นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานเสวนาหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 จุดยืนของไทยในเวทีโลก” ในงาน Sharing Our Common Futur ร่วมแรง เปลี่ยนแปลง แบ่งปัน ที่จัดโดย ไทยรัฐว่า คาดเศรษฐกิจปีนี้จะติดลบ 8% แต่ผลกระทบจากโควิดขณะนี้ หากเทียบกับวิกฤติในอดีตต่างกันมาก เพราะตอนนี้กระทบตรงกล่องดวงใจคือภาคท่องเที่ยวที่มีการจ้างงานถึง 20% ทำให้ดูว่าปัญหากระทบหนัก แถมโดนซ้ำด้วยหนี้ครัวเรือนที่สูงก่อนโควิด วันนี้สูงไปอีกที่ 84% จาก 80%ก่อนหน้า ส่วนยอดตกงานแม้พูดถึง 7-8 แสนคน แต่ยังมีอีกมากที่ไม่สะท้อนข้อมูลที่แท้จริง เพราะมีคนที่ทำงานน้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อีกจำนวนมาก หากรวมจำนวนนี้เข้าไป 2 ล้านคน 2 กลุ่มนี้ แรงงานได้รับผลกระทบถึง 3 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างภายใต้ภาระหนี้สินที่เยอะ ทั้งนี้สิ่งที่จะทำให้เรามั่นใจว่าจะผ่านวิกฤติไปได้คือ มิติด้านเสถียรภาพด้านต่างประเทศ เสถียรภาพระบบการเงินที่ดีกว่าวิกฤติก่อนหน้า โดยชัดที่สุดคือ ทุนสำรองสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ ทำให้ภาพต่างกันชัดเจนกับวิกฤตปี 2540 ดังนั้นในด้านต่างประเทศจึงไม่กลัวว่าจะมีปัญหาอะไร และมิติระบบธนาคาร ปี 2540 ธนาคารมีปัญหาสารพัด แต่รอบนี้ระบบธนาคารเข้มแข็ง สภาพคล่องสูง เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) อยู่ที่กว่า 19% สูงติดอันดับ 3 ของภูมิภาค ถือว่าเข้มแข็ง และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ต่ำอยู่ที่ระดับ 3% หากเทียบกับปี 2540 ที่เอ็นพีแอลวิ่งไปถึง 40% แบะมิติด้านการคลัง หากเทียบกับอดีตยังเข็มแข็ง สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังอยู่ระดับต่ำ หากเทียบกับปี 2540 สะท้อนฐานะการคลังเข้มแข็ง และหากดูดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2-1.3% แสดงว่ากระสุนยังคงมีอยู่และสะท้อนว่าเสถียรภาพโดยรวมยังดีอยู่ โดยแม้ว่าครั้งนี้อาการจะหนัก แก้ยาก แต่เสถียรภาพโดยรวมที่ยังดี ทำให้มั่นใจว่า ปัญหารอบนี้แก้ได้ แต่ต้องใช้เวลา และต้องแก้แบบถูกจุด เพราะหากพยายามแก้แบบเหวี่ยงแหจะไปสร้างผลข้างเคียงที่ไม่ดี โดยจะไปสร้างผลข้างเคียงให้เกิดปัญหาเพิ่มเติม และทำให้การแก้ไขปัญหาลำบากขึ้น ดังนั้น ต้องแก้แบบที่ถูกต้อง ไม่ใช่เอาถูกใจ หรือแก้แบบป็อปปูลาร์โหวตเช่น การออกมาตรการของ ธปท.ในช่วงที่ผ่านมาทุกคนช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มาตรการที่ออกมาช่วงแรกจะเป็นลักษณะการปูพรม เหมาเข่ง โดยพักหนี้ (Debt Holiday) เป็นการทั่วไปเป็นเวลา 6 เดือน และมาตรการได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ดังนั้น หาก ธปท.