การทำเกษตรกรรมในประเทศไทยมีทั้งการทำเกษตรแบบพึ่งพาตนเองและการทำเกษตรแบบแปรรูปเพื่อการส่งออกซึ่งการทำเกษตรทั้ง 2 แบบก็มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน พืชเศรษฐกิจ มีหลายชนิด ไผ่ถือพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่ตอนนี้ทางภาครัฐกำลังเร่งส่งเสริมให้ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจหลักในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เดิมไผ่พืชเศรษฐกิจสำคัญที่คนไทยนั้นปลูกไว้ตามหัวไร่ปลายนา การที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรมาปลูกไผ่ในเชิงพาณิชย์นั้นจำเป็นจะต้องมีการทำความเข้าใจในทุกภาคส่วนทำให้เห็นภาพรวมตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำร่วมกัน นายมะเสาวดี ไสสากา นายมะเสาวดี ไสสากา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา กล่าวถึงรายละเอียดในการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไผ่เชิงเศรษฐกิจว่า “สภาเกษตรกรจังหวัดยะลาได้มีการศึกษาโมเดลของไผ่เศรษฐกิจและนำเรื่องนี้มาเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับตำบลของจังหวัดยะลาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ไผ่ในพื้นที่มีสายพันธุ์มากกว่า 20 กว่าสายพันธุ์ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวน แต่เมื่อได้ไปศึกษาเรื่องไผ่ทางภาคเหนือ ปรากฏว่าในเขตภาคเหนือไผ่ส่วนใหญ่ เป็นไผ่เศรษฐกิจ ทำการศึกษาจนตกผลึกว่าเราควรปรับการปลูกไผ่ให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ทางศอ.บต. และผู้ประกอบการจากประเทศเกาหลีได้มีการร่วมมือกัน ในเรื่องนี้ และทางสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา ได้แจ้งกับเลขา ศอ.บต.ว่าการปรับเปลี่ยนและการส่งเสริมเรื่องการปลูกไผ่ ในเบื้องต้นขอเป็นการตัดสินใจของเกษตรกรในพื้นที่ ความยากในเรื่องการส่งเสริมการปลูกไผ่คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เกษตรกรหันมาเปลี่ยนพฤติกรรมในการปลูกพืชจากเดิมที่เคยปลูกยางพารา ปรับมาเปลี่ยนพืชชนิดอื่น เราจำเป็นต้องให้ความรู้ นำข้อมูลพูดคุยกับเกษตรในเห็นรูปธรรมเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน ไผ่เป็นพืชที่ปลูกเพียงครั้งเดียว แต่สามารถตัดได้เรื่อยๆ ยิ่งตัดยิ่งงาม ถ้ามีการบริหารจัดการกอไผ่ที่ดีจะช่วยลดต้นทุนได้ การปลูกไผ่จะเป็นการปลูกพืชที่มีความเสถียรและมั่นคง ถ้าเกษตรกรได้เห็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จแล้วแล้วในอีก 2-5 ปี จะทำให้การตัดสินใจมาปลุกไผ่จะง่ายขึ้น” “ทาง ศอ.บต. ได้มีการให้ความสำคัญกับเรื่องของพลังงาน เรามีการทดสอบ ว่าไผ่พันธ์ไหนเหมาะสมกับการเป็นไผ่พลังงาน และจากการปลูกคุยกับผู้ประกอบการปรากฏว่า ด้ายผู้ประกอบการต้องการไผ่พันธ์กิมซุง ไผ่ตงลืมแล้ง เพราะเป็นไผ่ที่มีผลผลิตในปริมาณสูง ตอบสนองต่อน้ำและปุ๋ยการปลูกไผ่ต้องมีการวางแผน โดยแบ่งเป็น 3 ลักษณะ ถ้าต้องการขายลำไผ่อย่างเดียวจะได้ราคาที่ 70 ถึง 80 บาท ถ้าทำเพิ่มนวัตกรรม ทำให้มอดไม่กินจะทำให้ได้ราคา 100 บาทถึง 200 บาท แต่ถ้าคุณต้องการขายเฉพาะลำจะอยู่ประมาณ 30 บาท 50 บาท แต่ถ้าปลูกเพื่อป้อนให้โรงงาน ลำหนึ่งราคาก็จะอยู่ประมาณ 10 บาท 14 บาท” “การขับเคลื่อนของสภาเกษตรกรได้เชื่อมต่อกับ ศอ.บต.โดยกำหนดแผนงานที่จะพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการทำตะเกียบ ไม้เสียบ ถ่านชาโคล เฟอร์นิเจอร์หรือการใช้ลำในเชิงโครงสร้าง เราพยายามที่จะคิดค้นและต้องศึกษาเพื่อจัดทำแผนงานให้กับ ศอ.บต.ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเนื่องระดับชุมชนระดับวิสาหกิจในอนาคตในขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าชุมชนหรือพลังงาน เราเองก็ได้มีการประสานผ่านและก็ส่งต่อให้กับกลุ่มพลังงานในการส่งเสริมโรงสับไผ่ในพื้นที่ ทางสภาเกษตรได้เตรียมวิสาหกิจโรงสับไผ่ประมาณ 18 วิสาหกิจและก็ได้ยื่นขอโรงสับไผ่พร้อมทำสัญญาเรียบร้อยแล้ว 8 โรงสับในพื้นที่ยะลาและขอเพิ่มอีก 10 โรงสับ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมาเราก็ได้ทำ MOU ร่วมระหว่างผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าในพื้นที่กับ ศอ.บต. และวิสาหกิจ เราได้กำหนดใน MOU ก็คือการส่งไผ่เข้าโรงงานต้องผ่านวิสาหกิจก่อนไม่ส่งเป็นลำแต่เป็นส่งลักษณะสับเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้เกิดธุรกิจความต่อเกี่ยวเนื่องทั้งระบบ” “ความต้องการการใช้พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความต้องการประมาณ 200 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบเป็นพื้นที่ปลูกไผ่แบบเชิงเดี่ยวจะอยู่ประมาณ 300,000 ไร่ และถ้าเทียบพื้นที่การปลูกที่เป็นการปลูกแบบผสมผสานต้องใช้พื้นที่ในการปลูก 500,000 ไร่ ไผ่เป็นพืชที่สามารถตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจได้และยังสามารถตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากไผ่เป็นพืชในตระกูลหญ้า ซึ่งสามารถดูดน้ำและคลายน้ำให้กับพื้นดินได้” ไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น และน่าจะเป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน แต่ในปัจจุบันก็ยังมีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการสร้างเครือข่ายเกษตรกร ในพื้นที่ จ.ยะลาให้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนไผ่เศรษฐกิจร่วมกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการที่ดิน การปลูกพืชแบบวนเกษตร การปลูกไผ่ การเลือกพันธุ์ วิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ศรีกาบัง เป็นกลุ่มเกษตรกรแรกๆที่เข้ามาศึกษาเรื่องการปลูกไผ่เศรษฐกิจอย่างจริงจัง นายอับดุลรอมัน แวอุเซ็ง นายอับดุลรอมัน แวอุเซ็ง ประธานวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ศรีกาบัง กล่าวว่า “จากการศึกษา ไผ่เป็นพืชที่ไม่มีโรคพืช มีเพียงการดูแลในระยะแรกให้แตกยอด หลังจากนั้นไผ่สามารถโตได้เองตามธรรมชาติ การบำรุงดูแลใส่ปุ๋ยบ้างมันก็จะช่วยในการเจริญเติบโตได้ดี เช่นไผ่พันธุ์กิมซุง ปลูกง่าย เติบโตได้เร็ว มีหน่อเยอะ สามารถเก็บหน่อไปขายได้ สำหรับไผ่พันธุ์ซางหม่น มีลำตรงมีความเหนียวมีความแข็ง สามารถไปใช้ทำประโยชน์ในเรื่องของการอยู่กระท่อมหรือไปทำแพ ลำไผ่สามารถนำมาแปรรูปเป็นไม้เสียบลูกชิ้น ไม้ตะเกียบ และถ้ามีไผ่ปริมาณมากสามารถนำไปสู่ไผ่พลังงานหรือเป็นพืชพลังงานและเราก็ส่งเสริมให้ปลูกแบบผสมผสาน ปลูกไผ่กับยางพารา และไม้ผลอื่นๆ” ทางสภาเกษตรกรจังหวัดยะลาได้มีการส่งเสริม ให้นำไผ่สายพันธุ์ต่างๆไปให้เกษตรกรได้ทดลองปลูกหลังจากนั้นก็ค้นพบว่ามีอยู่ 2 สายพันธุ์ ที่เกษตรกรนิยมปลูกกันก็คือสายพันธุ์ซางหม่น แล้วก็สายพันธุ์กิมซุง ในพื้นที่ ต.ยะต๊ะ อ.รามัน จ.ยะลาเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ เกษตรกรให้ความสนใจในการปลูกไผ่เชิงพาณิชย์โดยวิสาหกิจชุมชนทายาทเกษตรกรบ้านตะโล๊ะได้ทดลองนำต้นไผ่มาปลูกแซมในสวนยางพาราของกลุ่มซึ่งพวกเขาให้ความสนใจว่าไผ่น่าจะเป็นพืชตัวใหม่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพืชเศรษฐกิจได้จึงได้ตัดสินใจโค่นต้นยางบางส่วนออกไปและปลูกไผ่แซมในพื้นที่เพื่อทดลองขยายพันธุ์ น.ส.อาดีละห์ กาโฮง น.ส.