นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์ฺข้อความในเพจเฟซบุ๊กชื่อ Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ระบุว่า [ต้องยกเลิกอำนาจของนายกรัฐมนตรีในการรับรอง "ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน"] จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีไม่ให้คำรับรองร่างพระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่มีเนื้อหายกเลิกระบบการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ ซึ่งเสนอโดย ส.ส.พรรคอนาคตใหม่นั้น นอกจากแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการปฏิรูปกองทัพแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญไทยที่ให้ "อำนาจผูกขาด" แก่นายกรัฐมนตรีในการชี้เป็นชี้ตายร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดยสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 133 วรรคท้าย บัญญัติว่า “ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีผู้เสนอตาม (2) หรือ (3) เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน จะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคํารับรองของนายกรัฐมนตรี” ดังนั้น หากร่าง พ.ร.บ.ใดที่ถูกตีความให้เป็น "ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน" แล้ว หากนายกรัฐมนตรีไม่ให้คำรับรอง ก็ไม่มีทางที่จะได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน ต่างก็กำหนดให้การเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรีมา ก็ด้วยเหตุผลที่ว่านายกรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหารย่อมทราบถึงสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ จึงจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินหรืองบประมาณนั้นเหมาะสมหรือไม่อย่างไร อย่างไรก็ตาม การกำหนดไว้เช่นนี้ หากนายกรัฐมนตรีใช้ดุลพินิจโดยมิชอบก็จะนำมาซึ่งปัญหา กรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสนอร่างพระราชบัญญัติที่ถูกตีความว่าเป็น “ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน” แล้ว ร่างพระราชบัญญัติเหล่านั้นจะได้เข้าสู่การพิจารณาหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว หากนายกรัฐมนตรีไม่ลงนามรับรอง ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ตกไปทันที กลายเป็นว่า นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวมีอำนาจสกัดขัดขวางร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยผู้แทนประชาชนและประชาชนได้ ต่อให้คนจำนวนมากเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นั้น ต่อให้ ส.ส.จำนวนมากต้องการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นั้น แต่ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ชอบ ไม่ต้องการเสียแล้ว เขาเพียงคนเดียวก็สามารถ “คว่ำ” มันลงได้ทั้งหมด เมื่อพิจารณานิยามของ “ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน” ในมาตรา 134 ประกอบกับแนวทางการตีความที่ผ่านมาในอดีตที่ว่า หากร่างพระราชบัญญัติใดมีเนื้อหาที่ส่งผลให้ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินแล้ว ก็เข้าข่ายเป็น “ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน” ทั้งสิ้น ทำให้มีโอกาสมากที่ร่างพระราชบัญญัติในหลายเรื่องเข้านิยามของร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็แทบไม่มีโอกาสเสนอร่างพระราชบัญญัติใดเข้าสู่การพิจารณาของสภาเลย ต้องลุ้นรอ “ลายเซ็น” ของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ ระบบรัฐสภาไทย ก็จะกลายเป็นฝ่ายบริหารครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติอย่างสมบูรณ์ กฎหมายกี่ฉบับก็ล้วนแต่เป็นไปตามใจของรัฐบาลทั้งนั้น เพื่อป้องกันมิให้นายกรัฐมนตรีกลายเป็นตัวขัดขวางกฎหมายซึ่งเป็นเจตจำนงของประชาชน ผมเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรยกเลิกขั้นตอนการมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรีในร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินออกไป โดยยกเลิกมาตรา 133 วรรคท้าย มาตรา 134 และมาตรา 135 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ในส่วนของข้อกังวลที่ว่าหากไม่ให้นายกรัฐมนตรีมีคำรับรองในร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินแล้ว ก็จะเปิดโอกาสให้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากจนกระทบต่อสถานะทางการเงินการคลังของประเทศนั้น ข้อกังวลนี้ก็มีทางแก้ไขอยู่ กล่าวคือ โดยปกติแล้ว เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสนอร่างพระราชบัญญัติใดเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีก็จะเสนอร่างพระราชบัญญัติแบบเดียวกันประกบมาด้วยเสมอ และในท้ายที่สุด คณะรัฐมนตรีที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุนอยู่ ก็สามารถให้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้อยู่ดี กรณี พล.อ.ประยุทธ์ คนเพียงคนเดียว “คว่ำ” ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบบังคับนี้ เป็นตัวอย่างที่ประจักษ์ชัดอย่างยิ่งว่า เมื่อไรที่นายกรัฐมนตรีไม่ต้องการให้มีกฎหมายใด เขาก็สามารถเอาแต่ใจตนเอง ไม่ลงนามรับรองกฎหมายนั้น ขอขอบคุณข้อมูล และรูปภาพจากเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul