โผคลอดออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีนฉบับใหม่” ซึ่งถือเป็นฉบับที่ 14 ที่จีนแผ่นดินใหญ่ ได้ประกาศใช้มา อันจะมีผลบังคับใช้ตลอดระยะเวลา 5 ปีข้างหน้านี้ คือ ระหว่างปี ค.ศ. 2021 – 2025 (พ.ศ. 2564 – 2568) ภายหลังจากแกนนำระดับบิ๊กของเหล่าผู้บริหารประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ เจ้าของฉายาแดนมังกร อันกอปรด้วย ผู้แทนระดับสูงแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน จำนวน 198 คน และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ได้รับการเลือกสรร คัดเลือกแล้ว อีกจำนวน 166 คน เข้าประชุมหารือ โดยมีประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นผู้นำ ที่มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศ ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนคลอดโผเป็น “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับใหม่” ข้างต้นออกมา เมื่อช่วงสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ดี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับใหม่ดังกล่าว จะประกาศบังคับใช้ สามารถนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้ ก็ต้องผ่านการพิจารณาอนุมัติในที่ประชุมของ “สภาประชาชนแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน” ซึ่งจะมีขึ้น ณ มหาศาลาประชาชน ในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศ อีกเช่นเคย ที่จะมีขึ้นในราวต้นปีหน้าที่จะถึงนี้ ท่ามกลางความคาดหมายจากเหล่าบรรดานักวิเคราะห์ว่า การประชุมของ “สภาประชาชนแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน” ข้างต้น จะลงมติ “เห็นชอบ” อย่างเป็น “เอกฉันท์” แบบแน่นอนตามรูปแบบของระบอบการปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่ ในยุคพรรคคอมมิวนิสต์จีนครองเมือง และมีผู้นำอันทรงอิทธิพลยิ่ง อย่าง “ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง” ณ เวลานี้ รายละเอียดที่เป็นเนื้อหาสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีนฉบับใหม่ ก็มีหลายประการด้วยกัน ได้แก่ -การดำเนินกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน ให้มีตัวเลข “ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ” หรือ “จีดีพี” ให้มีอัตราขยายตัว หรือเติบโต อย่างมี “คุณภาพ” อย่างไรก็ตาม ในแผนพัฒนาฯ ข้างต้น มิได้เปิดเผยในรายละเอียด แต่เหล่านักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะว่า โลกอาจไม่ได้เห็นเศรษฐกิจของจีน ขยายตัวเติบโตแบบก้าวกระโดดเฉกเช่นแต่เก่าก่อน ที่มีตัวเลขระดับสองหลัก มานานนับทศวรรษ และระดับเกินกว่าร้อยละ 6 – 7 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่อัตราการเติบโตเริ่มชะลอตัวลง แต่นับแต่นี้ต่อไป จะได้เห็นการเติบโตที่มีคุณภาพ แบบ “ของจริง” มากขึ้น มิใช่เพียงตัวเลขลอยๆ แต่สถานการณ์เศรษฐกิจจริง ปรากฏว่า ยังมีประชาชนในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทห่างไกล ยังอยู่ในฐานะยากจน อีกเป็นจำนวนมาก โดยแผนพัฒนาฯ ประเด็นนี้ ทางการปักกิ่ง ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีเป้าประสงค์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผลักดันให้ “จีดีพี” ต่อคน หรือต่อรายหัวของประชาชนชาวจีน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจนเท่าเทียมกับประชากรของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ภายในปี ค.ศ. 2035 (พ.ศ. 2578) ตามหมุดหมายของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ให้จงได้ -การปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ระหว่างประชาชนในเขตเมืองกับประชาชนในชนบทห่างไกล ประชาชนในเขตเมืองใหญ่กับประชาชนในเขตเมืองเล็ก ทั้งนี้ มีตัวเลขของทางการปักกิ่ง ระบุว่า ยังมีประชาชนชาวจีนที่ยังมีฐานะยากจน อยู่ประมาณกว่า 56 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับสถานภาพของประชาชนในเขตเมืองใหญ่ โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญของการปฏิรูปเศรษฐกิจจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ข้างต้น ก็คือ การปฏิรูปที่ดิน ซึ่งมีรายงานออกมาว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ให้ความสำคัญต่อแผนการดังกล่าว -การพัฒนาเทคโนโลยีแบบพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ คือ สหรัฐฯ และบรรดาชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ให้ได้มากที่สุด โดยในแผนพัฒนาฯ ประเด็นนี้ ได้มีการหยิบยกข้อพิพาทขัดแย้งกับสหรัฐฯ เรื่องเทคโนโลยี ในช่วงหลายขวบปีที่ผ่านมา ขึ้นมาพิจารณา ก่อนร่างเป็นแผนพัฒนาฯ มาบังคับใช้ ทั้งนี้ เทคโนโลยีที่จีนแผ่นดินใหญ่ หมายมั่นปั้นมือว่า จะพัฒนาจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ก็คือ เทคโนโลยีด้าน “สารกึ่งตัวนำ” หรือ “เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor)” ถูกยกให้เป็นหมุดหมายสำคัญของจีนในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีข้างต้น ในแผนพัฒนาฯ ฉบับใหม่ดังกล่าว ทางการปักกิ่ง ก็ยังตั้งเป้าพัฒนาด้านทรัพย์สินทางปัญญากับนวัตกรรมต่างๆ ที่จีนแผ่นดินใหญ่ ประดิษฐ์และพัฒนาขึ้นมาเองด้วย โดยใช้เมืองเซินเจิ้น ตลอดจนเมืองต่างๆ ที่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล รวมถึงฮ่องกง เป็นเมืองระดับศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นครเซินเจิ้น ถูกหมายมั่นปั้นมือว่า จะให้เป็น “ฮับ” ของ “เทคโนโลยีโลก” เลยทีเดียว -ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในส่วนที่ขัดแย้งกับต่างประเทศ ซึ่งในที่นี้หมายถึง สหรัฐฯ นั้น ตามแผนพัฒนาฯ ฉบับใหม่นี้ ทางการปักกิ่ง จะแยกเศรษฐกิจกับความขัดแย้งข้างต้น เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลก โดยจีนจะยังคงความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในลักษณะที่ต่างฝ่าย ต่างผลประโยชน์ หรือ” “วิน-วิน (Win – Win)” ให้มากขึ้นกว่าเดิม -ส่วนประเด็นเรื่องไต้หวัน แผนพัฒนาฯ ฉบับใหม่นี้ มุ่งเน้นที่จะดำเนินการรวมชาติกันแบบสันติ ขณะที่ ทางด้านสิ่งแวดล้อม ตามแผนพัฒนาฯ ฉบับใหม่ ก็จะใส่ใจในเรื่องการลดภาวะโลกร้อน ตามทางการจีนของพวกเขาได้รับปากให้คำมั่นในเวทีโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บนเวที “สหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็น” ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อให้สมกับสถานภาพมหาอำนาจแถวหน้าของโลก ที่พร้อมจะก้าวขึ้นแท่นเป็นหมายเลขหนึ่งในอนาคต