อาดีละห์ กาโฮง นักวิชาการเกษตร สำนักงานสภาเกษตรจังหวัดยะลา กล่าวว่า “กลุ่มชุมชนทายาทเกษตรกรบ้านตะโล๊ะเป็นกลุ่มแบบผสมผสานก็จะทำเรื่องของปศุสัตว์ได้หลายด้าน ด้านพืช ด้านปศุสัตว์และประมง ยกระดับกลุ่มเป็นวิสาหกิจ เป็นกลุ่มที่มีวิสาหกิจที่มีศักยภาพ ความสามารถด้านนี้อยู่แล้ว แค่ปรับนำพืชใหม่เข้ามาก็เป็นโอกาสของกลุ่มโดยใช้ไผ่ ปรับการใช้พื้นที่โดยตัดยางเก่า หนึ่งแถวออกแล้วปลูกแซมด้วยต้นไผ่สองแถว เพื่อรองรับเมื่อถึงอายุของยางก็จะโค่นยางพอดีกับไผ่ที่ขึ้นมาก็ใช้ประโยชน์ได้เป็นการปลูกแบบผสมผสาน หลายๆชนิดเช่น ปลูกกล้วย ปลูกไม้ยืนต้น แซมด้วยไผ่ และมีแปลงขยายพันธุ์ไผ่” ภาครัฐได้มีการส่งเสริมเรื่องของพันธุ์ไผ่ให้กับเกษตรกรในพื้นที่แต่ว่าบรรดาเกษตรกรก็มีความพยายามที่จะทดลองขยายพันธุ์ไผ่ด้วยตัวเอง นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเกษตรกรรมในระดับตำบลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยการให้เกษตรกรและภาคีเครือข่ายมาร่วมแก้ไขปัญหาร่วมกันส่วนภาครัฐก็จะคอยช่วยเหลือสนับสนุนในการดำเนินงานด้านอื่นๆด้านของสภาเกษตรกรจังหวัดยะลาได้ร่วมกับทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือศอ.บต. ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่องขึ้นมาในพื้นที่ทั้งในรูปแบบของโรงไฟฟ้าชุมชนในรูปแบบของโรงงานแปรรูปโดยโรงงานเหล่านี้ก็ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนเพื่อจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่ เกษตรกรในพื้นที่เขามารวมกลุ่มกันเป็นรูปแบบของวิสาหกิจ จัดตั้งโรงสับไผ่ มีการไปรับซื้อลำไผ่มาจากเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อที่จะส่งไปขายให้กับโรงไฟฟ้าหรือว่าโรงงานแปรรูปซึ่งวิธีนี้นอกเหนือจากเกษตรกรในพื้นที่จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงแล้วก็สามารถที่จะร่วมกันเป็นเจ้าของได้ทั้ง 2 ทางอีกด้วย ที่ตำบล กอตอตือร๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มธนาคารต้นไม้บ้านกาตือแป ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่เห็นโอกาสที่ดีของไผ่เศรษฐกิจ มีการรวมกลุ่มขยายพันธุ์ไม้ในรูปแบบของธนาคารต้นไม้อยู่แล้วได้นำเงินทุนมาก่อสร้างโรงสับไผ่ในพื้นที่ เพื่อรองรับผลผลิตในอนาคต นายยามิน ตือระปุปี นายยามิน ตือระปุปี ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มธนาคารต้นไม้บ้านกาตือแป กล่าวถึงการทำโรงสับไผ่ของกลุ่มว่า “ไผ่เป็นพืชที่มีประโยชน์ใช้สอยมากมาย ในปัจจุบันมีการพัฒนาให้ไผ่มีอายุการใช้งานสูง มีความคงทนไผ่กลายเป็นพืชที่มีโอกาสเติบโตเป็นพืชเศรษฐกิจการส่งเสริมระยะแรกเริ่มจากไผ่พื้นเมืองก่อน และเสริมด้วยไผ่พันธ์ที่ได้รับการวิจัยแล้วว่ามีคุณภาพสูง เติบโตเร็ว นำจุดเด่นแต่ละสายพันธุ์มาส่งเสริมในพื้นที่ การตั้งโรงสับไผ่เพื่อเป็นการรองรับผลผลิต นอกจากสับไผ่แล้วยังสามารถรองรับพืชชนิดอื่นเช่นยางพารา ไม้ฟืนต่างๆที่ใช้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลก็สามารถแปรรูปได้หมด” ภาครัฐได้ดำเนินนโยบายการสนับสนุนในการปรับโครงสร้างสินค้าเกษตรระดับพื้นที่และส่งเสริมบทบาทของสหกรณ์ในการดำเนินธุรกิจรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร สนับสนุนการแปรรูปตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำจากความเห็นชอบของคนในพื้นที่อย่างไผ่เศรษฐกิจ จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจต่างๆเป็นไปอย่างรวดเร็ว และยั่งยืน เพราะการส่งเสริมพืชชนิดใหม่ไม่ได้ส่งผลกระทบในพื้นที่ แต่ยังสามารถเพิ่มรายได้ให้กับคนในพื้นที่อีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รายการ สร้างฝันเพื่อสันติสุข ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 8.30-8.55 น.