"ชวน" เผยหลัง18พ.ย.บรรจุญัตติ "ไพบูลย์" ขอส่งศาลวินิจฉัย3ร่างแก้รธน. ระบุเตรียมใช้สีพิเศษ นับโหวตส.ว.ญัตติแก้รธน.ทั้ง7ฉบับ "วิษณุ" ชี้เจตนาดี "ส.ส.-ส.ว." ยื่นตีความญัตติตั้ง"ส.ส.ร." อาจสายเกินแก้ -ประหยัดเวลา 30 วัน ดีกว่ายื่นตีความหลังทำประชามติ เชื่อไม่มีสะดุด ยันรัฐบาลหนุนร่างพรรคร่วมแก้รธน."เพื่อไทย" จวกรบ.ใช้เทคนิคกฎหมายยื้อเวลาแก้รธน. เตือนรบ.อย่าสร้างเงื่อนไขนำไปสู่ความขัดแย้ง ขณะที่"บิ๊กป้อม" เมินตอบ"ม็อบเสื้อเหลือง" ฮือล้อมรถ"ธนาธร" ด้าน"แอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์" รายงานตัวศาลแขวงดุสิต คดีร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับพวกรวม 19 คน ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 12 พ.ย.63 นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงความคืบหน้าการบรรจุญัตติของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพื่อขอให้รัฐสภา มีมติส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 ฉบับ ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิฉัยว่าขัดกฏหมายหรือไม่ว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้หารือในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ว่าต้องการประชุมไปตามปกติหรือไม่ และถ้าต้องการ ก็ต้องบรรจุระเบียบวาระไปตามเรื่องที่เข้ามาตามลำดับ แต่เนื่องจากที่ประชุม 3 ฝ่าย เห็นตรงกันว่าให้นำเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญ และย้ำกันว่า วันที่ 17-18 พ.ย. จะบรรจุเฉพาะเรื่องที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วและร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนญัตติของนายไพบูลย์และร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จะบรรจุหลังวันที่ 18 พ.ย.นี้ นายชวน ยังกล่าวถึงขั้นตอนการลงคะแนนรับหรือไม่รับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้ง 7 ฉบับว่า เพื่อความรวดเร็ว ทางเจ้าหน้าที่รัฐสภา จะกำหนดสีพิเศษ เพื่อให้เห็นว่าจำนวนของวุฒิสภาชิกมีจำนวนเท่าไร เพราะถ้านับรวมกันหมดก็จะนับยาก โดยได้ยกตัวอย่างว่า หากนับทั้งกว่า 700 กว่าคนจะแยกผลคะแนนระหว่าง ส.ส.และ ส.ว.อาจมีปัญหา จึงพยายามทำให้พิเศษเพื่อยกให้เห็นชัดเจน และเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการนับคะแนน เพราะหลังลงคะแนนเจ้าหน้าที่ต้องมานับคะแนนอีกครั้งอาจต้องใช้เวลา นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ร่วมกับ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่า ญัตติการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ตามมาตรา 256 ว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่ ในส่วนของการดำเนินการ ในสภาก็ดำเนินการ ไปตามขั้นตอนในวาระรับหลักการ ส่วนจะมีปัญหาในชั้นกรรมาธิการหรือไม่ ก็คงต้องรอว่าศาลจะตัดสินออกมาอย่างไร กรณีดังกล่าวเป็นการใช้เทคนิคของกฎหมาย เพื่อยื้อเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ไม่สมกับที่พล.อ.ประยุทธ์บอกรัฐบาลจะรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงการพูดให้ผ่านไปเท่านั้น นายสมคิด กล่าวว่า รัฐบาลต้องจริงใจกับประชาชน ไม่ควรปล่อยให้ส.