เมื่อวันที่ 11 พ.ย.63 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูหนาวตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2563 และจากการคาดหมายพบว่าช่วงเวลาที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดจะเริ่มตั้งแต่ประมาณกลางเดือนธันวาคม 2563 ถึงปลายเดือนมกราคม 2564 และสิ้นสุดประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยคาดการณ์ว่าในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวม 52 จังหวัดจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดในบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณยอดดอย ยอดภู และเทือกเขาจะมีอากาศหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ได้สั่งการไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ให้เตรียมความพร้อมรับมือภัยหนาว ดังนี้ 1.ดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ภายใต้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ทำหน้าที่ติดตามสภาวะอากาศ คาดหมายพื้นที่เสี่ยงที่มีโอกาสเกิดอาการหนาวหรือหนาวจัด การแจ้งเตือนและเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอากาศหนาวในพื้นที่ 2.ประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อซักซ้อมแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย การกำหนดแนวทาง การจัดเตรียมเครื่องกันหนาว ตลอดจนชี้แจงระเบียบหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ 3.ให้ทบทวน ปรับปรุงแผนเผชิญเหตุของจังหวัด โดยเฉพาะการสำรวจปรับปรุงข้อมูลบัญชีผู้ประสบภัยหนาวกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กไร้ผู้อุปการะ คนพิการ ทุพพลภาพ สตรีมีครรภ์ และผู้มีรายได้น้อยให้เป็นปัจจุบัน และปรับปรุงข้อมูลวัสดุอุปกรณ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 4.สร้างการรับรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพช่วงฤดูหนาวพร้อมประสานหน่วยงานด้านสาธารณสุขเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมป้องกันโรคติดต่อในช่วงฤดูหนาว และรณรงค์ขอความร่วมมือเกษตรกรใช้วิธีการไถกลบแทนการเผาตอซังและวัสดุทางการเกษตรเพื่อลดมลพิษในอากาศและปัญหาหมอกควัน 5.กำหนดมาตรการในการป้องกันการเกิดอัคคีภัยและลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปตามสถานที่ท่องเที่ยวที่มีอากาศหนาวเย็น เช่น ทัศนวิสัยจากหมอกหนา เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการจราจร และอัคคีภัยในเต็นท์ที่พักของนักท่องเที่ยว เป็นต้น โดยจัดเจ้าหน้าที่ รถยนต์ดับเพลิง รถบรรทุกน้ำ และอุปกรณ์ดับเพลิงให้มีความพร้อมปฏิบัติงานได้ทันที รมว.มหาดไทย กล่าวอีกว่า "ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุฯ ทันทีเมื่อเกิดภัย นอกจากนี้ ขอให้จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปฏิบัติตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ขาดแคลนเครื่องกันหนาวเป็นสำคัญ"