เปิดชื่อ "72ส.ส.-ส.ว."เตะถ่วงแก้รธน.ยื่นศาลรธน.ตีความ พบ"เด็กพปชร."พรึบ ด้าน"ปธ.วิปรัฐบาล" ยันเดินหน้าลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรธน. ไม่ต้องรอศาลรธน.วินิจฉัย "วิษณุ" งง "48ส.ว." ยื่นตีความเรื่องอะไร หวั่นทำกระบวนการล่าช้า "บิ๊กตู่"บอกไม่รู้ "4 แกนนำม็อบ" ขอลี้ภัย ย้ำทุกปัญหามีทางออกเสมอถ้าทุกคนจริงใจ ส่วน "ผบ.ทบ." เตือนม็อบอย่าบุกรุก "เขตพระราชฐาน" ถามปาประทัด หากโดน "วัดพระแก้ว-ศาลหลักเมือง"ใครรับผิดชอบ ย้ำความคิด"รัฐประหาร"ยังติดลบ ส่วน"ไพบูลย์" ชี้ 10ข้อเรียกร้องกลุ่มราษฎรเป็น"ปฏิปักษ์" ต่อสถาบันฯ เหตุก้าวล่วงรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เข้าข่ายผิด ป.อาญามาตรา 116 ชี้ช่อง "ปชช."ร้องทุกข์กล่าวโทษเอาผิด "แกนนำ" ขณะที่ "คปส."ยื่นหนังสือให้กำลังใจ"นายกฯ" ปัดชวนทำรัฐประหาร แนะใช้ "กฎหมายพิเศษ" แก้วิกฤติประเทศ ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 9 พ.ย.63 นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แถลงถึงการนัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณารับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่า การประชุมอาจจะต้องมีการประชุมถึง 2 วัน คือวันที่ 17-18 พ.ย. ขณะเดียวกันก็มีประเด็นปัญหาทางเทคนิค เนื่องจากมีร่างของกลุ่มไอลอว์เข้าสู่การพิจารณา ดังนั้น นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จึงจะมีการเรียกวิป 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายค้าน รัฐบาล และส.ว. มาหารือร่วมกันเพื่อกำหนดกรอบเวลา แนวทางการพิจารณาและลงมติ ว่าต้องมีการพิจารณาร่างไอลอว์ก่อน แล้วค่อยลงมติ หรือลงมติ ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ร่าง ไปก่อน แล้วค่อยมาพิจารณาร่างของไอลอว์ รวมถึงหารือประเด็นส.ว.เข้าชื่อเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 3 ญัตติ "เชื่อว่าการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจะไม่ทำให้การพิจารณาของรัฐสภาสะดุด เพราะสามารถทำพร้อม กันได้ ส่วนที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญ ก็ส่งไปตามระบบ การพิจารณาก็เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอน มั่นใจว่าวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ จะแล้วเสร็จในวาระแรกแน่นอนและยังมั่นใจว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเสร็จสิ้น ก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณาวาระ3 และจะไม่ถือเป็นความผิดใดๆ" ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับญัตติ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ผู้เสนอญัตติคือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา พร้อมแนบรายชื่อผู้รับรองญัตติประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภา 48 คน อาทิ นายนายกิตติ วะสีนนท์ ,พล.อ.กนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ,นายสังสิต พิริยะรังสรรค์ ,นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ และส.ส.อีก 25 คน อาทิ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ,นายชัยวุฒิ ธนาคารมานุสรณ์ ,นายสายัณห์ ยุติธรรม ,นางสาวกานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส่วน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีที่ 48 สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้าชื่อเสนอญัตติต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอมติเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยแก้ไขร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ มีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ว่า ถ้ามีการยื่นตีความ ก็จะทำให้การพิจารณาของสภาล่าช้า ถ้าศาลรัฐธรรม นูญวินิจฉัยแล้วตีตกก็ไม่มีผล แต่ถ้าศาลฯรับไว้พิจารณาหรือวินิจฉัย ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ต้องไปดูรายละเอียด ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะยื่นตีความในประเด็นใด เพราะยังไม่ได้นำเข้าที่ประชุมรัฐสภา "ผมจึงนึกไม่ออกว่าจะร้องในประเด็นใด แต่ถ้าสภาพิจารณารับหลักการแล้วยื่นตีความก็สามารถทำได้ แต่กรณีนี้ ยังนึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะมาอย่างไร" ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบ ผู้ที่ประสงค์จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ได้ให้ความเห็นยืนยันแล้ว ว่าไม่กระทบต่อการพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล และร่างอื่นในรัฐสภา เพราะสามารถดำเนินการต่อไปได้ เพียงแต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะกระทบหรือไม่ก็เป็นเรื่องอนาคต สำหรับความเห็นของพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่าร่างของรัฐบาลนั้นชอบโดยรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เมื่อถามถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ในขณะนี้ ช้าไปหรือไม่สำหรับสถานการณ์บ้านเมือง รวมไปถึงความเห็นต่อกรณีที่ประธานรัฐสภาเดินสายพบองคมนตรี เพื่อให้มานั่งในคณะกรรมการชุดนี้ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ท่านมีความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง โดยประธานรัฐสภาได้รับเรื่องนี้ไปดำเนินการตามมติของที่ประชุมร่วมรัฐสภา และกำลังดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการทั้งหมดอยู่ ที่สำคัญคือได้ขอให้สถาบันพระปกเกล้าฯ ได้ช่วยสรุปรูปแบบที่เหมาะสม ซึ่งเข้าใจว่าขณะนี้เท่าที่ทราบมีอยู่ 2 รูปแบบ ซึ่งข้อสรุปจะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามต่อไป สำหรับในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ไม่ว่าจะออกมาเป็นรูปแบบไหน ก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือเพื่อที่จะให้ประเทศได้มีทางออกในการคลี่คลายสถานการณ์ต่อไป ส่วนข้อถามที่ว่า ม็อบจะเป็นเงื่อนไขต่อการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ผู้ชุมนุมไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ควรได้มีโอกาสเข้าร่วมในเวทีที่จะพูดคุยกัน ไม่ว่าจะใช้ชื่อว่าอะไรก็ตาม ถ้าขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็จะกลายเป็นว่าไม่ครบองค์ประกอบ แล้วก็จะกลายเป็นความเห็นฝ่ายเดียว หรือความเห็นไม่ครบฝ่าย ก็อาจจะไม่ได้รับการยอมรับอีก แล้วก็จะเป็นปัญหาต่อไปไม่รู้จบ วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการยุทธ ศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 3/2563 ถึงกระแสข่าว 4 แกนนำผู้ชุมนุม ขอลี้ภัยทางการเมือง ไปประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า เรื่องการลี้ภัย ยังไม่ทราบ แต่เห็นในโซเชียล ซึ่งไม่รู้ใครเขียน เมื่อถามว่า จะใช้วิธีใดในการแก้ปัญหาและสร้างความปรองดอง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนไม่ต้องไปชี้นำ ว่าต้องแก้ไขกันอย่างไร แต่เชื่อว่าทุกปัญหาย่อมมีทางออกอยู่แล้ว ถ้าหากทุกคนจริงใจ ช่วยกันคิด ทำในสิ่งที่มีความเป็นไปได้ที่เป็นไปตามขั้นตอน กลไก และกฎหมายที่มีอยู่ เพราะเราอยู่กันด้วยกฏหมาย ทุกประเทศถ้าไม่มีกฎหมายก็อยู่ไม่ได้ ประชาธิปไตยต้องมีกฎหมายเป็นหลัก เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบซึ่งกันและกัน ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ ประธานกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมทางการเมือง ประเด็นกระบวนการและขั้นตอนการควบคุมฝูงชน การออกหมายเรียกและหมายจับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล เข้าชี้แจงต่อที่ประชุม พ.ต.ต.