"บิ๊กตู่" ลั่นไม่ใช่ซุปเปอร์แมน ทำงานเป็นทีม ยอมรับกลัวติดคุก แต่มีบางคนไม่กลัว ด้าน"วิษณุ"ชี้"ส.ส.-ส.ว." ยื่นตีความตั้ง"สสร."ไม่กระทบแก้รธน. ย้ำส่วนตัวเห็นว่าไม่ขัด ด้าน"บิ๊กป้อม"ปราม "สิระ-ปารีณา" หลัง"นายกฯ" สั่งกำชับอย่าก้าวล่วง"ชวน" ปัดข่าวสั่งส.ส.ถอนชื่อส่งศาลตีความญัตติแก้ไขรธน. ขณะที่"ม็อบเสื้อเหลือง" ฮือล้อมรถ "ธนาธร" กลางโรงแรมหรูเมืองคอน โชคดีจนท.ตำรวจควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ก่อนบานปลาย ที่ห้องแกรนด์ดิแอทธินี โฮเทล แบงค็อก เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 11พ.ย.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานงานสัมมนาและกล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา"ภาคธุรกิจไทยในวิถียั่งยืน"ตอนหนึ่งว่า "วันนี้เราต้องเรียนรู้ออนไลน์และออฟไลน์ สิ่งที่มีประโยชน์ทุกคนต้องเปิดดูบ้าง ไม่อย่างนั้นรู้แต่ด้านเดียวแล้วตีกันไม่เลิก สิ่งที่ทำวันนี้ ถ้าเราทำอย่างรอบคอบ ทำจากการหารือ จากการเห็นชอบร่วมกัน โดยที่ไม่ต้องเรียกร้องอะไร ผมไม่อยากให้ต่างประเทศมองว่าเราเชื่อมั่นไม่ได้ เราต้องการให้เขาย้ายฐานการผลิตมาไทย แต่มีปัญหาอยู่ทุกวัน เขาจะมาไหม นี่คือสิ่งที่ตนเป็นห่วง ผมไม่ได้ห่วงที่ตัวผม เรื่องตำแหน่งอะไร แต่ผมห่วงฐานะประเทศไทยจะไปอยู่ตรงไหน ที่พูดตรงนี้ ไม่ได้พูดเพื่อให้อยู่ไปนานๆ ผมจะอยู่ถึงอายุ100 ปี หรือ อย่างไร ที่นี่มีใครอายุ 100 ปีบ้าง หลายเรื่องเอามาพันกันจนมีปัญหา ผมไม่ใช้ศัตรูของสื่อ จะรอดูพาดหัวว่าอย่างไร ผมไม่จำกัดความคิด แต่จะเขียนอะไรระวังนิด ไม่ใช่ระวังผม แต่ระวังประเทศชาติจะเกิดความวุ่นวายและมีปัญหา" นายกฯ กล่าวต่อว่า "ผมก็กลัวติดคุกเหมือนกัน หรือใครไม่กลัวบ้าง ไม่มีหรอก ยกเว้นบางคน ไม่กลัวก็มี ก็แล้วแต่ เพราะกฎหมายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันในสังคม นั่นคือกฎหมายและความเท่าเทียม เพราะทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกันไม่ว่าจะผมหรือใคร ส่วนใครบอกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ไปฟ้องร้องหรือฟื้นคดีขึ้นมาถือเป็นช่องทางตามประชาธิปไตยอยู่แล้ว ปัญหาบางอย่างมีไว้ให้แก้ มีไว้ให้ฟันฝ่าจะเห็นได้ว่าการทำงานที่ผ่านมา ผมพยายามลงไปดู ไปจี้ไปถามและมีคำสั่งในกรอบของนายกฯ ผมไปลงรายละเอียดมากไม่ได้ ให้ข้าราชการทุกคนมีสิทธิ์คิด"(รายละเอียดอ่านหน้า2) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีที่มีส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)บางส่วน ยื่นเสนอญัตติให้ตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า ขัดรัฐธรรมนูญ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าย้อนแย้ง กับการเสนอญัตติ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร. ว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลก็ประกาศความชัดเจน ในส่วนของรัฐบาลแล้ว แต่เรื่องนี้ เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา ตามข้อที่ 31 โดยใช้เสียงสมาชิกรัฐสภา 40 เสียง และให้รัฐสภา 750 คนใช้เสียงข้างมาก หากรัฐสภาเห็นชอบก็ส่งไปให้ศาลวินิจฉัย หากไม่เห็นชอบก็ไม่ต้องส่ง แต่จะส่งหรือไม่ส่ง การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เดินหน้าต่อไปได้เรื่อยๆไม่มีอะ ไรหยุดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งส.ส.ร.ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพปชร. กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์กำชับให้เตือน นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. และน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี ที่พาดพิง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ว่า ได้บอกไปแล้ว เมื่อถามว่า จะลงโทษด้วยการตัดเงินเดือนหรือไม่ พล.อ.ประวิตร ไม่ตอบคำถาม แต่เดินขึ้นไปยังห้องทำงานตึกบัญชาการทันที เมื่อถามถึงกระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์ให้พล.อ.ประวิตรไปบอกส.ส.ให้ถอนชื่อในการส่งญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พล.อ.ประวิตร ย้อนถามว่า ใครให้ถอน นายกฯ ไม่ได้บอกอะไรตน ส่วน นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะเลขาธิการพรรค พปชร. กล่าวว่า เป็นเรื่องภายในพรรค ไม่มีอะไร และได้พูดคุยกันแล้ว เมื่อถามว่าจะใช้วิธีการลงโทษโดยตัดเงินในส่วนของพรรคตามที่มีข่าวหรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า คิดว่าคงไม่ถึงขั้นนั้น ผู้สื่อข่าวถามถึงจุดยืนของพรรคพปชร.เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณา ในวันที่ 17 พ.ย.นี้ นายอนุชา กล่าวว่า พรรคยืนยันไปแล้วว่ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามที่พล.อ.ประวิตรให้นโยบายไว้ คงไม่มีประเด็นอื่นนอกเหนือไปจากนี้หรือมีอะไรเปลี่ยนแปลง เมื่อถามถึงส.ส.พรรคพปชร.ไปร่วมลงชื่อเสนอญัตติให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ เลขาฯพปชร. กล่าวว่า ถือเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคนและเราได้พูดคุยกันในพรรคแล้ว ด้าน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณีที่มีส.ส.พรรคพลังประชารัฐไปลงชื่อร่วมกับส.ว.เพื่อส่งศาลรัฐธรรม นูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ว่า ยืนยันว่ามีหน้าเดียว และที่ดำเนินการเช่นนั้นเพราะต้องการให้เกิดความชัดเจน เหมือนกับที่มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญในทำนองเดียวกันกับปี 2555 ซึ่งการดำเนินการปัจจุบันเป็นการทำคู่ขนานกันไป หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญทุกอย่างก็เดินหน้าต่อ นายวิรัช กล่าวต่อว่า ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรในวันที่ 17-18 พ.ย. การประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ยังดำเนินการต่อไปและเชื่อว่าการลงมติจะราบรื่นเพราะได้มีการประสานงานกับส.ว.จนเกิดความเข้าใจกันแล้ว เมื่อถามว่า การที่ส.ส.พรรคพลังประชารัฐเป็นทั้งผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและยื่นให้ศาลตีความถือเป็นความผิดปกติหรือไม่ นายวิรัชกล่าวว่า ถ้าใครมีชีวิตเป็นส.ส.ก็จะเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมามีหลายฝ่ายแสดงความคิดเห็นในเรื่องเหล่านี้แต่ก็เป็นเพียงความเห็นที่ไม่มีผลผูกพันธ์ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนจึงต้องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเพื่อให้เกิดผลผูกพันธ์ ยืนยันว่าไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่นเพราะหากมีเจตนาเป็นอย่างอื่นคงยื่นให้ประธานรัฐสภาโดยตรง และเรื่องคงถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แต่เราใช้ขั้นตอนของรัฐสภาเพื่อให้มีมติ อย่างไรก็ตามส่วนตัวคิดว่าแม้ในอนาคตหากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาจะไม่มีผลต่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคาดจะเสร็จก่อนกระบวนพิจารณาของรัฐสภา ส่วน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่ ส.ว. และส.ส. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ว่า เป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาที่จะดำเนินการเมื่อเห็นว่าอาจมีเรื่องที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่การดำเนินการเรื่องนี้ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองกำลังมีปัญหาความขัดแย้งของคนที่เห็นต่างในสังคม จนกำลังมีความพยายามที่จะหากลไกต่างๆ ที่เหมาะสมมาช่วยกันหาทางออกให้ประเทศ การให้มีคณะกรรมการสมานฉันท์ หรือจะมีชื่ออะไรก็ตาม เป็นเวทีให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้พูดคุยปรึกษาหารือ เพื่อหาทางออกร่วมกันอาจมีอุปสรรคมากขึ้น เพราะเป็นการเพิ่มบรรยากาศของความไม่ไว้วางใจกันมากขึ้น ทั้งๆ ที่ขณะนี้เราควรช่วยกันหาทางสร้างความไว้วางใจ ซึ่งกันและกัน เพื่อผลักดันให้ปัญหาต่างๆ ทุเลาเบาบางลง นายองอาจ กล่าวต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เคยมีประเด็นให้วิพากษ์วิจารณ์มาแล้วครั้งหนึ่งที่อยู่ดีๆ กำลังจะลงมติเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีการเสนอให้ตั้งกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการ ทำให้การลงมติต้องเลื่อนออกมาอีกเกือบ 2 เดือน การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็อาจทำให้เวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกลากยาวออกไปอีก ซึ่งเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจ ทำลายบรรยากาศของการหาทางออกให้ประเทศ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ มั่นใจในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ ส.ส. ของพรรคร่วมลงชื่อกับ ส.