บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน (1) ที่จริงแนวคิด ยุทธศาสตร์ชาตินี้มีมานานแล้ว มีการศึกษาในสถาบันทหารมานานแล้ว จนกระทั่งมาบังเกิดผลสำเร็จในยุค คสช. โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับท้องถิ่นนั้น เพิ่งเริ่มได้คิด หรือเพิ่งจะคิดได้ แม้ตามแผนยุทธศาสตร์ชาตินั้น ไม่มี “ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น” ก็ตาม ประเด็นคือ “สมควรยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” หรือไม่ อย่างไร (2) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 65 อธิบายเรื่องยุทธศาสตร์ชาติไว้ ว่า หมายถึง “เป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ... ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้” และ ในวาระเริ่มแรกตามบทเฉพาะกาลมาตรา 275 บัญญัติให้ “ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎหมายดังกล่าวใช้บังคับ” จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงทำให้เกิดการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ตาม มาตรา 5 มาตรา 6 และบทเฉพาะกาลมาตรา 28 (4) แห่ง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 บัญญัติให้ “ยุทธศาสตร์ชาติซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่ายี่สิบปี” ซึ่งยุทธศาสตร์นั้นต้องประกอบด้วย (1) วิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ (2) เป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาว (3) ยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ (3) ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติมีทั้งหมด 6 ด้าน คือ (1) ด้านความมั่นคง (2) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน (3) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ (4) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม (5) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ (6) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ หนึ่งในแนวยุทธศาสตร์ชาติเด่นสำคัญก็คือ “ศาสตร์แห่งพระราชา” ทั้งนี้ตาม ประกาศราชกิจจานุเบกษาเรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) หรือ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 ด้วยสโลแกน “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” (4) อนึ่งนักวิชาการมีข้อสังเกตคำว่า “ Populism” หรือ “ประชานิยม” ที่เริ่มใช้คำนี้กันเมื่อปี พ.ศ. 2544 พบว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557 มาตรา 35 (7) นิยามคำว่าประชานิยมหมายถึง “การบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว” (5) หลายประเทศใช้นโยบายประชานิยมใส่ไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ เป็นที่สังเกตว่า การใช้นโยบายประชานิยมในต่างประเทศมีมานานแล้ว ในตุรกี หรือกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ได้แก่ อาร์เจนตินา ปานามา ชิลี เวเนซุเอลา นักประชานิยมคนดังเช่น มาร์กอส หรือ ดูเตร์เต แห่งฟิลิปปินส์ หรือ ปูติน แห่งรัสเซีย ยิ่งปัจจุบันนโยบายนี้ใช้ในกลุ่มประเทศประชาคมยุโรปด้วย ยุคแห่งความผันผวนเปลี่ยนแปลง Disruptive Technology (1) ความผันผวนเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีที่รวดเร็วมากตามกระแสโลกโซเชียล (Social