อนันต์ จันทร์ศรี สารวัตรฝ่ายอำนวยการ 3 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ชี้แจงมาตรการดูแลผู้ชุมนุมว่าปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มติคณะรัฐมนตรี แผนรักษาความสงบชุมนุมสาธารณะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2563 และกฎหมายจราจรที่เกี่ยวข้อง ส่วนการดำเนินการออกหมายเรียกและหมายจับแกนนำผู้ชุมนุม พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปชัย รอง ผบช.น. ชี้ แจงว่า เมื่อมีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายสืบเนื่องจากการชุมนุมกองบัญชาการตำรวจนครบาลจะแต่งตั้งคณะกรรมการ สืบสวนสอบสวนขึ้น เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่จะแสวงหาได้ ทั้งภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหวคำปราศรัยของแกนนำ จากนั้นจะร่วมกันพิจารณาหากเข้าหลักเกณฑ์ความผิด จะยื่นคำร้องต่อศาลขอออกหมายจับ โดยให้ศาลพิจารณาจากพยานหลักฐานดังกล่าวว่าเพียงพอ จะออกหมายจับ หรือให้ตำรวจออกหมายเรียกก่อน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการที่แกนนำกลุ่มราษฏร เสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยมีข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบัน 10 ข้อ และได้นำขึ้นกล่าวปลุกระดมมวลชนในสถานที่ชุมนุมต่างๆ หลายแห่งนั้น ตนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฏหมายอา ญามาตรา 116 เพื่อให้ปฏิรูปสถาบัน ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าว ล้วนแต่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันทั้งสิ้น ดังนั้น การกระทำของแกนนำกลุ่มราษฎร จึงเท่ากับตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบัน มิใช่เป็นการกระทำ เพื่อปฏิรูปสถาบันอย่างที่กล่าวอ้าง "ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯทั้ง 10 ข้อ เป็นการก้าวล่วงที่ไม่บังควรกระทำ และขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และด้วยเพราะแกนนำกลุ่มราษฎร ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบัน จึงมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริตและการกระทำของแกนนำกลุ่มราษฎร ยังทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินไม่ว่าเป็น พ.ร.บ.ชุมนุม สาธารณะ หรือ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การกระทำของแกนนำกลุ่มราษฏร จึงครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116จึงเสนอข้อกฎหมายให้ประชาชนที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่อยู่ในกรุงเทพและในต่างจังหวัด 76 จังหวัด ทั่วทั้งประเทศหลายสิบล้านคน ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 4 โดยขอให้ประชาชนที่จงรักภักดีต่อสถาบันสามารถไปร้องทุกข์กล่าวโทษเอาผิดกับแกนนำผู้ชุมนุมเหล่านั้นในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116" ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถ.ราชดำเนิน พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการส่งกำลังทหารเข้าไปช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลการชุมนุมของกลุ่มราษฎร เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา ว่า เจ้าหน้าที่ที่ไป ไม่ได้ไปในลักษณะควบคุมฝูงชน เพราะอยู่นอกเครื่องแบบ แต่เจ้าหน้าที่ตรงนั้นที่เป็นข่าวไปอยู่ด้านหลังแนวตำรวจ ตนขอพูดในฐานะที่ดูแลงานด้านความมั่นคง ซึ่งสถานการณ์กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนมุ่งไปพระบรมมหาราชวัง ศาลหลักเมือง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ทั้งหมดล้วนเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะฉะนั้นมีใครรับประกันหรือรับผิดชอบได้หรือไม่ต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการเฝ้าระวังป้องกัน