กลุ่มเยาวชน ยื่นศธ.คัดค้าน องค์กรหน้าฉากธุรกิจเหล้านอก จับมือสพฐ. จัดกิจกรรมสร้างทัศนคติการดื่มให้เด็กเยาวชนในสถานศึกษา จี้ศธ.อย่าหลงกลตกเป็นเหยื่อพ่อค้าน้ำเมา ด้านปลัดศธ.กำชับกิจกรรมต้องไม่มีอะไรแอบแฝง วันนี้(29สิงหาคม2559) เวลา10.00น. ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ พร้อมด้วย เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา และกลุ่มนักเรียน นักศึกษา จากหลายสถาบันกว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านทาง รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อคัดค้านกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ข้ามชาติ จัดกิจกรรมเข้าหาเด็กเยาวชนในโรงเรียนกว่า40 แห่ง นายธีรภัทร์ กล่าวว่า เครือข่ายฯทราบว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แถลงข่าว“เปิดตัวโครงการ Smashed วัยใสไกลแอลกอฮอล์” ร่วมกับมูลนิธิแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี (ประเทศไทย)จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าและจำหน่ายสุราต่างชาติรายใหญ่ในไทยอยู่เบื้องหลัง โดยอ้างว่าโครงการนี้ช่วยยับยั้งวัฒนธรรมการดื่มสุราของเยาวชนได้ ตั้งเป้าจะเริ่มในโรงเรียน 40 แห่งพื้นที่กทม.ซึ่งเครือข่ายฯมีข้อกังวลและมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม จึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการดังนี้ 1.ขอคัดค้านการเข้ามาจัดกิจกรรมในสถานศึกษา ของมูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ข้ามชาติ บริษัทดิอาจิโอฯอยู่เบื้องหลัง โดยอ้างการให้ความรู้ผลกระทบจากการดื่ม การดื่มอย่างรับผิดชอบมาบังหน้า แต่แฝงด้วยการสร้างความคุ้นชินและรู้สึกดีกับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้มองว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติเมื่อโตขึ้น มุ่งสู่การเป็นนักดื่มในอนาคต ยากที่เด็กนักเรียนจะเท่าทัน 2. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายที่ชัดเจน ไม่สนับสนุนให้สถานศึกษาต่างๆร่วมกิจกรรมกับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในทุกรูปแบบ รวมไปถึงองค์กรหน้าฉากที่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง 3. ขอเรียกร้องให้นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์และผู้บริหารสถานศึกษา แสดงจุดยืนต่อต้านอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงองค์กรหน้าฉากที่มุ่งทำกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนทุกรูปแบบ และ4.ขอให้บริษัทดิอาจิโอฯ ตลอดจนอุตสาหกรรมเครื่องดื่มทุกราย หยุดการทำกิจกรรมที่มุ่งเข้าหาเด็กและเยาวชนโดยสิ้นเชิง และขอให้แสดงความรับผิดชอบสังคมด้วยการปฏิบัติตามกฎหมาย หยุดแทรกแซงนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย ถ้าจะรับผิดชอบต่อสังคม ให้ไปดูแลครอบครัวของเหยื่อจากน้ำเมา ที่ตายปีละ​กว่า 2.6 หมื่นคน และพิการอีกมากมาย ซึ่งธุรกิจน้ำเมา ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบมาก่อนเลย แถมยังโยนความผิดให้ลูกค้าตนเองว่าดื่มอย่างไม่รับผิดชอบ นายธีรภัทร์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งไทยและต่างประเทศต่างพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทและตัวผลิตภัณฑ์ของตนเองทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งกิจกรรมที่ทำผ่านองค์กรหน้าฉากที่จัดตั้งขึ้นอาทิมูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นด้วยกิจกรรมหลากหลายรูปแบบและอ้างว่าคือความรับผิดชอบต่อสังคม แม้กิจกรรมต่างๆจะสอดแทรกถึงพิษภัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่บ้าง แต่นั่นเป็นเพียงเปลือกนอกที่ฉาบเอาไว้ จุดมุ่งหมายที่แท้จริงคือปลูกฝังแนวคิดให้เด็กและเยาวชนมองว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องปกติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าธรรมดาเฉกเช่นสินค้าอื่นที่มีขายตามท้องตลาดโตแล้วใครๆก็ดื่มกันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่ปัญหาแต่ปัญหาคือตัวผู้ดื่มที่ไม่รู้จักประมาณตนความผิดเกิดจากผู้ดื่มซึ่งแนวคิดนี้เป็นความจริงเพียงบางส่วนเท่านั้นแต่เลี่ยงที่จะกล่าวถึงปัจจัยสำคัญคือตัวผู้ผลิตผู้ขายมาตรการทางภาษีการจำกัดการเข้าถึงตลอดจนการควบคุมกิจกรรมทางการตลาดซึ่งทั้งหมดนี้มีงานวิจัยรองรับและพิสูจน์มาแล้วทั่วโลกว่าเป็นมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้ผลสวนทางกับสิ่งที่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และองค์กรหน้าฉากพยายามบอกเด็กและเยาวชนอย่างสิ้นเชิง “ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวนประมาณ17 ล้านคน เป็นนักดื่มเยาวชนถึง2.5ล้านคน ในส่วนที่ดื่มหนักแบบหัวราน้ำมีจำนวนเพิ่มขึ้น และที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือทุกปีจะมีนักดื่มหน้าใหม่ที่เข้าสู่วงจรนี้ปีละกว่า250,000คน เด็กและเยาวชนในสถานพินิจร้อยละ40.8ก่อคดีหลังจากการดื่มสาเหตุสำคัญของการเกิดนักดื่มหน้าใหม่ประการหนึ่งคือการทำการตลาดทั้งทางตรงและทางอ้อมของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้นั่นเอง ที่ทำให้รู้สึกว่าแอลกอฮอล์เป็นสินค้าธรรมดาที่ไม่มีพิษภัย ซึ่งตรงข้ามกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามศธ.ต้องเท่าทัน อย่าหลงกล เพราะจะตกเป็นเครื่องมือของพ่อค้าขอยืนยันว่าองค์กรเหล่านี้หวังปลูกฝังทัศนคติการดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็ก และเยาวชนแบบหยั่งรากลึก”นายธีรภัทร์ กล่าว ขณะที่ รศ.นพ.กำจร กล่าวภายหลังจากรับหนังสือว่า การห้ามไม่ให้บริษัทดังกล่าวเข้ามาจัดกิจกรรมกับโรงเรียนคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากทั้งนี้คงต้องกำชับไปยังโรงเรียน ให้เข้มงวดตรวจสอบรูปแบบของกิจกรรมว่ามีอะไรแอบแฝงหรือไม่