ค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า โจ ไบเดน คว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง ปธน. สหรัฐฯ คนที่ 46 และครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่กลับไม่สามารถครองเสียงข้างมากได้ในวุฒิสภา โดยจากข้อมูลล่าสุดในวันที่ 10 พ.ย. 2020 นายโจ ไบเดน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครตมีแนวโน้มที่จะชนะการเลือกตั้ง ปธน. ในครั้งนี้ หลังเอาชนะได้ในรัฐสำคัญที่มีคะแนนไม่ทิ้งห่างกันมากนัก (Swing States) อย่างมิชิแกน วิสคอนซิน และเพนซิลวาเนีย ที่มีจำนวนที่นั่งจากคณะผู้แทนเลือกตั้ง (Electoral College) รวมถึง 46 ที่นั่ง จนทำให้คะแนนทิ้งห่างทรัมป์มากขึ้น และคาดว่าพรรคเดโมแครตจะสามารถกุมเสียงข้างมากไว้ได้ในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) แต่เสียงจากวุฒิสภา (Senate) คาดว่ากลับเป็นฝ่ายพรรครีพับลิกันที่มีโอกาสครองเสียงข้างมาก ทั้งนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกตอบรับเชิงบวก หลังไบเดนพลิกกลับมาเอาชนะได้ในรัฐชี้ชะตาสำคัญ เนื่องจากนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ไบเดนจะชนะการเลือกตั้ง ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตอบรับเชิงบวก ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดมีโอกาสเปิดรับความเสี่ยง (Risk-on) และเข้าหาสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น นัยต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกจะเป็นอย่างไร? - แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวได้ไม่เท่ากับกรณี Blue Wave Victory แต่คาดว่าจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากผลการศึกษาของ Moody’s Analytics พบว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวได้มากที่สุดในกรณีที่พรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้งทุกสนามหรือที่เรียกว่า Blue Wave Victory โดยเศรษฐกิจจะขยายตัวได้น้อยลง หากพรรคเดโมแครตชนะในการเลือกตั้ง ปธน. และครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่สามารถครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา (รูปที่ 1) อย่างไรก็ดี การผลักดันนโยบายที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด นโยบายหลักของ (ว่าที่) ปธน. ไบเดน อาจถูกสกัดจากฝั่งวุฒิสภาที่รีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่ โดยมองว่า นโยบายหลักที่ต้องตราเป็นกฎหมาย เช่น นโยบายภาษีและการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานอาจถูกต่อรองจากวุฒิสภา ซึ่งจะทำให้นโยบายของไบเดนไม่สามารถดำเนินได้ทันทีตามที่ได้หาเสียงไว้ อย่างไรก็ตาม คาดว่า ว่าที่ ปธน. ไบเดน อาจใช้คำสั่ง ปธน.สหรัฐฯ หรือ Executive Order ในบางนโยบายที่จำเป็นเร่งด่วน -บรรยากาศการค้าของสหรัฐฯ กับคู่ค้ามีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้น ที่ผ่านมา การมุ่งเดินหน้าทำสงครามการค้ากับจีนของสหรัฐฯ มักเป็นไปเพื่อการตอบโต้ท่าทีของจีนโดยตรง ซึ่งมักไม่ได้ผ่านการเห็นชอบหรือการอนุมัติจากสภา แต่ยุทธศาสตร์ของไบเดนจะเป็นการทำสงครามทางอ้อมหรือเป็นการ “โอบล้อม” จีนผ่านความร่วมมือทางการค้ากับประเทศอื่นๆ เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองของสหรัฐฯ ในเวทีโลก ทำให้ในระยะข้างหน้า มองว่า ไบเดนซึ่งมีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมจะนำสหรัฐฯ กลับเข้าแข่งขันทางการค้ากับชาติอื่นๆ ให้เป็นไปอย่างเท่าเทียม (Level-playing field) และอยู่ภายใต้กฎกติกา (Rule-based) มากขึ้นกว่าสมัยที่ทรัมป์เป็น ปธน. เช่น การกลับเข้าร่วมกับองค์การการค้าโลก (WTO) (หลังจากที่ทรัมป์ขู่จะถอนตัวจากสนธิสัญญา GPA1 ภายใต้การกำกับของ WTO หลังจากที่ WTO ตัดสินให้สหรัฐฯ มีความผิดฐานเก็บภาษีนำเข้าจากจีนและละเมิดกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศหลายข้อ รวมถึงช่องโหว่ทางกฎหมายที่ทำให้สหรัฐฯ เสียเปรียบทางการค้า) นัยต่อการค้าของไทยนับจากนี้จะเป็นอย่างไร? Benefits -เราน่าจะเห็นยุทธศาสตร์การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าแบบพหุภาคี (Multilateral) รวมถึงให้ความสำคัญกับอาเซียนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน รวมไปถึงโอกาสที่สหรัฐฯ จะกลับมาทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ของไทยก็มีเพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากที่ถูกตัดสิทธิไปถึงสองครั้งในสมัยของทรัมป์ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสสูงที่สหรัฐฯ จะกลับมาสานต่อความตกลง CPTPP อีกครั้ง (หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือเดิมคือข้อตกลง TPP) ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงการส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่ที่ไทยยังไม่ได้มีข้อตกลงทางการค้าด้วย เช่น เม็กซิโกและแคนาดา เพราะเป็นแนวคิดหลักตั้งแต่สมัยที่โอบามาเป็น ปธน. และไบเดนเป็นรอง ปธน. ในการสร้างจุดยุทธศาสตร์การค้าในฝั่งเอเชียและเพิ่มแรงกดดันทางการค้ากับจีน โดยเฉพาะข้อตกลง RCEP (ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง ASEAN 10 ประเทศกับคู่ภาคี) ที่มีจีนเป็นหัวหอกหลัก ความต้องการสินค้ากลุ่ม Commodity ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช่น เหล็ก อลูมิเนียม คอนกรีต มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายไปกับการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามที่ไบเดนได้หาเสียงไว้ เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ รถไฟความเร็วสูง ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของไทย การสนับสนุนพลังงานสะอาด (Green Energy) ช่วยให้อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานทางเลือกของไทยได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย โอกาสที่นักลงทุนทั่วโลกจะโฟกัสการลงทุนในกลุ่มของพลังงานทางเลือกมีมากขึ้น รวมถึงตัวเลือกในตลาดหุ้นไทยก็มีความน่าสนใจ สะท้อนจากหุ้นใน SET Index ของไทยที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงไฟฟ้า พลังงานสะอาด และธุรกิจที่สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนที่ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นทันทีที่คะแนนของไบเดนพลิกกลับมาเอาชนะได้ในรัฐสำคัญ (เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2020) Challenges - การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยอาจได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการส่งเสริมพลังงานสะอาด ทำให้มูลค่าตลาดรถยนต์ EV ทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะลดบทบาทตลาดรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน และแน่นอนว่าจะกระทบผู้ประกอบการไทยที่เป็น Supply Chain ที่สำคัญของโลกในการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์สันดาปภายใน นอกจากนี้ การห้ามการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในดินแดนของรัฐ และเป้าหมายในการลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ (Net zero emission) ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 จะยิ่งเป็นแรงกดดันให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตของไทย แม้ว่าจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นในระยะสั้นก็ตาม - ความตกลง CPTPP อาจเพิ่มอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมเกษตรของไทย หากไทยมีความจำเป็นต้องเข้าร่วม CPTPP เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “เวียดนาม” ก็จะเป็นการเปิดช่องให้ไทยต้องนำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิกมากขึ้น เช่น กากถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมไปถึงปุ๋ย สารเคมี และยาฆ่าแมลงที่หลายประเทศส่งออกเป็นสินค้าเกษตรหลัก นอกจากนี้ ยังมีข้อบัญญัติที่สมาชิกจำเป็นต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ที่จะทำให้เกษตรกรไทยไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อได้ แต่กลับเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสามารถนำพันธุ์พืชไทยไปวิจัยและพัฒนา และสามารถจดสิทธิบัตรได้ (แม้ประเทศสมาชิกอย่างนิวซีแลนด์จะขอยืดเวลาการบังคับใช้เกณฑ์นี้ออกไป) - การส่งออกสินค้าที่พึ่งพาแรงงานเข้มข้น (Labor-intensive) อาจเป็นที่จับตามากขึ้น เช่น อาหารทะเล โดยสหรัฐฯ พุ่งเป้าไปที่ประเด็นด้านสิทธิแรงงานในภาคประมงที่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ซึ่งอาจเปิดทางไปสู่การใช้มาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ แม้ไทยมีความพยายามแก้ไขเรื่องการค้ามนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถขยับจากกลุ่ม Tier 3 ปี 2014 หรือกลุ่มที่ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำ มาเป็นกลุ่ม Tier 2 Watch list (กลุ่มที่ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำ แต่กำลังใช้ความพยายามอย่างยิ่ง) แต่ถือว่ายังไม่มีความคืบหน้าให้เห็นชัดเจนนัก - ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกถูกลดทอนลงจากเงินบาทเทียบดอลลาร์ฯ ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หากไบเดนชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ อาจสร้างแรงกดดันต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากสหรัฐฯ กดดันค่าเงินดอลลาร์ฯ ให้มีแนวโน้มอ่อนค่า กระทบค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์ฯ ให้แข็งค่าขึ้นได้ เนื่องจาก 1) ตลาดคลายความกังวลจากความไม่แน่นอน สะท้อนจากตลาดหุ้นทั่วโลกตอบรับเชิงบวกภายหลังจากไบเดนพลิกกลับมาเอาชนะได้จนมีคะแนนทิ้งห่างทรัมป์ ซึ่งจะส่งผลให้ในระยะต่อไปตลาดมีโอกาสเปิดรับความเสี่ยง (Risk-on) และเข้าหาสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ นอกจากนี้ ยังทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มคงท่าทีการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน และลดโอกาสที่จะใช้นโยบายควบคุมอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Yield Curve Control) เพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมในระยะยาว 2) แรงกดดันต่อผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นฝั่งสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น ผ่านการปรับเพิ่มอัตราภาษี เช่น การปรับขึ้นภาษีรายได้บุคคลธรรมดาที่มีรายได้สูงจาก 37% เป็น 39.6% และภาษีนิติบุคคลจาก 21% เป็น 28% รวมถึงกำหนด Minimum federal tax กับกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีอย่างชัดเจน ทำให้บริษัทจดทะเบียนมีต้นทุนด้านภาษีเพิ่มสูงขึ้นและกระทบต่อผลกำไร ซึ่งอาจทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลออกจากตลาดสหรัฐฯ เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่า