เมื่อวันที่ 11 พ.ย. เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง เป็นประธานในการประชุม ทั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา ของนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามนายกฯ กรณีการทุจริตถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ว่า กรณีนี้มีอดีตสื่อมวลชนชื่อ “เสี่ย อ.” ไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้ประมาณ 2 เดือน แล้วก็มาขายถุงมือยางให้กับ อคส.ถึง 500 ล้านกล่อง มูลค่าแสนกว่าล้านบาท ทั้งๆ ที่ อคส.นั้นมีหน้าที่ดูแลเกษตรกรและประชาชน แต่เรื่องที่ประชาชนเขาเดือดร้อนกลับไม่ทำ นอกจากนี้ การที่ อคส.จ่ายเงินมัดจำล่วงหน้าถึง 2 พันล้านบาท แต่กลับไม่มีหนังสือค้ำประกันใดๆ ให้กับ อคส.เลย แสดงว่ามีการวางแผน มีการเตรียมการ ส่อไปในทางทุจริตใช่หรือไม่ จึงอยากถามว่า สัญญาเพียง 4 หน้ากระดาษ และไม่ผ่านสำนักงานอัยการสูงสุดเลย แต่จ่ายเงินมัดจำไปแล้ว 2 พันกว่าล้านบาทนั้น ทำให้อคส.เสียหายหรือเจ๊งได้เลย นายกฯ จะจัดการเรื่องนี้อย่างไร เพราะท่านประกาศจะจัดการกับเรื่องทุจริต และอดีตรักษาการ ผอ.อคส.คงไม่สามารถทำคนเดียวได้ ต้องมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีกหลายคน ท่านปล่อยปะละเลยหรือไม่ เพราะเกิดการทุจริตมาเป็นเดือนแล้ว แต่ท่านนายกฯ ยังเฉยอยู่เลย ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้มาตอบกระทู้แทน ชี้แจงว่า ตนมีความเห็นเช่นเดียวกับนายยุทธพงศ์ ที่อดีตรักษาการผอ.อคส.ไปทำสัญญาทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจ ส่อไปในทางทุจริต ซึ่งทันทีที่ทราบเรื่องได้มีการหารือกันที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกฯ มีคำสั่งย้ายอดีตรักษาการผอ.อคส.ไปประจำสำนักนายกฯ ในทันที นี่คือสิ่งแรกที่ดำเนินการ และเป็นการพิสูจน์ว่า นายกฯ และกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการจัดการกับการทุจริต จากนั้นบอร์ดของอคส.มีการประชุมและสั่งให้ระงับโครงการ ขณะเดียวกันยังตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้น รวมถึงไปแจ้งความดำเนินคดีต่อดีเอสไอ และปปง. เพื่อขอให้ตรวจสอบและระงับเส้นทางการเงิน  พร้อมทั้งร้องทุกข์กล่าวโทษต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งทราบว่าขณะนี้ป.ป.ช.มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนแล้ว หากผลการตรวจสอบพบว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องในทางมิชอบ รัฐบาลจะดำเนินการโดยเคร่งครัดและไม่ไว้หน้าใครทั้งสิ้น นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า กรณีนี้เงิน 2 พันล้านบาทได้ออกจากอคส.ไปอยู่ที่คู่สัญญาเรียบร้อยแล้ว เงินจ่ายออกไปจนถึงขณะนี้ 2 เดือนเศษแล้ว นายกฯ จะตามเงิน 2 พันล้านบาทนี้อย่างไร จะยับยั้งอย่างไร เพราะถ้าตามเงิน 2 พันล้านบาทนี้คืนมาไม่ได้ อคส.จะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง จะเป็นหนี้ขึ้นมา 2 พันล้านบาท นอกจากนี้ คนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นได้ดำเนินการกับใครบ้าง และคืบหน้าอย่างไร นายจุรินทร์ ชี้แจงว่า เราพยายามตามเอาเงินกลับคืนมาให้กับอคส.ให้ได้ แต่โดยลำพังอคส.ไม่มีอำนาจโดยตรงในการเข้าไปตรวจสอบบัญชี เส้นทางการเงิน และสั่งระงับการดำเนินการใดๆ ได้อย่างเต็มที่ จึงจำเป็นต้องไปแจ้งต่อดีเอสไอ ถ้าดีเอสไอชี้ว่ามีมูลก็ขอให้ปปง.สั่งระงับเส้นทางการเงินได้ แต่เมื่อแจ้งต่อดีเอสไอแล้วก็ได้รับแจ้งว่า ดีเอสไอไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบอดีตรักษาการผอ.อคส. แต่เป็นหน้าที่ของปปช. เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงได้มีการไปร้องต่อปปช. และมีการระงับเส้นทางการเงินบางส่วนแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เป็นการดำเนินการภายใน จึงไม่ใช่สิ่งที่ตนจะมาแจ้งในที่ประชุมสภาฯ ให้รับทราบได้ แต่ไม่ว่าผลสอบสวนจะไปถึงใครอย่างไรนั้น จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และถือว่าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ซึ่งถ้าเป็นกรณีการทุจริต ใครที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ และอคส. พร้อมให้ความร่วมมือกับกระบวนการตรวจสอบทุกประการ นายยุทธพงศ์ กล่าวด้วยว่า วันนี้เงิน 2 พันล้านบาทยังอยู่หรือไม่ ท่านนายกฯ จริงใจกับนโยบายปราบทุจริตหรือเปล่า และกระทรวงพาณิชย์ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงระดับกระทรวงด้วยหรือไม่ นายจุรินทร์ ชี้แจงว่า เป้าหมายสูงสุดคือต้องเอาเงินคืนมาให้ได้ และใครที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาด้วย หากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจะดำเนินการทางวินัยด้วย นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการในการเรียกร้องค่าเสียหาย จะไล่เบี้ยจนกว่าจะได้เงินของอคส.กลับคืนมา ทั้งนี้ รัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะจัดการกับเรื่องนี้ หากเป็นกรณีทุจริต รัฐบาลจะไม่ละเว้นอย่างแน่นอน