นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรมว.คลังโพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ระบุว่า... “ข่าวเรื่องบ้านพักทหาร” มีผู้อ่านแจ้งข่าวเกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ใช้บ้านทหารเป็นที่อยู่อาศัยว่า “สำหรับบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งอยู่ในกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ หรือ ร.1 รอ. ถนนวิภาวดีรังสิต เดิมสังกัดอยู่ในกองทัพบก ต่อมามีพระราชกำหนด โอนไปเป็นหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562” ซึ่งตามกฎหมายนี้มาตรา 4 กำหนดให้การจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย” ตามข่าวดังกล่าว จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนความเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจจะไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมาย ผมตั้งข้อสังเกตว่า พระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติดังนี้ [มาตรา ๑ พระราชกำหนดน้ีเรียกว่า “พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัย รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. ๒๕๖๒” มาตรา ๒ พระราชกำหนดน้ีให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้โอนบรรดาอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรมทหารราบท่ี ๑ มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบท่ี ๑๑ มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประกาศกำหนด ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ ตามกฎหมายว่าด้วย ระเบียบบริหารราชการในพระองค์] ทั้งนี้ ถ้าหากถือว่าการโอนดังกล่าวทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย ก็ยังมีปัญหาว่า พระราชกำหนดประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 แต่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2562 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 นอกจากนี้ ก็อาจมีประเด็นถกเถียงกันได้ว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการออกพระราชกำหนดที่มีผลให้ตนเองพ้นจากผิดกฎหมายนั้น เข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอีกด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ ส่วนราชการนั้นแตกต่างจากเอกชน กรณีเอกชนสามารถทำได้ทุกสิ่งทุกอย่างเว้นแต่สิ่งที่กฎหมายห้าม แต่กลับกับสำหรับส่วนราชการ จะทำการใดได้ก็เฉพาะเท่าที่มีกฎหมายอนุญาตเท่านั้น ดังนั้น การที่กองทัพบกออกระเบียบที่ไม่มีกฎหมายรองรับ ก็ย่อมจะเข้าข่ายเป็นระเบียบที่ผิดกฎหมาย ซึ่งไม่แน่ชัดว่าพระราชกำหนดดังกล่าวจะสามารถลบล้างความผิดได้หรือไม่ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องเชิงปรัชญาทางกฎหมายที่จะเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญ และนักวิชาการสนใจติดตามกันอย่างมาก วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala (เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ) หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