กมธ.แรงงาน จับมือ สสส.-มช. จ่อชงแก้ กม. คุ้มครองแรงงานนอกระบบ-ต่างด้าว ให้สิทธิเข้าถึงสวัสดิการ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง “ การให้ความคุ้มครองแรงงานตามกฎหมายของลูกจ้างทำงานบ้านและคนทำงานในภาคเกษตร" ซึ่งคณะกรรมาธิการแรงงาน ร่วมกับโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสุขภาวะของแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และภาคีเครือข่าย จัดขึ้น ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ นายสุเทพ กล่าวว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานข้ามชาติปัจจุบันยังดูแลไม่ทั่วถึงทุกอาชีพ ยังพบความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมเรื่องการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ ชั่วโมงการทำงาน และสิทธิการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ สิ่งเหล่านี้สะท้อนปัญหาทางสุขภาวะชัดเจน ทำให้ขณะนี้อยู่ระหว่างปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านแรงงานพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานนอกระบบ มาดูแลแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ประมาณ 22 ล้านคนให้เหมือนลูกจ้างในระบบ โดยในปี 2564 กมธ.จะพยายามผลักดันให้มีกฎหมายแรงงานนอกระบบ และยกระดับกฎหมายประกันสังคม เพื่อที่จะดูแลแรงงานนอกระบบ ให้ครอบคลุมมากกว่านี้ นางนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมีกลไกขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสุขภาวะของแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองมาตลอด โดยเฉพาะแรงงานกลุ่มคนทำงานบ้านและภาคเกษตรกรรม ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาแรงงานนอกระบบ มีแนวโน้มว่าอาจจะตั้งสำนักงานดูแลเฉพาะ เช่น สภาแรงงานนอกระบบ กองทุนแรงงานนอกระบบ เพื่อเป็นตัวช่วยทำให้พวกเขาได้เข้าถึงระบบบริการของรัฐทั่วถึง ซึ่งจะเกิดผลสำเร็จได้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ เอกชน นายจ้าง ลูกจ้าง และองค์กรภาคประชาสังคมด้านแรงงาน เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่จับต้องได้ ด้านนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติที่ประกอบอาชีพในเมืองไทยมีความรู้ด้านการดูแลสุขภาพน้อย ยกตัวอย่างการลงพื้นที่เก็บข้อมูลแรงงานชาวเมียนมา 4 จังหวัด ได้แก่ ระนอง สมุทรสาคร ชลบุรี และหนองคาย จำนวน 850 คน ของ สสส.กับมหาวิทยาลัยมหิดล พบแรงงานร้อยละ 61.88 ไม่มีความรู้ด้านสุขภาพ มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ส่งผลกระทบกับร่างกาย ไม่เข้าใจสิทธิสวัสดิการที่ควรจะได้รับ และบางคนยังเข้าไม่ถึงการรักษาในโรงพยาบาล จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเครื่องมือสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพที่ใช้ชื่อว่า “หลักสูตรอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว” หรือ อสต. ในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เพิ่มศักยภาพในการส่งผ่านข้อมูลถึงแรงงานข้ามชาติในพื้นที่นำร่อง 13 จังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ควบคู่กับการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพและความปลอดภัยของแรงงานข้ามชาติกลุ่มจ้างงานชั่วคราวและตามฤดูกาล “กฎหมายด้านแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังคุ้มครองแรงงานข้ามชาติไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพและไม่เพียงพอ เพราะยังมีการกำหนดนิยามที่เกี่ยวข้องในลักษณะแคบ จนทำให้แรงงานที่ควรต้องได้รับการคุ้มครองตกหล่นไปจากระบบ เช่น แรงงานภาคเกษตร ทำงานบ้าน และเมื่อแรงงานถูกทำให้มองไม่เห็นในระบบการจ้างงาน จึงส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำและส่งผลกระทบต่อสภาวการณ์ด้านสุขภาพที่แรงงานต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นด้วยตนเอง”นางภรณี กล่าว ขณะที่นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน กล่าวว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานปัจจุบันยังมีช่องโหว่เรื่องการดูแลลูกจ้างชาวไทยและแรงงานข้ามชาติบางอาชีพ ที่เห็นชัดที่สุดคือ แรงงานกลุ่มเกษตรกรรมและทำงานบ้าน จึงเสนอให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 14 ปี 2555 เพิ่มสิทธิ สวัสดิการดูแลแรงงานกลุ่มนี้ให้เท่าเทียมกับคนที่ทำอาชีพอื่น เพราะหากรอกฎหมายฉบับใหม่อาจจะใช้ระยะเวลานานเกินไป อาจกระทบต่อสุขภาวะของคนที่หาเช้ากินค่ำ และการปรับปรุงกฎกระทรวงช่วยเหลือแรงงานจะต้องมองลึกไปถึงอาชีพอื่นๆ และแรงงานทุกชาติ ไม่ใช่แค่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา โดยที่ไม่เลือกปฏิบัติ