส่วนอีกคณะเป็นคณะที่จะดูปัญหาในระยะกลางและระยะยาว ทั้งนี้พรรคปชป.จะเสนอแนวทางการดำเนินการในลักษณะให้ใช้ฉันทามติ คือให้ใช้มติที่เป็นเอกฉันท์ประกอบการที่จะให้แต่ละฝ่ายรับไปดำเนินการเพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสเข้าร่วมได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าเสียงข้างน้อยจะถูกเสียงข้างมากบังคับให้เป็นไปตามนั้น แต่ถ้าใช้มติเอกฉันท์เป็นการแสดงว่าจะต้องเห็นพ้องต้องกันทั้งหมด แต่ละฝ่ายก็รับไปดำเนินการ ส่วนประเด็นไหนที่ยังไม่สามารถหาฉันทามติได้อาจจะยกยอดไปให้คณะกรรมการชุดสองที่จะไปดำเนินการในระยะกลางและระยะยาวรับไปดำเนินการพิจารณาต่อไป ซึ่งเป็นหลักที่ตนจะมอบให้ผู้แทนของพรรคเป็นผู้รับไปเสนอที่ประชุมต่อไป ผู้สื่อข่าวถามถึง ที่ขณะนี้มีการพูดถึงที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในส่วนของพรรคปชป.เห็นควรให้มีการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ได้ระบุไว้ชัดในร่างฯของพรรคร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว ซึ่งได้กำหนดว่าให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 150 คน และอีก 50 คนแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรกบุคคลที่มาจากการสรรหา จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 10 คน วุฒิสภา 10 คน มาจากอธิการบดี 20 คน และตัวแทนของเยาวชน นักศึกษา 10 คน โดยเป็นไปตามแนวทางร่างของพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งพรรคปชป.ได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนด้วย แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นจะเป็นผู้เคาะว่ารูปแบบจะออกมาเป็นแบบไหน เมื่อถามว่ามีความกังวลหรือไม่ว่า สสร.สัดส่วน 50 คนจะมีการล็อกสเปกหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนไม่คิดว่าจะทำได้ เช่น อธิการบดีไม่คิดว่ามีใครไปล็อกสเปกได้ เพราะทุกท่านเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติสามารถใช้ดุลยพินิจของตัวเองได้ว่าจะทำอย่างไร