ส.และส.ว.มาดำเนินการ รัฐบาลจะมาอ้างว่าสั่งไม่ได้คงไม่มีใครเชื่อ เพราะพฤติกรรมที่ผ่านมาชี้ชัดว่ารัฐบาล สามารถสั่งสมาชิกวุฒิสภาได้ ส่วนสถาน การณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นรัฐบาล ควรที่จะถอนฟืนออกจากกองไฟ แต่รัฐบาลกลับทำตรงข้ามคือ การราดน้ำมันเข้ากองไฟ ซึ่งไม่เกิดผลดีกับทุกฝ่าย "กรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคพลังประชารัฐ จะบอกว่าไม่รู้คงจะเป็นไปไมได้ เพราะสมาชิกไปลงรายมือชื่อเป็นจำนวนมาก ส่วนจะรับผิดชอบหรือไม่ คงไม่สามารถบอกได้ แต่ขอเตือนด้วยความหวังดีว่าบรรดาสมาชิกรัฐสภาที่ไปลงรายมือชื่อ ควรที่จะคิดหน้าคิดหลังให้ดี ไม่ควรที่จะสร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งของสังคมไทยอีกเลย เพราะไม่เกิดประโยชน์กับประเทศ" ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังมี ส.ส.ซีกรัฐบาลและส.ว.บางส่วนยื่นตีความว่าการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขัดรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องนี้พูดยาก เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของส.ส.ไม่ใช่ของรัฐบาล ซึ่งเดาเอาว่าอาจมีเจตนาดี เพราะไม่วันใดวันหนึ่ง ก็ต้องส่งเรื่องให้ศาลตีความอยู่แล้ว เพราะการส่งตอนนี้ อาจจะประหยัดเวลามากกว่าเพราะมันเป็นภาคบังคับถ้าออกเสียงประชามติเสร็จแล้ว อีกทั้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ระบุว่า หากมีสมาชิกรัฐสภา สงสัยมีสิทธิ์เข้าชื่อให้ศาลวินิจฉัยได้ภายใน 30 วัน ซึ่งหากส่งตอนนี้อาจจะประหยัดเวลาไป1 เดือน ถึงตอนนั้นอาจจะไม่ต้องส่งก็ได้ ดังนั้นหากมีอะไรตอนนี้ยังแก้ไขได้ทัน เป็นการกันไว้ดีกว่าแก้ ภายใต้ข้อแม้ไม่ให้สะดุดเพราะดูแล้วมันไม่สะดุดอะไรเพราะวันที่ 17-18 พ.ย. มีการโหวตวาระหนึ่ง หากผ่านก็ตั้งกมธ.ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และหากในเวลาดังกล่าวเขาส่งศาลรัฐธรรมนูญสำเร็จเรื่องก็ไปอยู่ในศาล หากศาลบอกไม่ขัดก็หมดเรื่องกระบวนการก็เดินหน้า โดยไปรอกระบวนการทำประชามติ แต่ต้องรอพ.ร.บ.ประชามติมาใช่บังคับ ซึ่งคาดว่าเป็นเดือนก.พ.ปีหน้า และยืนยันหากศาลรับเรื่องไว้กระบวนการในรัฐสภาก็ไม่หยุด เมื่อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่ว่ารัฐบาลผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่ อย่างน้อยก็ฉบับร่างของพรรคร่วมรัฐบาล แต่ตนไม่กล้าพูดถึงฉบับอื่น นายวิษณุ ยังกล่าวถึงเหตุการณ์ความวุ่นวายระหว่างที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไปรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช (อบจ.) ซึ่งมีกลุ่มคนใส่เสื้อเหลืองไปล้อมรถขัดขวางว่า ทุกคนต้องระมัดระวัง การที่ กกต.ออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นเรื่องดี เพราะทำให้หลายคนที่จะลงไปก็ไม่กล้าลงและไม่เกิดการปะทะกัน ทางที่ดีคือทุกคนควรทำตามคำแนะนำของ กกต. เมื่อถามถึงกรณีที่มีข่าวว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กำลังรวบรวมข้อมูลตรวจสอบคณะก้าวหน้า หลังมีผู้ยื่นร้องเรียนว่ามีลักษณะการเคลื่อนไหวคล้ายกับพรรคการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ว่า ถ้ากกต.