วันที่ 9 พ.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี​ (ครม.)​ พรุ่งนี้ (10​ พ.ย.) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะรายงานผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล 2563 (ครบ 1 ปี) ซึ่งเป็นการสำรวจและสอบถามประชาชนเกี่ยวกับนโยบายหลักของรัฐบาล โดยกลุ่มเป้าหมายคือประชาชน อายุ 18 ปี ขึ้นไปจากทั่วประเทศ 6,970 คน ระหว่างวันที่ 1-15 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยผลสำรวจมีดังนี้ 1.การติดตามข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล พบว่าประชาชนร้อยละ 78.6 ติดตามข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลจากแหล่งข้อมูลทางโทรทัศน์ มากที่สุด รองลงมาได้แก่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และไลน์ ขณะที่ประชาชนร้อยละ 21.4 ไม่ได้ติดตามข้อมูลข่าวสาร โดยให้เหตุผลว่าไม่สนใจ ไม่มีเวลา ไม่ว่าง และไม่ชอบ 2.ความพึงพอใจภาพรวมต่อการดำเนินงานของรัฐบาล พบว่าประชาชนพึงพอใจ ระดับมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 33.4 ระดับปานกลาง 48.0 นโยบายที่ประชาชนพึงพอใจมาก-มากที่สุด 5 อันดับแรก โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โครงการอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด - 6 ปี นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) และมาตรการล่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง 3.เรื่องที่ชุมชน หมู่บ้านได้รับความเดือดร้อน ได้แก่ คนในชุมชนว่างงาน ไม่มีอาชีพมั่นคง ร้อยละ29.9 สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง ค่าครองชีพสูง ร้อยละ18.7 สินค้าเกษตรราราตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ร้อยละ18.0 ภัยธรรมชาติ ร้อยละ 17.7 ปัญหายาเสพติด ร้อยละ 7.3 4.เรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือ ตามลำดับ ได้แก่ ปัญหาว่างงาน ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาแพง ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร จัดสวัสดิการของรัฐให้เพียงพอและครอบคลุมทุกพื้นที่​ 5.ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล พบว่า ประชาชนเชื่อมั่นรัฐบาล ในการแก้ปัญหาของประเทศ ระดับมาก-มากที่สุด ร้อยละ 29.8 เชื่อมั่นปานกลาง ร้อยละ 48.7 เชื่อมั่นน้อยและน้อยที่สุด ร้อยละ 18.4 ไม่เชื่อมั่นร้อยละ 3.1 ขณะที่ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้แก่ 1.รัฐบาลควรช่วยเหลือกลุ่มคนตกงาน ว่างงาน ดำเนินการเชิงรุกระดับชุมชน หมู่บ้าน เช่น จ้างงานชั่วคราว หาตลาดรองรับสินค้าของชุมชน จัดอบรมวิชาชีพ ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพมั่นคงและพึ่งพาตนเองได้ โดยเฉพาะในกลุ่มอาชีพอิสระ ที่ไม่มีสวัสดิการด้านแรงงาน เช่น เกษตรกร ค้าขายและรับจ้างทั่วไป 2.ควรช่วยเหลือประชาชนด้านค่าครองชีพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ได้แก่ ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และลดค่าสาธารณูปโภค 3. ควรช่วยเหลือเกษตรกร ในการประกอบอาชีพ เช่น แก้ปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ หาตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ พยุงราคาสินค้าเกษตร และให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรสมัยใหม่