เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายนายปฏิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ โดยไต้เชิญตัวแทนจากสำนักงาน กกต. และอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อสอบถามความคืบหน้าการเตรียมการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือ อบจ. ที่เกิดขึ้นวันที่ 20 ธันวาคมนี้ รวมถึงถึงเหตุการณ์ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า ถูกต่อต้านระหว่างลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบจ.นครศรีธรรมราช โดยนายปฏิพัทธ์ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาโจมตีอีกฝ่าย เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ และควรกำกับดูแลให้เกิดความเรียบร้อย สร้างบรรยากาศที่ดีในการรณรงค์หาเสียง ส่วนนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ ก็สอบถามถึงกลุ่มมวลชนใส่เสื้อสีเหลือง กล่าวหานายธนาธรว่าล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นความผิดที่กล่าวหาคนอื่น จึงสอบถามไปถึง กกต. ถึงการดำเนินการและการสอบสวนหากเชื่อมโยงกับผู้สมัครฝ่ายตรงข้าม รวมถึงภาคประชาชนอย่างนายเรืองฤทธิ์ โพธิพรหม ผู้ประสานงานกลุ่ม WE Watch ก็สอบถามถึงมาตรการกรณีบุคคลเข้าไปห้ามหรือขัดขวางการหาเสียง ซึ่งควรสร้างบรรยากาศให้ทุกฝ่ายสามารถหาเสียงได้อย่างเสรี โดยแต่ละฝ่ายไม่ไปก้าวก่ายหรือขัดขวาง ส่วนนายพงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน ผู้ประสานงานมูลนิธิ Anfrel ก็สอบถามความชัดเจนว่าบุคคลที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง สามารถช่วยหาเสียงได้หรือไม่ นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รักษาการรองเลขาธิการ กกต. ชี้แจงว่า การขัดขวางการหาเสียงเลือกตั้ง หรือการทำความเข้าใจกติกา จะมีการประชุมผู้สมัครของแต่ละจังหวัด ร่วมกับ กกต. จังหวัด เพื่อทำความเข้าใจว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ ส่วนนายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ชี้แจงว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำงานอย่างเป็นกลาง มีความโปร่งใสแต่แน่นอน ส่วนการขัดขวางการหาเสียงและการนำสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้อง หากเป็นการทำนอกกรอบกฎหมาย ก็ต้องดำเนินการ อย่างไรก็ตามกรรมาธิการหลายคน อาทิ นายวิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการฯ , นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการฯ , นางสาวญาณธิชา บัวเผื่อน ส.ส.จันทบุรี พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการฯ , นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะกรรมาธิการฯ สอบถามถึงการบังคับใช้ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น มาตรา 34 ที่ห้ามข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ดำเนินการเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด ซึ่งมีปัญหาขัดแย้งกันในทางปฏิบัติ เนื่องจากเปิดทางให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครได้ อีกทั้งพฤติกรรมหลายอย่างในทางปฏิบัติ แม้ไม่ได้มีเจตนา แต่อาจถูกตีความว่ากระทำขัดต่อกฎหมาย เช่น ทักทาย ให้กำลังใจ ตลอดจากการกดไลค์ในโซเชียลมีเดีย รวมถึงความชัดเจนเกี่ยวกับบทลงโทษ โดยรักษาการรองเลขาธิการ กกต. ชี้แจงว่า มีการชี้แจงผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต. ซึ่งรายละเอียดค่อนข้างมาก ยอมรับว่ากฎหมายกำหนดไว้เข้มงวด แต่การพิจารณาการกระทำผิด ก็จะมีการลงลึกถึงรายละเอียดว่ามีเจตนาใช้ตำแหน่งหน้าที่หรือไม่ด้วย ซึ่งเบื้องต้นกฎหมายไม่ได้ระบุบทลงโทษไว้ เพียงแต่ให้ระงับยับยั้งการกระทำที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ในส่วนผู้สมัครผู้บริหารและสมาชิกสภาฯ อบจ. รวมทั้งหมด 8,521 คน อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียดและประกาศรายชื่อวันพรุ่งนี้ (13 พ.ย.63) ซึ่งขั้นตอนขณะนี้ดำเนินไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยจะประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งภายในวันที่ 24 พฤศจิกายน และต้องทำประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งแจ้งต่อเจ้าบ้าน ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 4 ธันวาคม ส่วนการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เบื้องต้นยังไม่มีกฎหมายรองรับให้องค์กรร่วมสังเกตการณ์ได้ แต่สามารถดำเนินการในฐานะประชาชนได้ แต่ไม่ให้เข้าบริเวณพื้นที่เลือกตั้ง