ดันนโยบายเด็กไทยต้องเล่นดนตรีไทยเป็นคนละ1ชนิด กระทรวงวัฒนธรรม (วธ) เตรียมหารือกับกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ก่อนประกาศนโยบายให้นักเรียนเล่นดนตรีไทยเป็นอย่างน้อยคนละ 1 ชนิดภายใน 5 ปี ด้านสังคมโซเชียลมีเดียได้แสดงไม่เห็นด้วย เพราะดนตรีไทยไม่ยอมพัฒนาตัวเองทั้งรูปแบบการเรียนรู้และเครื่องมือ บางคนอาจไม่มีเซนส์ด้านนี้เลย วันที่ 29 ส.ค.59 พล.อ.ธนศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ(กวช.) เห็นชอบแผนการดำเนินงานวัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ปีงบประมาณ 2560 จัดทำเป็นเคมเปญทางวัฒนธรรม อาทิ ส่งเสริมความเป็นเลิศทางศิลปวัฒนธรรมทั้งในและต่างประเทศ ยกย่องบุคคลด้านทางวัฒนธรรมเพื่อคัดเลือกเป็นศิลปาธร ยกย่องบูรพศิลปิน บุคคลที่ล่วงลับไปแล้วแต่ได้ทำผลงานให้กับประเทศ พล.อ.ธนศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนของวธ.ที่จะประกาศเป็นนโยบายให้นักเรียนเล่นดนตรีไทยเป็นอย่างน้อยคนละ 1 ชนิดภายใน 5 ปี เพื่อไม่ให้เครื่องดนตรีไทยสูญหาย และยังช่วยเยียวยารักษาจิตใจให้เด็กมีสมาธิและเป็นความรู้ติดตัว โดยวธ.ได้ร่วมกับสวนดุสิตโพลทำการสำรวจความคิดเห็นผู้ปกครองและบุคลากรทางการศึกษาที่มีต่อดนตรีไทย พบว่าส่วนใหญ่กว่า ร้อยละ 90 เห็นด้วยในเรื่องดังกล่าว ดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจ วธ.จะประสานงานและหารือกับกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน ทั้งครูผู้สอนและเครื่องดนตรี ก่อนประกาศเป็นนโยบายให้ทราบโดยทั่วกันในปีการศึกษา 2560 ต่อไป ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สังคมโซเชียลมีเดียได้แสดงความเห็นกรณีที่จะให้นักเรียนเล่นดนตรีไทยเป็นอย่างน้อยคนละ 1 ชนิด ไม่เห็นด้วย เพราะดนตรีไทยไม่ยอมพัฒนาตัวเอง ทั้งรูปแบบการเรียนรู้และเครื่องมือ ในขณะที่ดนตรีหลายๆ แบบมีการพัฒนาตัวเองตลอด ยังไม่รวมอีกว่าเด็กทุกคนไม่ได้เกิดมาเพื่อเรียนรู้ดนตรี บางคนอาจไม่มีเซนส์ด้านนี้เลย เพราะฉะนั้นแล้วไม่ควรเอาไปอยู่ในภาคบังคับการศึกษา. ภาพประกอบ