เครือซีพีเสนอโมเดลการทำงานร่วม “สมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช”“อนุรักษ์เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ อนุรักษ์กินได้ อนุรักษ์มีรายได้”บนเวที ASEAN Innovation Roadmap & Bioeconomy Forum in Conjunction with GBS 2020 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) จัดงาน “ASEAN Innovation Roadmap & Bioeconomy Forum in Conjunction with GBS2020” ระหว่างวันที่ 16–20 พฤศจิกายน 2563 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เพื่อเป็นเวทีระดมสมองให้เกิดแนวทางการใช้ประโยชน์จากแผนที่นำทาง ในการผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ผ่านการประชุมหารือ แลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างผู้แทนจากหน่วยงานในต่างประเทศ ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน และการนำเสนอข้อริเริ่มเชิงสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมให้เกิดในอาเซียน ทั้งนี้มี ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้บริหาร สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ได้ร่วมนำเสนอโมเดลการทำงานร่วมกันระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ และสมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ภายใต้แนวคิด “อนุรักษ์เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ อนุรักษ์กินได้ อนุรักษ์มีรายได้” ใน การประชุม “Sustainable Bioeconomy: Ecosystems & Biodiversity Utilization นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน ผู้แทนจากประเทศคู่เจรจา ฝ่ายเลขานุการอาเซียนจากคณะกรรมการสาขาต่างๆ ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัด อว.และหน่วยงานราชการต่างๆให้ความเห็นเพิ่มเติม และนำเสนอกิจกรรมที่สามารถร่วมมือได้ต่อไปในอนาคต โดยการจัดงานนี้เป็นการจัดคู่ขนานกับ “การประชุมนานาชาติด้านเศรษฐกิจชีวภาพของโลก (Global Bioeconomy Summit-GBS)” เพื่อผลักดันนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานชีวภาพผ่านความร่วมมือในระดับนานาชาติ ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 16-20 พฤศจิกายน 2563 ณ Berlin Conference Center (BCC) กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วมในฐานะตัวแทนของภูมิภาคอาเซียน แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงมีการปรับเปลี่ยนการจัดงานในรูปแบบของ Virtual Event ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดการบรรยาย และกิจกรรมต่างๆจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ควบคู่ไปกับการรับสัญญาณการถ่ายทอดสดจากประเทศเจ้าภาพร่วมไปยังผู้ร่วมงานในประเทศต่างๆทั่วโลก ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้บริหาร สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า จากวิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้นกับท้องทะเลไทย ส่งผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม เครือเจริญโภคภัณฑ์ในฐานะภาคเอกชนซึ่งเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของระบบเกษตรอุตสาหกรรม และอาหารที่เกี่ยวข้องกับท้องทะเลไทย จึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล ทั้งฝั่งภาคตะวันออก,อ่าวไทย และทะเลอันดามัน โดยดำเนินการผ่านแนวคิดหลัก “SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน”เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลเชิงบูรณาการสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วยการพัฒนารูปแบบการทำธุรกิจที่ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน การขยายพันธุ์สัตว์น้ำ การสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยที่สมดุลแก่สัตว์น้ำ การพัฒนาและวิจัยเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการส่งเสริมศักยภาพและคุณภาพชีวิตของชุมชนประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน สำหรับการทำงานร่วมกับสมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ที่ได้มีการต่อยอดการทำงานเชิงอนุรักษ์จนนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ชาวประมง ภายใต้แนวคิดการอนุรักษ์เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ อนุรักษ์กินได้ อนุรักษ์มีรายได้ โดยในปี 2560 ทีมชุมชนสัมพันธ์ สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ได้เข้ามาร่วมทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับชุมชน โดยเฉพาะการนำเอาระบบนวัตกรรมธนาคารสัตว์น้ำมาใช้ในพื้นที่ชุมชน ทั้งยังนำเทคโนโลยีพลังงานทดแทน (โซล่าเซลล์ และกังหันลม) เข้ามาผสมผสานจนเกิดเป็นระบบอนุรักษ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้มีการถอดบทเรียนการทำงานด้านอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรร่วมกัน จนเกิดแนวคิดการบริหารจัดการซั้ง (บ้านปลา) ในรูปแบบหมุนเวียน เพราะการวางซั้งบ้านปลาในแต่ละครั้ง บริเวณตามแนวเชือกซั้งจะมีหอยแมลงภู่มาเกาะ ซึ่งถือเป็นผลพลอยได้จากการอนุรักษ์ และหากคำนวณระยะเวลาการเจริญเติบโตของหอยแมลงภู่ ชาวประมงสามารถนำหอยแมลงภู่ที่ได้ไปบริโภค หรือไปจำหน่าย โดยรายได้ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งจะถูกนำกลับมาทำซั้งต้นใหม่เพื่อวางในครั้งถัดไป รวมถึงการส่งต่อซั้ง (บ้านปลา) ที่มีลูกพันธุ์หอยแมลงภู่ติดตามแนวเชือกไปยังพื้นที่ฝั่งอันดามัน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากรสัตว์ในทะเล ทำให้ชาวชุมชนประมงพื้นบ้านทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน สามารถจับต้องได้กับประโยชน์ของงานอนุรักษ์ จึงถือเป็นนวัตกรรมชุมชนที่สร้างประโยชน์ ทั้งการเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เพิ่มทรัพยากรสัตว์น้ำ และยังทำให้งานอนุรักษ์ดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ดร.อธิป กล่าวอีกว่า เมื่อทรัพยากรทางทะเลกลับมาอุดมสมบูรณ์ ชาวประมงสามารถจับสัตว์น้ำได้ในปริมาณที่มาก แต่ด้วยความผันผวนของกลไกตลาดที่ส่งผลทำให้สัตว์น้ำมีราคาตกต่ำ ด้วยเหตุนี้เอง เครือเจริญโภคภัณฑ์ และสมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร ร่วมกันการพัฒนาต่อยอด โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรสัตว์น้ำที่จับมาได้ และการปรับเปลี่ยนกลไกลตลาดที่ชาวประมงในฐานะผู้จัดหาวัตถุดิบสามารถเป็นผู้กำหนดราคา หรือขายสัตว์น้ำได้เอง ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดการกระจายรายได้ และสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน ทั้งยังทำให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ตลอดจนการช่วยเหลือสังคมควบคู่กันไป จึงเป็นที่มาของการแปรรูปอาหารทะเลจากสัตว์น้ำที่ชาวชุมชนสามารถหาได้ ภายใต้ชื่อ “รอยยิ้มชาวเล” โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์นำเอาความเชี่ยวชาญของธุรกิจที่มีเข้าไปส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านการตลาด การค้าขายออนไลน์ ตลอดจนการบริการจัดสินค้า จนทำให้ชาวประมงมีรายได้สะสมจากการจำหน่ายสินค้าอาหารทะเลแปรรูปกว่า 2.2 ล้านบาท (ระหว่างเดือนเมษายน-กันยายน 2563) เกิดเป็นความเข้มแข็ง และการพึ่งพาตนเองของคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน “รายได้ที่เกิดขึ้นไม่เพียงทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนเท่านั้น แต่ในการบริหารธุรกิจสู่ชีวิตยั่งยืน ชุมชนได้มีการจัดสรรปันส่วนของรายได้ และกำไรจากการจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูป ออกเป็น 5 ส่วน โดยส่วนแรก ปันผลกำไรให้กับสมาชิก 50%ส่วนที่สองเป็นกองทุนเพื่อการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลในเขตพื้นที่อนุรักษ์ของชุมชน 20%,ส่วนที่สามเป็นทุนการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส ตลอดจนลูกหลานชาวประมง 15%,ส่วนที่สี่นำไปทำนุบำรุง และจัดกิจกรรมของมัสยิด และวัด 5% และส่วนที่ห้า เพื่อนำไปเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของสมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร ชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะเพชร 10%” โดยไม่เพียงเท่านี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และสมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร ยังมีแผนที่จะดำเนินการต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโรงเรือนการผลิตแปรรูปให้เป็นไปตามมาตรฐาน GMP และ อย.เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับสินค้า และการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปในรูปแบบใหม่ๆ ตลอดจนการขยายรูปแบบ หรือโมเดลการทำธุรกิจสู่ชีวิตที่ยั่งยืนเพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวประมงให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช 12 เครือข่าย 7 พื้นที่ ครอบคลุม 1,056 ครัวเรือน โดยให้สมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทรเป็นต้นแบบการเรียนรู้ และศูนย์กลางในการรับวัตถุดิบจากเครือข่ายเพื่อการแปรรูปและจัดจำหน่าย อันเป็นการต่อยอดการทำงานด้านการอนุรักษ์ไปสู่การสร้างรายได้ ตามแนวคิด “อนุรักษ์เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ อนุรักษ์กินได้ อนุรักษ์มีรายได้” ที่สอดคล้องกับ“เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)” ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงอย่างแท้จริง