ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลโดยรวม อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ สภาพอากาศในปัจจุบันเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่กระตุ้นให้หมอกควันเหล่านี้ไม่กระจายออกไปเหมือนเช่นในช่วงฤดูร้อน จึงส่งผลให้ฝุ่นละออง PM 2.5 หลายจุดมีปริมาณเพิ่มขึ้น และพบฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) 24 พื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ จึงร่วมมือกับ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี โดยการผลิตต้นแบบระบบบำบัดอากาศและฝุ่นละอองพลังงานแสงอาทิตย์ STC (STC - Air Treatment Hub) ขึ้นมาเพื่อใช้ลดผลกระทบของปัญหาดังกล่าวและช่วยบรรเทาวิกฤตทางอากาศบริเวณสี่แยกท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนใช้สัญจรเดินทางจำนวนมากและมีการจราจรหนาแน่น น.ส.กรุณา ธูปเทียนหอม ผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่ กล่าวว่า การทดลองติดตั้งระบบบำบัดอากาศและฝุ่นละอองพลังงานแสงอาทิตย์ STC (STC - Air Treatment Hub) จำนวน 1 ชุด บริเวณสี่แยกท่าพระ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการทำงานในการลดปัญหาฝุ่นและมลพิษจาก PM 2.5 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรการเสริมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นและมลพิษทางอากาศ โดย สำนักงานเขตฯ ได้ติดตั้งเครื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา สำหรับ STC - Air Treatment Hub มีลักษณะเป็นตู้สูง 3.3 เมตร กว้าง 2.4 เมตร ปริมาณอากาศที่บำบัดได้ต่อชั่วโมง 1,500 ลูกบาศก์เมตร ใช้หลักการทำงานโดยบังคับให้อากาศไหลผ่านละอองน้ำ ซึ่งมีความละเอียดมากจำนวนหลายชั้นจนอนุภาคของของแข็ง ฝุ่น ผง รวมถึงกลิ่นและควัน ถูกละอองน้ำจับไว้และกลายเป็นตะกอนเหลวก่อนที่จะส่งไปยังระบบบำบัดของเหลวที่ถูกออกแบบไว้และติดตั้งอยู่ร่วมกัน น้ำสะอาดที่ถูกแยกออกโดยกระบวนการกรองและจะถูกกำจัดเชื้อต่างๆ โดยการเติมก๊าซโอโซนก่อนที่จะถูกหมุนเวียนกลับไปใช้ใหม่ ส่วนตะกอนเหลวที่ได้สามารถนำไปกำจัดโดยวิธีต่างๆ เช่น ฝังกลบ หรือใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอิฐหรือกระถางต้นไม้ หรือนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อื่นๆ ได้หลากหลายวิธี และที่สำคัญอุปกรณ์บำบัดอากาศดังกล่าวใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งได้จากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ถูกติดตั้งไว้ด้านบนที่มีกำลังไฟฟ้าที่ผลิตจากเซลล์แสงอาทิตย์ 360 วัตต์ จึงนับได้ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100 เปอร์เซ็นต์