ทั้งมะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร สารพัยโรลัยเซต พบมากในส่วนไหม้เกรียม หากกินประจำเสี่ยงสุด โดยเฉพาะมะเร็งตับ-ท่อน้ำดี แนะเลือกส่วนเนื้อที่ติดมันน้อยที่สุดหรือตัดออก ใข้ถ่านเป็นก้อน ห้ามถ่านป่น หรือใช้ใบตองห่อก่อนปิ้ง นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัยเปิดเผยว่า ประชาชนที่นิยมกินอาหารปิ้งย่างหรือรมควัน หรือเมนูหมูกระทะเป็นประจำ อาจทำให้เสี่ยงได้รับสารอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ สารไนโตรซามีน (nitrosamines) พบในปลาหมึกย่าง ปลาทะเลย่าง และในเนื้อสัตว์ที่ใส่สารไนเตรท ประเภทแหนม ไส้กรอก เบคอน แฮม ที่มีสีแดงผิดปกติ ทำให้เสี่ยงสารก่อมะเร็ง ทั้งมะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร สารพัยโรลัยเซต (Pyrolysates) พบมากในส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้งย่าง สารกลุ่มนี้บางชนิดมีฤทธิ์ร้ายแรงทางพันธุกรรมมากกว่าสารอะฟลาทอกซินตั้งแต่ 6-100 เท่า และสารพีเอเอช หรือสารกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbon) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่เกิดในควันไฟ ไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ และเตาเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม โดยสารนี้จะพบในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารที่ปรุงด้วยการปิ้ง ย่าง หรือรมควันของเนื้อสัตว์ที่มีไขมันหรือมันเปลวติดอยู่ด้วย เช่น หมูย่างติดมัน เนื้อย่างติดมัน ไก่ย่างส่วนติดมัน เนื่องจากขณะปิ้งย่าง ไขมันหรือน้ำมันจะหยดไปบนเตาไฟ ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดสารพีเอเอชลอยขึ้นมาพร้อมเขม่าควันเกาะที่บริเวณผิวของอาหาร โดยสารนี้จะมีมากในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้ง ย่าง หากกินประจำจะมีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับและท่อน้ำดี จากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในปี 2557 พบว่ามะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในไทยอันดับหนึ่งคือ มะเร็งตับ และท่อน้ำดี โดยมีผู้ป่วยและเสียชีวิต 15,305 คน นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า หากทำปิ้งย่างกินเอง ควรเลือกเนื้อสัตว์เฉพาะส่วนหรือที่มีไขมันติดน้อยที่สุด หรือควรตัดส่วนที่เป็นไขมันออกไปก่อน เพื่อลดไขมันที่จะไปหยดลงบนถ่าน ถ้าต้องปิ้งย่างบนเตาถ่านธรรมดา ควรใช้ถ่านที่อัดเป็นก้อน ไม่ควรใช้ถ่านป่นละเอียด หรืออาจใช้ฟืนที่เป็นไม้เนื้อแข็ง เพราะการเผาไหม้จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ที่สำคัญควรใช้ใบตองห่ออาหารก่อนจะปิ้งย่าง เพื่อลดปริมาณไขมันจากอาหารที่หยดลงไปบนถ่าน ซึ่งจะทำให้อาหารมีกลิ่นหอมใบตอง และหลังปิ้งย่างควรหั่นส่วนที่ไหม้เกรียมออกให้มากที่สุด แต่หากกินตามร้านอาหาร เช่น ร้านหมูกระทะ ควรเลือกร้านที่ใช้ภาชนะปิ้ง ย่าง ที่สามารถลดหรือป้องกันน้ำมันหยดลงบนเตาไฟได้ เช่น ใช้เตาไฟฟ้า หรือเตาไร้ควัน ซึ่งสามารถควบคุมระดับความร้อนได้มากกว่าใช้เตาถ่าน หรือเลือกร้านที่ได้รับป้ายอาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) จากกรมอนามัย ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัย “สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวประเภทแคมป์ปิ้ง กางเต้นท์ในเขตพื้นที่อุทยาน และที่นิยมปรุงอาหารเอง โดยเฉพาะเมนูปิ้งย่าง หมูกระทะ บริเวณที่พักนั้น สิ่งที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังคือ อันตรายจากเตาไฟที่ใช้ เพราะหากเป็นกรณีใช้เตาถ่านปิ้งย่าง หลังกินเสร็จต้องมั่นใจว่ามีการดับถ่านในเตาไฟจนสนิท เพราะหากไม่ระวังอาจทำให้เกิดไฟไหม้ตามมาได้ หรือในกรณีใช้เตาไฟฟ้าก็ต้องมั่นใจว่าอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ สายไฟไม่ชำรุด เพราะอาจเสี่ยงเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้เช่นเดียวกัน”