ตบเท้าเข้าไปยินดีกับชัยชนะของ “โจ ไบเดน” ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่กันถ้วนหน้า สำหรับ กระแสเสียงจากผู้นำ หรือตัวแทน ของนานาประเทศ ที่ส่งตรงไปถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แห่งพรรคเดโมแครตรายนี้ ทว่า ในกระแสเสียงแห่งความยินดีกับชัยชนะข้างต้น ก็ยังมีทั้งทรรศนะ และความหวัง เป็นประการต่างๆ ที่คาดหมายว่า จะได้รับจากว่าที่ประธานาธิบดี คนที่ 46 จากสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นทรรศนะและความหวังของบรรดาผู้นำประเทศทั้งที่เป็นคู่หู พันธมิตร และชาติศัตรู คู่ปรปักษ์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคต่างๆ กันก็ตาม เริ่มจาก “อังกฤษ” ชาติพันธมิตรที่สำคัญที่สุด จนถึงขนาดถูกเปรียบเปรยยกให้เป็น “คอหอยกับลูกกระเดือก” ของสหรัฐฯ ซึ่ง “นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ” นอกจากกล่าวแสดงความยินดี ก็ยังได้แสดงความหวังออกมาว่า คงจะได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ในประเด็นที่มีความสำคัญร่วมกัน ในยุคสมัยว่าประธานาธิบดีไบเดนที่กำลังจะมีขึ้นนี้ เช่นเดียวกับ “ฝรั่งเศส” ภายใต้การนำของ “ประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง” ซึ่งในช่วงสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำสหรัฐฯ ก็เคยฟาดฝีปากกันมาหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่อง “สงครามการค้า” ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ปรับขึ้นภาษีสินค้าจากฝรั่งเศส และการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ แสดงท่าทางล้อเลียนเหตุสังหารหมู่ในฝรั่งเศส แต่จากการที่สหรัฐฯ ใกล้ที่จะมีประธานาธิบดีคนใหม่ นามว่า “โจ ไบเดน” อีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า ทางประธานาธิบดีมาครง ก็แสดงความหวังที่จะได้ร่วมมือกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ในอันที่จะพิชิตภารกิจที่กำลังท้าทายในปัจจุบัน นอกเหนือจากที่ได้กล่าวแสดงความยินดีกับนายไบเดนแล้ว ส่วนนายกรัฐมนตรีหญิงแห่งเยอรมนี “อังเกลา แมร์เคิล” ซึ่งเคยเปิดศึกวิวาทะแบบข้ามทวีปหลายครั้งหลายครากับ “นายโดนัลด์ ทรัมป์” ผู้ที่กำลังจะกลายเป็นอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไปแล้วนั้น ก็ถึงกับเอ่ยปากแสดงความยินดี พร้อมมีความหวังกับ “ไบเดน” ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ว่า ขออวยพรจากก้นบึ้งหัวใจของข้าพเจ้าเลยทีเดียวว่า ขอให้โชคดีและประสบความสำเร็จ ไม่มีสิ่งใดทดแทนมิตรภาพข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้ ถ้าหากทั้งสองฝ่าย คือ สหรัฐฯ และเยอรมนี ต้องการเอาชนะความท้าทายอันยิ่งใหญ่แห่งยุคนี้ ขณะที่ ทรรศนะของชาติคู่ปรปักษ์ที่มีต่อการผงาดขึ้นมาของนายไบเดน ก็มีผู้นำหลายชาติแสดงความคิดเห็นเอาไว้ด้วยกัน เช่น “เวเนซุเอลา” โดย “ประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร” แสดงความหวังว่า จะกลับมาคืนดีมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับสหรัฐฯ ในยุคสมัยที่นายไบเดนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ แตกต่างจาก “ตุรกี” ภายใต้การนำของ “ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิป เออร์โดกัน” ที่กำลังจับตาการขึ้นมามีอำนาจของนายไบเดนว่า จะเพิ่มดีกรีมาตรการคว่ำบาตร หรือแซงก์ชัน ทางเศรษฐกิจ ต่อตุรกี รวมถึงสนับสนุนด้านอาวุธและการทหารให้แก่ชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด ไม้เบื่อไม้เมาของตุรกี