ต่อมาตรการแบบปูพรมต่อ มองว่า ไม่ใช่วิธีที่แก้ปัญหาถูกต้อง แม้จะถูกใจ เพราะจะกลายเป็นซ้ำเติม และยิ่งสร้างปัญหา สร้างผลข้างเคียงที่ไม่ดี สำหรับตัวอย่างการพักหนี้ แม้จะดูดี แต่จริงๆไม่ได้พักจริงๆ เพราะดอกเบี้ยยังเดินอยู่ แต่จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ต้องทำ เพราะปัญหามาเร็ว แรง จึงต้องพักหนี้เหมาเข่ง แต่ปัจจุบันเริ่มมีการคลายล็อกดาวน์ กิจกรรมเศรษฐกิจเริ่มฟื้น ทำให้มีลูกหนี้บางส่วนกลับมาชำระหนี้ได้ และไม่ได้บ้าง ดังนั้นต้องแยกแยะคนชำระได้และคนชำระไม่ได้ เพราะจะทำให้เกิดแรงจูงใจให้เกิดวัฒนธรรมในการผิดนัดชำระหนี้ (Moral Hazard) จนอาจนำไปสู่การเกิดเอ็นพีแอลได้ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาอีกด้าน รวมถึงการพักหนี้แบบเหมาเข่ง จะทำให้กระแสเงินสดจากเจ้าหนี้หายไป ทำให้ความเข้มแข็งของฝั่งธนาคารกลายเป็นอ่อนแอลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี โดย ธปท.พยายามทำในสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าถูกใจ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังกล่าวว่า เศรษฐกิจวันนี้เริ่มดีขึ้น โดยดัชนีเศรษฐกิจชี้ไปในทิศทางที่ดีขึ้นเช่น ราคายางพารา ส่วนข้าวต้องรอดู ฉะนั้นกำลังซื้อภาคเกษตรและชนบทดีขึ้นแน่ๆ ซึ่งจะต้องติดตามยอดขายรถปิกอัพในระยะต่อไป โดยเหตุที่เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นมาจากการใช้จ่ายของรัฐบาลผ่านมาตรการต่างๆอย่างไรก็ตามการเติมเงินจากภาครัฐอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ จึงออกมาตรการให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายด้วย จึงเกิดมาตรการต่างๆอาทิ ชิมช้อปใช้ เราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง ทั้งนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเปิดโครงการคนละครึ่งระยะที่ 2 เพื่อกระตุ้นกำลังการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงต้นปี 2564 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน หลังจากมาตรการในระยะแรกได้รับการตอบรับจากประชาชนมีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิครบ 10 ล้านคน หลังจากที่เปิดให้ลงทะเบียนรอบเก็บตกเพิ่มเติมเมื่อวานนี้อีก 2.3 ล้านคน โดยเบื้องต้นจะโครงการคนละครึ่งเฟส 2 จะเริ่มต้นในปี 2564 ซึ่งเป็นการขยายเวลามาตรการออกไปจากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ เพื่อหวังกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงปีใหม่ ส่วนจะมีการเพิ่มสิทธิมากกว่า 10 ล้านคนหรือเพิ่มวงเงิน เพื่อนำไปใช้จ่ายมากกว่า 3,000 บาทหรือไม่จะต้องขอไปดูในรายละเอียดอีกครั้ง เพราะเกี่ยวข้องกับงบประมาณที่ใช้ แต่ยืนยันว่ามีเม็ดเงินเงินเพียงพอแน่นอน และจะสรุปได้ภายในเดือนธ.ค.63 สำหรับเม็ดเงินที่จะใช้ในโครงการคนละครึ่งเฟส 2 จะใช้เงินในส่วน พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูผลกระทบโควิด-19 จำนวน 400,000ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เหลือวงเงินที่นำมาใช้จ่ายได้ประมาณ 200,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามจะต้องทำรายละเอียดเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้พิจารณารายละเอียดก่อน