Network) ทุกคนมิอาจปฏิเสธได้ว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทั้งในโลกชีวิตประจำวัน โลกเศรษฐกิจนั้น ทำให้คนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันถูก Disrupt ออกไป (2) การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติที่เนิ่นนานถึง 20 ปี เริ่มเกิดคำถามว่า เราจะคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคตได้อย่างไร ในเมื่อทุกอย่างได้ปรากฏให้เห็นเป็นประจักษ์ในโลกปัจจุบันแล้วว่า ทุกอย่างมันได้เปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็วแบบปีต่อปี สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจเดลิเวอรี่และธุรกิจอีคอมเมิร์ซในจีนเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนอย่างสูง รวดเร็ว และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนยุคปัจจุบัน ร้านค้าและห้างสรรพสินค้าต้องพัฒนาและเข้าช่วงชิงตลาดค้าขายแบบออนไลน์ อุตสาหกรรมต่างๆ ตระหนักและพัฒนาปรับตัวเพื่อความอยู่รอด (3) จากสถานการณ์นี้เกิดขึ้นภายในเวลาไม่ถึงปี และมิใช่เพียงวิกฤติโควิด-19 เท่านั้น ที่ผ่านมาเราประสบกับโลกยุค Disruptive Technology อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น การที่หนังสือพิมพ์หันมาเปิดเว็บไซต์นำเสนอสร้างสรรค์ข่าว แผ่นซีดี นาฬิกาปลุกตั้งโต๊ะ ตู้โทรศัพท์สาธารณะ หรือแม้แต่ปุ่มกดโทรศัพท์มือถือที่หายไป ที่กล่าวมามันยืนยันถึงความเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วของโลกยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ประสบการณ์จากต่างประเทศ (1) การวางยุทธศาสตร์ชาติในระยะยาวดังกล่าว มิใช่มีเพียงประเทศไทยเท่านั้น แต่ปรากฏให้เห็นในต่างประเทศ เช่น มาเลเซียวางแผน “Vision 2020” (30 ปี) ตั้งแต่ยุคนายกฯ มหาเธร์ ปี 1991 ญี่ปุ่น มีแผนยุทธศาสตร์การเจริญเติบโต เรียกว่า “Japan vision 2050” ประกาศใช้ในปี 2005 สิงคโปร์ มีแผนเรียกว่า “Sustainable Singapore 2030” (20 ปี) ประกาศใช้ปี 2018 เกาหลีใต้ มีแผน “Vision 2025” ประกาศใช้ปี 1999 ฝรั่งเศส มีแผนพัฒนาประเทศ 10 ปี มีข้อมูลอ้างอิงว่ายุทธศาสตร์ชาติเด่นใน 5 ประเทศ คือ จีน โปรตุเกส เอสโตเนีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น แม้แต่สหรัฐอเมริกาว่ากันว่า ก็มียุทธศาสตร์ชาติเช่นกัน (2) ในยุทธศาสตร์ชาติเชิงลบ มีผู้ยกตัวอย่างความล้มเหลวของ แผนยุทธศาสตร์ “Burmese Way to Socialist” ปี 1962 ของจอมพลเนวิน แห่งสหภาพพม่า หรือ แผนยุทธศาสตร์ ”Bolivarian Mission” ปี 2000 ของประธานาธิบดีชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา (3) อย่างไรก็ตาม ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศของแต่ละรัฐบาลทำให้เศรษฐกิจเกิดการหยุดชะงักในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนรัฐบาล และในหลายครั้งปรากฏว่า รัฐบาลเปลี่ยน นโยบายเปลี่ยน รัฐบาลใหม่มักจะไม่สานต่อนโยบายของรัฐบาลเก่า อีกทั้ง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีดังกล่าว มิได้เขียนขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ประชาธิปไตยเต็มใบ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าวเกิดในภาวะสังคมการเมืองที่ขาดความชอบธรรม อาจเกิดผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนผู้ฝักใฝ่ในประชาธิปไตยว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีดังกล่าวกลายเป็นสัญลักษณ์และมรดกของคณะรัฐประหารที่ต้องอยู่กับสังคมไทยไปอีกนานถึง 