เหมือนกับสมัยประธานาธิบดีโอบามา เมื่อครั้งอดีตหรือไม่? ข้ามมาฟากภูมิภาคทวีปเอเชียเรา อย่าง “ญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ โดย “นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรี” กล่าวแสดงความหวัง หลังจากแสดงความยินดีต่อว่าที่ประธานาธิบดีไบเดนว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่น จะช่วยกันเสริมสร้างความเป็นพันธมิตร เพื่อรับประกันถึงความมีสันติภาพ เสรีภาพ และความเจริญรุ่งเรืองที่จะบังเกิดขึ้นในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในอนาคต ทางด้าน “เกาหลีใต้” อีกหนึ่งชาติพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ใน “เอเชียตะวันออก” โดย “ประธานาธิบดีมุน แจ-อิน ผู้นำเกาหลีใต้” กล่าวแสดงความยินดี และมีความหวังว่า ด้วยความเป็นพันธมิตรและความสัมพันธ์ที่แนบแน่นแข็งแกร่งดุจดังหินผาระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ จะนำมาซึ่งความร่วมมือระหว่างกันเป็นประการต่างๆ อย่างไรก็ตาม ทาง “นางคัง คยอง-ฮวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเกาหลีใต้” ที่อยู่ระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ได้แสดงความหวังเพิ่มเติมจากประธานาธิบดีมุน ต่อสหรัฐฯ ในยุคที่กำลังจะเปลี่ยนสู่สมัยของว่าที่ประธานาธิบดีไบเดนว่า หวังว่านายไบเดน จะไม่หวนกลับไปใช้ “นโยบายความอดทนหรืออดกลั้นทางยุทธศาสตร์ (Strategic Patience Policy)” ที่สมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา และมีนายไบเดน เป็นรองประธานาธิบดี มาใช้กับเกาหลีเหนือ ก่อนแนะนำว่า ว่าที่ประธานาธิบดีไบเดน ควรจะใช้นโยบายที่ตั้งอยู่บนความสำเร็จและความก้าวหน้าที่ที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ทำเอาไว้น่าจะดีกว่า ด้าน “ไต้หวัน” อีกหนึ่งชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออก นอกจากประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ผู้นำไต้หวัน ได้แสดงความยินดีต่อนายไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ แล้ว ทางผู้นำและประชาชนชาวไต้หวัน ได้ก็แสดงความวิตกกังวลออกมาต่อนโยบายของไบเดน ที่จะมีความสัมพันธ์อันดีกับจีนแผ่นดินใหญ่ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของไต้หวันได้ จากการที่จีนแผ่นดินใหญ่ หมายมั่นที่จะผนวกดินแดนไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ ตลอดช่วงที่ผ่านมา และแสดงความคิดเห็นว่า หวังว่านายไบเดน จะให้ความสำคัญกับไต้หวันยิ่งขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ของไต้หวันกับสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์แล้ว ต้องบอกว่า เป็นไปอย่างแนบแน่น เพราะจากการที่สหรัฐฯ ทั้งขายอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้ รวมถึงการจัดตั้ง “สถาบันอเมริกาในไต้หวัน” หรือ “เอไอที” (AIT : Amrican Institute in Taiwan) ในกรุงไทเป เมืองหลวงของไต้หวัน ซึ่งไม่ผิดอะไรกับการสถาปนาทางการทูตของสหรัฐฯ ลงบนเกาะไต้หวันเลยทีเดียว สร้างความโมโหโกรธาให้แก่จีนแผ่นดินใหญ่เป็นอย่างยิ่ง และเมื่อว่ากันเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในสมัยของนายไบเดน ที่มีต่อจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ปรากฏทรรศนะจากทางฟากแดนมังกรว่า มีความเป็นไปได้ที่นายไบเดน จะนำวิธี “พื้นที่กันชน” มาใช้กับจีนแผ่นดินใหญ่ หากเกิดการเผชิญหน้ากันขึ้น มิใช่การเผชิญหน้ากับแบบตรงๆ เหมือนกับสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ให้โลกต้องระทึกกันมาแล้ว