กังวลเรื่องนี้ให้เขาไปจัดการเอง ซึ่งตนไม่แน่ใจว่ากกต.กังวลจริงหรือไม่ กกต.ฝ่ายเดียวเท่านั้นที่มีสิทธิ์ตัดสินใจเรื่องนี้ คนอื่นไม่มีสิทธิ์ไปกางกติกาแล้วออกมาพูด ส่วนที่มีคนไปยื่นร้องเรียนกรณีของคณะก้าวหน้าก็เป็นเรื่องของ กกต.พิจารณา เมื่อถามต่อว่า การดำเนินการในฐานะกลุ่มการเมืองกับพรรคการเมืองมีความก้ำกึ่งกันใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ยอมรับว่ามีความก้ำกึ่งกัน ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวแบบปัจเจกบุคคล แบบกลุ่ม หรือพรรคการเมือง ทั้งหมดมีความก้ำกึ่งกัน อย่างไรก็ตามอย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องของกลุ่มหรืออะไร เพราะเมื่อ กกต.บอกว่าพรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครได้ พรรคนั้นก็สามารถช่วยคนของเขาหาเสียงได้ก็ไม่แปลกอะไร เพียงแต่ยกเว้นว่าข้าราชการการเมือง และสมาชิกสภา ห้ามไปหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น เขาแค่ห้ามคน ไม่ได้ห้ามพรรค เมื่อถามถึงบางฝ่ายยังมีข้อสงสัยว่า กรณีที่พ่อเป็น ส.ส.แต่ลูกไปลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่น พ่อไม่สามารถไปช่วยลูกหาเสียงได้ รองนายกฯ กล่าวว่า ตอนลูกไปสอบไม่เห็นพ่อต้องไปช่วยลูกสอบเลย ไม่มีอะไรต้องงง เราอย่าไปหยิบเรื่องความเป็นลูกเป็นพ่อ แต่ต้องหยิบเรื่องความเป็นสมาชิกสภา หรือความเป็นรัฐมนตรีที่สามารถให้คุณให้โทษ หรือก่อให้เกิดอิทธิพลได้ เราต้องแยกหมวกให้ออก เมื่อถามอีกว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สามารถช่วยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อสม.ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อถามย้ำว่า อสม.ช่วยหาเสียงได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่ ส่วน นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานนะเลขาธิการพรรคพปชร. กล่าวว่า แต่ละท้องถิ่นมีหลายฝ่ายหลายกลุ่มที่อยู่รวมตัวกัน ซึ่งหลายกลุ่มก็ไม่ได้คิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่การบริหารเรื่องความคิดก็ควรเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่ตนเรียกร้องคือปัญหาแตกแยกทางความคิดไม่อยากให้ลุกลามบานปลาย และอยากให้แก้ปัญหากันอย่างถูกต้องหากเป็นการเมืองใหญ่ก็ต้องแก้กันที่สภาฯ เรื่องท้องถิ่นก็ต้องบริหารจัดการแก้กันในท้องที่แต่ละจังหวัดแต่ละท้องที่ ที่จะต้องบริหารจัดกากรความแตกแยกทางความคิดให้ได้ ส่วนกรณีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คิดว่าคงไม่ลุกลามและคิดว่าเป็นเรื่องการเมืองใหญ่คงไม่ใช่เรื่องของท้องถิ่น เป็นความแตกแยกทางความคิดที่บางครั้งดูแล้วสุดโต่งไปของแต่ละฝั่งที่ต่างคนต่างมีความคิดเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นที่ตนกังวลโดยเฉพาะปัญหาทางความคิดที่สุดขั้วเกินไป เป็นเรื่องที่ต้องประนีประนอมและหาข้อยุติ "ความแตกแยกทางความคิดและนำไปสู่ความรุนแรงทางพรรคพลังประชารัฐไม่เคยมีนโยบาย และไม่เคยมีความคิดเรื่องพวกนี้เลยแม้แต่นิดเดียว ไม่เคยหยิบยกเรื่องพวกนี้มาพูดคุย และไม่คิดว่าจะเป็นปัญหารุนแรงจนถึงขนาดนี้ด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดตามวิถีทางของประชาชนเองโดยไม่มีผู้นำไปแบ่งแยก แต่ความแตกแยกทางความคิดนี้อาจจะลุกลามไปทั้งประเทศ เพราะความคิดเห็นทางการเมืองใหญ่ที่แตกแยกมันเป็นประเด็นที่สำคัญมากจึงอยากให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงความผาสุขและความสงบของประชาชน จึงอยากให้ทุกฝ่ายถอยคนละก้าว และการแก้รัฐธรรมนูญก็เป็นสิ่งที่ทุกคนจะมาร่วมกันพาประเทศไปสู่การแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ ทุกฝ่ายก็พยายามทำกันอยู่แล้ว ยืนยันเรามีเจตนารมณ์ที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐพรรคร่วมรัฐบาล หรือแม้กระทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้านขออย่างเดียวอย่าตั้งแง่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการที่ทุกฝ่ายจะได้ตามที่ตัวเองต้องการทุกข้ออย่าตั้งเงื่อนไขไปถึงขนาดนั้น ผมอยากเห็นทุกฝ่ายต้องมีความพอดีที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แท้จริง ไม่ใช่กำหนดวันเวลาเพื่อมาตั้งเงื่อนไขเป็นประเด็นทางการเมืองผมไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย และขอให้เชื่อมั่นได้เลยว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่นอนไม่ใช่อะไรก็มาคิดเป็นประเด็นการเมืองแล้วบอกว่ารัฐบาลดึงเวลา " นายอนุชา กล่าว นายอนุชา กล่าวด้วยว่า แต่หากถึงเวลาแล้วไม่แก้รัฐธรรมนูญตอนนั้นค่อยมาต่อว่ารัฐบาล ทั้งนี้ตนเป็นนักการเมือง ไม่อยากให้ใครดูถูกนักการเมือง ถามว่าเวลาประชาชนดูถูกนักการเมืองตนสะท้อนใจและเสียใจจริงๆเพราะอยากเห็นการเมืองดีจริงๆ ไม่เคยคิดจะอยากเห็นการเมืองที่สังคมดูแคลนและสังคมคิดว่าการเมืองแก้ไขปัญหาไม่ได้ ดังนั้นเมื่อเราเป็นผู้แทนประชาชนเข้ามาแล้วก็อยากให้เห็นว่าเราตั้งใจแก้ปัญหาจริงๆไม่ใช่เพื่อประโยชนส่วนตัว ของพรรค หรือของหมู่คณะ ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ปฎิเสธตอบคำถามถึงกรณีที่มีกลุ่มคนเสื้อเหลืองเข้าล้อมรถที่คิดว่าเป็นของนายธนาธร พร้อมกับขึ้นรถเดินทางกลับทันที ส่วนที่ศาลแขวงดุสิต นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ "แอมมี่" เดอะบอตทอมบลูส์ พร้อมพวก รวม 19 คน ได้เดินเข้ามารายงานตัวต่อศาลแขวงดุสิต ในคดีชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา โดย นายไชยอมร กล่าวว่า ขณะนี้มีคดีที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา และเข้าสู่กระบวนการไปแล้วประมาณ 11 คดี โดยส่วนตัวพยายามที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตามกฎหมายให้แล้วเสร็จครบทุกคดี และยืนยันพร้อมที่จะเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองอย่างสันติวิธีต่อไป แต่ในส่วนของรายละเอียดกิจกรรม ต้องหารือร่วมกับแกนนำคนอื่นๆ อีกครั้ง แต่ส่วนตัวมองว่า ช่วงนี้นักเรียน นักศึกษา อยู่ระหว่างการสอบ จึงอาจมองได้ว่ายังไม่มีกิจกรรมเคลื่อนไหวใหญ่ในระยะนี้ ส่วนกรณีที่ศาลมีเงื่อนไขคำสั่งห้ามก่อความวุ่นวายฯ จากการปรึกษากับทนายความแล้ว เห็นตรงกันว่าสามารถขึ้นเวทีปราศัยในการชุมนุมได้ แต่ต้องระวังเนื้อหาไม่ให้ขัดต่อเงื่อนไขคำสั่งศาล