สวพ.6 จับมือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมทุเรียนไทย และ BayG.A.P. นำร่อง ใช้ App 2 in 1 GAP ยกระดับผู้ตรวจประเมินจีเอพี ลดขั้นตอน สะดวก รวดเร็ว เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร เมื่อวันที่ 18 พ.ย. สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6) ร่วมกับสมาคมทุเรียนไทย (TDA) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ Bay G.A.P. จัดฝึกอบรมหลักสูตร การใช้งาน “Application 2 in 1 GAP” ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตรวจรับรองแหล่งผลิตพืช GAP ของ สวพ.6 เกษตรกรและผู้สนใจ กว่า 100 คน ณ ห้องประชุมอาคารอเนกประสงค์ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 เปิดเผยว่า สวพ.6 เป็นหน่วยตรวจให้การรับรองมาตรฐาน GAP พืช ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.9001-2556 ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จะนำร่องทดลองใช้ Application 2 in 1 GAP ในการตรวจประเมินแปลง GAP ในพื้นที่รับผิดชอบ ให้กับเกษตรกรที่มีความพร้อม เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจประเมินแปลง สามารถจัดเก็บข้อมูลได้ง่ายขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสารตรวจประเมิน ผอ.สวพ.6 กล่าวเพิ่มเติมว่า Application 2 in 1 GAP เป็น Platform ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถตรวจประเมินรับรองมาตรฐาน ได้ทั้ง มาตรฐาน Q ของกรมวิชาการเกษตร และ มาตรฐาน Thai GAP ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูล และเข้าใจในระบบการรับรองมาตรฐาน เป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านสินค้าเกษตรปลอดภัย และปรับเปลี่ยนแนวทางการรับรองมาตรฐานเป็นระบบเทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้งยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ได้อย่างแม่นยำ ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทดลองใช้งาน Application 2 in 1 GAP กับเกษตรกร และผู้จัดการแปลงเกษตรของภาคเอกชน ในพื้นที่ จังหวัดนครปฐม ปทุมธานี กาญจนบุรี ลำปาง ตรัง และเชียงราย พบว่า ผู้ทดลองใช้ มีความพึงพอใจต่อระบบการใช้งาน ช่วยให้การทำงานง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่ต้องใช้เอกสารจำนวนมากในการตรวจ และยังสามารถจัดเก็บข้อมูลได้ทันทีอีกด้วยและจากการฝึกอบรมหลักสูตร การใช้งาน “Application 2 in 1 GAP” ที่ผ่านมา พบว่าผู้เข้ารับการอบรมที่เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจประเมินแปลง GAP ร้อยละ 78.3 มีความเห็นว่าควรนำ App ดังกล่าวมาใช้ในการปฏิบัติงาน เนื่องจากเป็นประโยชน์ ช่วยให้การปฏิบัติงานสะดวก รวดเร็ว ประหยัดกระดาษ และช่วยลดระยะเวลาในการจัดทำเอกสาร แต่หากนำไปใช้จริงในบางพื้นที่ อาจไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นอุปสรรคในการใช้งานดังกล่าว สำหรับเกษตรกร มีข้อเสนอว่าอยากได้ App ที่สามารถบันทึกข้อมูลการทำกิจกรรมในสวนได้ ผอ.สวพ.6 กล่าวสรุปว่า การนำร่องทดลองใช้ Application 2 in 1 GAP ในการตรวจประเมินแปลง GAP พื้นที่ภาคตะวันออก จะทำให้ทราบถึงปัญหา อุปสรรค และร่วมกันพัฒนาปรับปรุงให้ Application 2 in 1 GAP เป็นเครื่องมือสำหรับผู้ตรวจรับรองแหล่งผลิตพืช GAP พืช ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรและประเทศชาติต่อไป.