ส. ร่วมรัฐบาลทุกพรรคว่า เป็นไปตามขั้นตอน กระบวนการทางกฎหมาย ไม่มีอะไรขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด "พรรคประชาธิปัตย์ตั้งใจอยากเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้จริง โดยไม่ควรมีอุปสรรคใดๆ มาขัดขวางหรือถ่วงเวลา เพื่อจะได้มีรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและส่วนรวม และเป็นอีกหนึ่งกลไกของรัฐสภาที่จะช่วยนำพาหาทางออกให้ประเทศได้ จึงอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายสร้างบรรยากาศของความไว้วางใจใช้การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามวิถีทางรัฐสภาเป็นอีกหนึ่งกลไกในการหาทางออกให้ประเทศร่วมกันน่าจะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมในที่สุด" ขณะที่ นายธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงถึงกรณีส.ส.พลังประชารัฐและส.ว. ร่วมลงชื่อเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นการปิดประตูที่เราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พรรคยืนยันว่า การแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เป็นอำนาจโดยชอบของรัฐสภา และประชาชน ซึ่งการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ถือเป็นกุญแจสำคัญต่อทางออกของวิกฤตประเทศ อีกทั้งการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยกระบวนการประชาธิปไตยไม่ว่าจะผ่านรัฐสภาหรือส.ส.ร. ในอดีตเราก็เคยทำมาแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้นายไพบูลย์ และคณะ เห็นว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ว่าจะอาศัยอำนาจทางรัฐสภาหรืออำนาจของประชาชน ก็ไม่สามารถทำได้เลย เพราะขัดและแย้งต่อรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น เป็นการแช่แข็งอำนาจประชาธิปไตยของประเทศไทยให้อยู่ในระบอบสืบทอดอำนาจ โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับคสช. เป็นรัฐธรรมนูญฉบับนิรันดรที่อยู่ตลอดกาล แนวคิดของนายไพบูลย์ จึงถือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย เป็นการยืนยันว่า การทำรัฐธรรมนูญใหม่จะไม่สามารถทำได้ตามระบบรัฐสภา แต่จะเกิดขึ้นได้จากการทำรัฐประหารเท่านั้น นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐอาจจะบอกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำส่วนบุคคลไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลหรือพรรค แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่านายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นบุคคลสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคมาโดยตลอด พรรคก้าวไกลจึงขอเรียกร้องว่าแม้จะบอกว่าจะยอมผ่านวาระที่ 1 แต่การไปยื่นญัตติดังกล่าวดักรอไว้เพื่อปิดประตูการตั้งส.ส.ร. ซึ่งรัฐบาลและนายกฯ เคยแสดงท่าทีว่ายินดีพร้อมที่จะแก้รัฐธรรมนูญ ตกลงแล้วมีจุดยืนอย่างไร ที่สำคัญคือพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ที่ประกาศจุดยืนว่าจะสนับสนุนการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการมีส.ส.ร. เห็นด้วยหรือไม่กับญัตตินี้ และจะร่วมโหวตญัตติที่ให้รัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ตามที่นายไพบูลย์และคณะเสนอญัตติหรือไม่ หากญัตตินี้ผ่านจะถือเป็นการปิดประตูยุติการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น เราเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลรับผิดชอบและแสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าจะยังร่วมพายเรือให้โจรนั่งหรือไม่ หรือจะตลบแตลง แสวงหาผลประโยชน์ กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปตลอด เมื่อถามถึงกรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ แต่งตั้งภรรยาเป็นข้าราชการการเมืองเหมาะสมหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า สาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมแล้ว แต่เรื่องนี้ยังไม่หนักหนาเท่ากับคุณสมบัติของร.อ.ธรรมนัส เรื่องการค้าแป้ง วันเดียวกัน เมื่อเวลา 10.00น. ที่โรงแรมราวดี จ.นครศรีธรรมราช ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีมวลชนนับร้อยคนสวมเสื้อสีเหลืองและถือธงชาติไทย รวมตัวบริเวณทางเข้าโรงแรมหลังทราบว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า ได้เดินทางมาประชุมกับผู้เกี่ยวข้องในการรณรงค์หาเสียงให้ นายอิสระ หัสดินทร์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช ในนามคณะก้าวหน้า โดยผู้ชุมนุมได้เรียกร้องขอพบนายธนาธร เพื่อพูดคุย แต่นายธนาธรปฎิเสธ อย่างไรก็ตามภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น นายธนาธรได้ขึ้นรถยนต์ตู้สีดำฝ่ามวลชนที่แสดงความไม่พอใจและยื่นขวางรถยนต์ จนเหตุการณ์เกือบบานปลาย แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมสถานการณ์ไว้ได้จนนายธนาธรสามารถเดินทางออกจากโรงแรมไปได้