รู้หมู่ รู้จ่า กันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แบบคาดการณ์ ที่ปรากฏว่า อดีตรองประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” วัย 78 ปี ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคเดโมแครต ได้รับชัยชนะ เพราะมีชัยในการเลือกตั้งแต่ละรัฐ จนทำให้จำนวนคณะผู้เลือกตั้ง หรืออิเล็กโทรัลโหวต เกินกว่า 270 เสียง จากจำนวนทั้งสิ้น 530 เสียง คือ เกินกึ่งหนึ่ง ที่ตามกติกาถือว่า ชนะเลือกตั้ง แม้ว่าสถานการณ์ยังเผชิญหน้ากับความวุ่นวายต่างๆ จากการชุมนุมประท้วงที่สุ่มเสี่ยงบานกลายเป็นจลาจล รวมถึงการฟ้องร้องทางศาล กันก็ตาม จนอาจทำให้เกิดความขลุกขลักล่าช้าในกระบวนการกันไปบ้าง ทว่า ถึงอย่างไรคงไม่สามารถขวางกั้นนายไบเดน เข้าสู่ “ทำเนียบขาว” ในฐานะ “ประธานาธิบดี” คนที่ 46 ของประเทศสหรัฐฯ ได้ ไม่น่ากังวลแต่ประการใด อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าวิตกกังวลยิ่งกว่าเรื่องกวนใจข้างต้น บรรดานักวิเคราะห์ ต่างแสดงทรรศนะ ชี้นิ้วฟันธงตรงกันเป็นเสียงเดียวว่า วิกฤติปัญหาต่างๆ ที่กำลังเป็นมรสุมกลุ้มรุมในสหรัฐฯ ซึ่งสืบทอดต่อเนื่องมาจากสมัย “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่กำลังจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศ ในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้านั้น น่าเป็นห่วงวิตกกังวลเสียยิ่งกว่าเป็นไหนๆ ถือเป็นโจทย์ใหญ่หลายข้อที่ทายท้า รอการแก้ไขจาก “โจ ไบเดน” ในฐานะประธานาธิบดีคนใหม่ โดยบรรดาโจทย์ใหญ่ข้างต้น ที่เหล่านักวิเคราะห์แสดงทรรศนะกันก็ได้แก่ วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ต้นปี ทว่า จนถึง ณ วินาทีนี้ สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ ในสหรัฐฯ ก็ยังคงรุนแรง จนไม่รู้ว่า การแพร่ระบาดจะยุติลงได้เมื่อไหร่ แม้ว่าถึง ณ เวลานั้น สหรัฐฯ จะมีวัคซีนแล้วก็ตาม จากการที่เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิม ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ ในสหรัฐฯ ก็ต้องบอกหนักหนาสาหัสสากรรจ์ เพราะมีจำนวนทั้งผู้ป่วยติดเชื้อ และผู้ป่วยที่เสียชีวิตมากที่สุดในโลก โดยผู้ป่วยติดเชื้อมีจำนวนสะสมมากกว่า 10 ล้านคน มากเป็นอันดับ 1 ของโลก จากจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อสะสมทั่วโลกกว่า 50 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 5 เลยทีเดียว ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวนมากกว่า 2.44 แสนคน จากจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตทั่วโลกกว่า 1.25 ล้านคน ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคร้ายที่ลุกลามอย่างต่อเนื่อง โจทย์ใหญ่อีกข้อ ซึ่งถือเป็นผลกระทบที่ตามมาจากวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะก็คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ต่อเนื่องไปจนถึงปัญหาการว่างงาน โดยปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั้น ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือติดลบ ซึ่งจากการประเมินของสำนัก สถาบันต่างๆ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เป็นต้น ออกมาเปิดเผยว่า อาจได้เห็น “จีดีพี” หรือ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ” ของสหรัฐฯ ในปีนี้ ติดลบไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 เลยทีเดียว ซึ่งถือว่าหนักหนาสาหัสสำหรับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับของโลกแห่งยุคนี้ สอดคล้องกับทรรศนะของเหล่ากูรูทางเศรษฐศาสตร์ ที่ต่างระบุว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ ตลอดช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่า ได้อัตรธานหายไปเลย ทั้งนี้ ผลพวงจากปัญหาเศรษฐกิจติดลบถดถอยดังกล่าว ก็ยังส่งผลกระทบไปถึงอัตราการจ้างงาน ที่จำต้องปลดคนออกจากไป โดยทำให้เกิดปัญหาการว่างงานของประชนชาวอเมริกันขึ้น ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้น พบว่า การขยายตัวของการจ้างงานในสหรัฐฯ ที่ดำเนินมากว่า 5 ปี มีอันต้องหยุดชะงักลงไปอย่างน่าใจหาย นอกจากเรื่องโรคระบาดและเศรษฐกิจแล้ว โจทย์ปัญหาใหญ่ที่ท้าทายประธานาธิบดีสหัฐฯ ให้แก้ไขก็คือ ปัญหาทางสังคมของผู้คนในประเทศ ที่แยกย่อยออกเป็น ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติ หรือการเหยียดสีผิว ที่ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน หรือแม้กระทั่งสมัยที่สหรัฐฯ มีประธานาธิบดีเป็นอเมริกันผิวสี คือ สมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ก็ตาม ก็ยังมีเรื่องความวุ่นวายจากการชุมนุมประท้วง หลังตำรวจผิวขาวกระทำต่อประชาชนชาวผิวสี เป็นต้น ปัญหาทางสังคมในหมู่ชาวอเมริกัน ที่ประธานาธิบดีใหม่ต้องเผชิญก็คือ จะดำเนินการอย่างไรในอันทีจะเยียวยาความแตกแยกทางความคิด ไม่ว่าจะเป็นจากกลุ่มกองเชียร์พรรครีพับลิกัน หรือแม้แต่กลุ่มที่สนับสนุนพรรคเดโมแครตของว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่เอง แถมยังมีพวกแนวคิดซ้ายจัด หรือขวาตกขอบ ที่พร้อมปะทุกลายเป็นปะทะเดือด ซึ่งกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของนายใหญ่ของทำเนียบขาวคนใหม่ว่าจะแก้โจทย์กันอย่างไรต่อไป