20 ปี เป็นที่วิพากษ์ของสังคมทั้งที่ก่อนหรือหลังการจัดทำยุทธศาสตร์แล้ว เช่น ข้อวิตกว่า “แผนยุทธศาสตร์ชาติดาบสองคม ผิดทิศหลงทาง กลายเป็นโซ่ตรวนล่ามชาติ หยุดพัฒนาไปอีกหลายสิบปี ชี้แผน 20 ปีนานไปไร้ยืดหยุ่นเสี่ยงถูกภาคธุรกิจครอบภาครัฐ” หรือ “แผนยุทธศาสตร์ไม่ว่าในระดับใด หากเป็นแผนระยะยาว ต้องใส่กลไกให้เป็นแผนที่มีการเรียนรู้และปรับตัว หากเป็นแผนที่แข็งทื่อตายตัว จะสร้างหายนะ” เพราะ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ควรเป็นแผนที่เรียนรู้และปรับตัว” เป็นต้น (4) ด้วยความเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วของโลกปัจจุบัน “เรามิได้ปฏิเสธยุทธศาสตร์ชาติ” แต่ยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดห้วงระยะเวลาไว้อย่างยาวนาน อาจเป็นสิ่งที่ล้าสมัยที่จะคอยเหนี่ยวรั้งการพัฒนาประเทศ เพราะ “ยุทธศาสตร์ชาติ” ถือเป็นแผนชาติประเภทหนึ่งเช่นกัน โดยเฉพาะการเขียนยุทธศาสตร์ที่ปราศจากนโยบายที่เป็นรูปธรรมออกมารองรับ (5) ตรงกันข้ามในหลายกรณียุทธศาสตร์กลับสวนทางกับยุทธศาสตร์เดิมที่วางไว้อย่างสิ้นเชิง ดังเช่น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนด “การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ” เป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนภาครัฐที่ยึดหลัก “ภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม” ซึ่งหากอ่านในยุทธศาสตร์คงเข้าใจตรงกันว่า คงมีการกำหนดนโยบายเพื่อประชาชนและสร้างความมีส่วนร่วมกับประชาชนมากขึ้น แต่ทว่าที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นนโยบาย การตั้งคณะกรรมการ และมาตรการต่างๆ กลับเอื้อให้ข้าราชการมีส่วนร่วมมากกว่าประชาชน และไม่เน้นกระจายอำนาจ แต่กลับดึงอำนาจกลับคืนสู่ส่วนกลาง มากกว่าจะมุ่งกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงเสมือนการขายฝันที่ไม่มีผลต่อการปฏิบัติ ยุทธศาสตร์นี้ เน้นความเห็นชอบจาก คสช. ที่มิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ประชาชนส่วนใหญ่มิได้มีส่วนร่วม (6) การเรียกร้องให้มีการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงมีประชาชนจำนวนมากออกมาขานรับข้อเสนอดังกล่าว อย่างน้อยก็เป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนว่า ประชาชนยังคงเลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตย ไม่สนับสนุนเผด็จการ และไม่ต้องการมรดกใดๆ จากระบอบเผด็จการไว้ดูต่างหน้าเพื่อตอกย้ำอดีตที่อัปยศอีก ข้อสังเกตของคนท้องถิ่นในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (1) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นแผนระยะยาวที่ชี้ทิศชี้ทาง ป้องกันความสับสนในการพัฒนา บอกความปรารถนาของชาติที่จะเป็นที่จะพัฒนาในช่วง 20 ปี คงมิใช่แผนโกหก (goal 6) ภายใต้บริบทไทยควรทบทวนให้บ่อยไม่สมควรยกเลิกทั้งฉบับ หาไม่แล้วการพัฒนาประเทศอาจขาดทิศทางเหมือน 80 ปีที่ผ่านมา (2) มองมุมกลับสมควรยกเลิก ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่กำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ไว้เพียง 10 ปีก็เพียงพอแล้ว เพราะเป็นยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวที่ถูกกำหนดขึ้นไว้ภายใต้ “รัฐบาลอำนาจนิยม” คสช. จุดอ่อนประการสำคัญก็คือ เป็นการริเริ่มจัดทำโดยภาคราชการ การพัฒนาอาจดีขึ้นหากไม่มีการควบคุมทิศทางในรายละเอียดไว้ เพียงเพื่อให้รัฐบาลเดินทางถูกดีกว่าการเสริมแรงม้าให้สูง การกำหนดอนาคตชาติดังกล่าวจึงไม่สง่างาม ขาดความชอบธรรมไม่เป็นประชาธิปไตย ในเรื่อง “ความชอบธรรม” (Legitimacy & Legality & The Rule of Law) ซึ่งปัจจุบันคำว่า “ความเป็นธรรม” (Equity or Fair) จะมีแนวโน้มในความหมายเดียวกับคำว่า “ความยุติธรรม” (Justice) (3) ยกตัวอย่างยุทธศาสตร์เพื่อให้เห็นภาพ แม่ค้าในตลาด คิดเพียงวันนี้ เดือนนี้ หจก.คิดเพิ่มมาอีกคือแผนปี บริษัทคิดแผนระยะยาว 5 ปี 10 ปี แต่เดิมแผนชาติ คิดไม่ต่างจาก แม่ค้าเขียงหมูในตลาด ทำให้ประเทศพัฒนาแบบไร้ทิศไร้ทาง การพัฒนาขึ้นอยู่กับนักการเมือง มีรัฐบาลแต่ละชุดก็เปลี่ยนนโยบายไปเรื่อย แทบจะตรงข้ามกันหมดกับรัฐบาลชุดก่อน สภาพัฒน์วางแผนระยะยาวไว้ ก็แทรกแซงมีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของแผน ไม่ปฏิบัติตามแผน มีการเปลี่ยนแนวทางแผนไปเรื่อยๆ ประเทศจึงไปไม่ถึงไหน (4) คุณประโยชน์และโทษมีอยู่ในสองมิติ พิมพ์เขียว (Blue Print) เป็นแผนระยะยาวต้องไม่ลงรายละเอียดมาก ไม่ผูกขาด (Monopoly & Absolutely) เพราะประชาคมโลกตามไม่ทันสังคม Disruptive โลกโซเชียล โลกยุคแห่งข่าวสาร (Unlimited Information) ออนไลน์ที่ไร้ขีดจำกัดมันถึงทั่วกันหมดไปทั่วโลกในพริบตา เรียกว่าเป็น Globalization & New world orders เหมือนๆ กันหมดในทุกซอกมุมโลก โลกดิจิทัลอาจหายไปได้ หากควอนตัมมาถึง (5) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่มีรายละเอียด ผูกขาด อาจไม่เหมาะสม จึง “ควรยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ควรกำหนดช่วงเวลาการพัฒนาใหม่ เช่น ช่วง 10 ปี หรือมีระยะเวลาการปรับยุทธศาสตร์ในระยะ 2-3 ปี มิใช่ 5-10 ปี การกำหนดห้วงระยะเวลาไว้ยาวนาน มันหมายถึงการก้าวข้ามพ้นช่วงวัย (Generation) ของคนบางกลุ่มบางรุ่นไปเลยทีเดียว อาจเกิด “Lost Generation” คือ การพัฒนาต่างๆ หยุดชะงักไปนานหลายปี มันข้ามพ้นช่วงช่วงวัยทำงานที่ดีที่สุดของคน (20-30 ปีในแต่ละช่วง Generation) จึงไม่สอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์ ไม่เป็นที่พอใจของ “คนรุ่นใหม่” (Younger Generation : Gen Y Gen Z) เพราะแผนต้องมีการเปลี่ยนไปตามสถานการณ์โลกตลอดเวลา (6) หากยุทธศาสตร์เป็นเพียงการเน้นพิธีกรรม และการประชุมจะไม่สะท้อน แก้ปัญหาใด ไม่เน้นการมีส่วนร่วมและความสำเร็จของประชาชนในส่วนรวม คือเผด็จการอย่างสำคัญ ความเพ้อฝัน ระบบขับเคลื่อนให้เป็นจริงทำไม่ได้ กลไกรัฐพิกลพิการ กลวงใน ไม่สะท้อนความเป็นจริง สร้างกรอบบังคับไว้เป็นเพียงเชิงวิชาการฝันเฟื่องลมๆ แล้งๆ ต้องเอาบริบทหรือสภาพความเป็นจริงของสังคม มาตั้งเป็นโจทย์แก้ การเขียน ที่สำคัญสังคมไทยเป็น “รัฐราชการ” ที่ราชการผูกขาดเป็นใหญ่แถมเป็น “ระบบอุปถัมภ์” มีกรอบความคิดคิดแบบยึดติดมาก เอาแค่ความหมายว่า “การปกครองท้องถิ่นคืออะไร ใครต้องมีหน้าที่อะไร” ยังไม่มีใครตอบได้ชัดเจน แล้วประชาชนชาวบ้านจะรู้อะไรได้ หวังว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีคงมิใช่ การวาดวิมานในฝัน ที่ขับเคลื่อนเป็นจริงได้ยาก เพราะขาดพลัง ขาดคุณภาพ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แถมยังกำหนดไว้ไม่ตรงตามความต้องการของประชาชน และกระแสความผันผวนของโลกโซเชียล