ส่วนทหารบริเวณนั้นอยู่หลังตำรวจหากมีมวลชนหลุดแนวตำรวจออกมาก็จะเป็นหน้าที่ของทหารที่จะต้องป้องกันแต่ในส่วนของการ์ดที่ดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมก็คุยกันแล้วว่าเป็นการชุมนุมอย่างสงบและสันติ เราพยายามไม่ให้เกิดความรุนแรง ทางกลุ่มผู้ชุมนุมและความมั่นคงได้พูดคุยกันมาตลอด "แม้การชุมนุมดังกล่าวจะผิดพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แต่เจ้าหน้าที่ก็ประนีประนอม ไม่ได้ดำเนินคดีทั้งหมด ใครที่ทำผิดกฎหมายก็จะดำเนินการเฉพาะรายบุคคล ในส่วนของการ์ดที่ดูแลรักษาความปลอดภัยต้องยอมรับว่าเขาพยายามเจรจากับตำรวจในสิ่งที่เขาอยากจะกระทำ และยืนยันชุมนุมโดยสงบ และสันติ แต่ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่ามีกลุ่มคน ผมย้ำเสมอว่าอย่าให้เกิดความรุนแรง ต้องควบคุมให้ได้ ถ้าเกิดความรุนแรงเมื่อไหร่ประเทศชาติก็จะถอยลงไปอีกที หากดูจากคลิปหรือข้อมูลต่างๆ ทหารที่ออกไปส่วนนั้นก็คือช่วยไปดูแลเจ้าหน้าที่อยู่ข้างหลัง หากมีอะไรขึ้นมาทหารจะได้ช่วยตำรวจ และประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บ แต่ทหารตรงนั้นกลับได้รับบาดเจ็บเสียเอง เพราะมีกลุ่มที่ต้องการสร้างความรุนแรง หากเจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยไป พวกที่ต้องการสร้างความรุนแรงก็เข้าไปได้ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมก็ไม่ได้สกรีนคน เราก็เห็นแล้วในคลิปว่าเขาเตรียมสิ่งของที่มีลักษณะคล้ายกับประ ทัด ที่มีไฟจุด ขว้างข้ามรถบัส ผมถามว่าหากปล่อยไปจะโดยเจตนาหรือไม่เจตนา หากปาเข้าไปในศาลหลักเมือง วัดพระแก้ว แล้วเกิดความเสียหาย ใครจะออกมายืนรับผิดชอบ แล้วความรู้สึกของคนทั้งประเทศจะเป็นอย่างไร" เมื่อถามว่า ทางทหารจะสามารถยอมรับได้ขนาดไหน หากมีการบุกรุกพื้นที่เขตพระราชฐานอีก พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวว่า เขตพระราชฐานมีลักษณะคล้ายกับบ้าน เราก็ไม่ต้องการให้ใครมาบุกรุก ทุกคนก็รักบ้านตัวเองและครอบครัวตัวเอง สิ่งที่พยายามก็คืออย่าให้เกิดความรุนแรง เพราะสถานการณ์ตอนนี้กำลังดีขึ้น จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ประเทศไทยทำได้ดี และที่ตนได้ลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมกองกำลังชายแดนก็คือไปเน้นย้ำเรื่องนี้ไม่ให้การ์ดตก เมื่อถามว่า สถานการณ์การเมืองขณะนี้ยังไม่มีทางออก พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวย้ำว่า มี ซึ่งตนจำไว้เสมอว่าการเมืองก็ต้องแก้ด้วยการเมือง หากทุกคนมีสติ และมองกระจกให้รอบด้านว่าควรจะทำอะไร เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้สั่งการให้ทหารดูแลอะไรบ้าง พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวว่า ตนได้รับคำสั่งว่าให้ดูแลตามแนวชายแดนโดยเฉพาะการป้องกันเรื่องโควิด-19 ตนก็รับคำสั่งมาตามภารกิจหน้าที่ เมื่อถามว่า ในสถานการณ์แบบนี้บทบาทของทหารควรเป็นอย่างไร พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวว่า บทบาทของทหาร ก็เป็นไปตามที่ได้ระบุไว้ ทั้งเรื่องงานชายแดน และการดูแลประชาชนที่ประสบความเดือดร้อน เมื่อถามว่า มีบางกลุ่มเรียกร้องให้ทำรัฐประหาร พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวว่า "รัฐประหารติดลบ" ส่วนที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงาน ก.พ.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (คปส.) นำโดยนายกฤตย์ เยี่ยมเมธากร เลขาธิการเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันฯ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม เพื่อให้กำลังใจและเชื่อมั่นในตัวนายกฯในการแก้ ไขปัญหาสถานการณ์ร้ายแรงตามสมควร พร้อมเสนอให้ใช้กฎหมายพิเศษในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่ไม่ได้ให้มีการรัฐประหาร จากนั้นได้เดินทางไปที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. เพื่อให้กำลังใจเช่นเดียวกับทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ทุกนาย