ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ขณะเขียนบทความนี้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดียังไม่อาจสรุปได้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์จากพรรคริพับลิกัน และผู้ท้าชิงคือ โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต แต่เท่าที่ติดตามพบว่าผลจะออกมาแบบว่าชนะกันไม่มาก และอาจต้องรอผลถึงวันที่ 13 พฤศจิกายนก็ได้ เพราะรัฐที่จะเป็นตัวตัดสินผลแพ้ชนะรัฐหนึ่ง คือเพนชิลวาเนีย จะเปิดรับการลงคะแนนที่ส่งมาจนครบตามกำหนด จึงจะเปิดนับคะแนนต่อ ซึ่งเป็นที่คาดกันว่าคะแนนทางไปรษณีย์นี้ส่วนใหญ่จะเป็นพวกพรรคเดโมแครตที่เลือกไบเดน ในกรณีนี้ทรัมป์เริ่มออกมาโวยแล้วว่าจะถูกโกงเลือกตั้ง และอาจขอให้ศาลสูงชี้ขาดว่าการนับผลคะแนนทางไปรษณีย์ด้วยนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งทรัมป์มั่นใจว่าจะชนะในศาลเพราะผู้พิพากษาศาลสูงของรีพับลิกันมีจำนวน 6-4 ทั้งนี้ทรัมป์อาจใช้วิธีการให้หยุดนับคะแนนทางไปรษณีย์ก่อนผลจะสิ้นสุดก็ได้ นั่นจะเป็นชนวนให้เกิดการลุกฮือของฝ่ายเดโมแครต โดยเฉพาะกลุ่มหัวรุนแรงอย่าง Antifa และ BLM ซึ่งเคยก่อการจลาจลมาแล้ว เริ่มจากการที่ตำรวจยิงคนผิวดำตายโดยไม่มีเหตุอันควร หรือการจับผู้ต้องหาผิวดำโดยใช้เข่ากดคอจนขาดใจตาย อย่างจอร์ช ฟลอย ในอีกด้านหนึ่งหากมีการนับคะแนนจนจบและพบว่าทรัมป์แพ้อย่างหวุดหวิด ฝ่ายขวาหัวรุนแรงเช่นกองกำลังติดอาวุธ Proud Boy หรือกลุ่มขวาสุดโต่งอื่นๆเช่น พวก Neo Nazi ก็จะก่อจลาจล ไม่ว่าจะเกิดจากเหตุอะไรดังกล่าว แนวโน้มของการใช้ความรุนแรงปะทะกันของสองฝ่ายจนเป็นสงครามกลางเมืองก็มีโอกาสเกิดได้สูง ใครก็ตามที่ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีก็จะต้องใช้กองกำลังปกป้องมาตุภูมิ (National Guard) ออกมาปราบจลาจล ด้วยเหตุการณ์ทั้งหลายที่ได้กำหนดเป็นภาพทัศน์นั่น จะทำให้ประธานาธิบดีหลังเลือกตั้ง ต้องมัวแต่จัดการกับภาวะการณ์จราจลในประเทศจนกว่าจะสงบ ซึ่งทำให้ยังไม่มีเวลาไปดำเนินนโยบายระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามการประเมินสถานการณ์ดังกล่าวก็มิได้ทำให้ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดกับประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่อาจล่าช้าไปเท่านั้น ตอนนี้ก็ได้แต่จับตาดู โดยเฉพาะก่อนเพนซิลวาเนีย ผลการเลือกตั้งของรัฐมิชิแกน และวิสคอนซิล จะเป็นตัวชี้วัดทิศทางที่ค่อนข้างชัดเจน หันมาพิจารณาผลกระทบที่เกิดกับประเทศไทย ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างจากผลการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ประการแรก มาพิจารณาในแง่จุดยุทธศาสตร์ทางทหาร จะพบว่าสหรัฐฯให้ความสำคัญต่อไทยน้อยมาก ดังจะเห็นว่าบุคคลระดับนำไม่เคยย่างกรายมาไทยเลย นอกจากที่รมต.ต่างประเทศสมัยทรัมป์มาเยือนเพียงครั้งเดียว ทั้งนี้เพราะสหรัฐฯมองว่าประเทศไทยนั้นได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนในระดับสูง และอีกไม่นานก็คงกลายสภาพไปไม่ต่างจากสปป.ลาว และกัมพูชา สหรัฐฯได้ปรับเปลี่ยนนโยบายสมัยทรัมป์ที่จะตั้องแนวปิดล้อมจีน ตามแนวประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไต้หวันและเกาหลีใต้ หากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัยก็คงใช้แนวนี้ตามยุทธศาสตร์ Indo-Pacific แต่ถ้าไบเดน ได้เป็นประธานาธิบดีหลายฝ่ายคาดว่าไบเดนจะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของโอบามา นั้นคือตั้งแนวล้อมจีนรอบมหาสมุทรแปซิฟิค แต่นั้นต้องใช้ทุนมหาศาล เพราะสหรัฐฯต้องยอมลดหย่อนภาษีให้กับประเทศสมาชิกเพื่อจูงใจให้ร่วมเป็นภาคี นั่นคือยุทธศาสตร์ CPTPP ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ไบเดนคงต้องคิดหนัก แต่ก็สรุปได้ว่าสหรัฐฯให้ความสำคัญกับไทยในแง่การทหารน้อยลงมาก แม้จะลงทุนสร้างสถานกงศุลใหม่ที่เชียงใหม่กว่าพันล้านก็ตาม นั่นเป็นเพียงศูนย์การข่าวและการจารกรรมภาคใต้ของจีน ซึ่งรัฐบาลไทยไม่ว่าจะอวยจีนแค่ไหนคงไม่กล้าแตะ ประการที่สองพิจารณาในมุมมองด้านการเมือง ประเทศไทยมิใช่ผู้นำในอาเซียนอีกต่อไป เหมือนสมัยทักษิณ โดยหลังจากนั้นมหาเธห์ของมาเลเซียก็ขึ้นมาเป็นผู้นำ ยิ่งไทยเกิดรัฐประหารถึง 2 ครั้ง คือปี 49 และ ปี 57 ยิ่งทำให้ภาวการณ์นำของไทยในอาเซียนตกลงไปอีกมาก และอนาคตอินโดนีเซียจะเป็นผู้มีบทบาทนำ เพราะมีทั้งจำนวนประชากรกว่า 200 ล้าน มีทรัพยากรมากและหลากหลาย มีการเมืองที่มั่นคงในระบอบประชาธิปไตย และสุดท้ายมีที่ตั้งตามยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯต้องการใช้เป็นแนวปิดล้อมจีน ดังนั้นไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีก็คงมองไม่ต่างกัน ประการที่สามในด้านเศรษฐกิจ ไทยหมดสภาพความเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจในการลงทุน เพราะศักยภาพของเรานั้นมันไม่เอื้ออีกต่อไป ด้วยต้นทุนแรงงานสูง และแรงงานของเราที่เคยได้เปรียบเรื่องทักษะก็กำลังถดถอยลงไป ด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเทคโนโยลีและรัฐบาลไม่ได้มุ่งมั่นที่ Up Skill หรือ Reskill แรงงานเหล่านี้ อนึ่งการปฏิรูปการศึกษาของเราก็ต้องบอกว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิงด้วยเวลาที่ผ่านมา 7 ปี ไม่มีอะไรกระเตื้องเลย อาจมีความแตกต่างในมิติเศรษฐกิจบ้างนั่นคือ ไบเดน อาจจะขยายบทบาทในทางการค้าโดยเน้นที่การสร้างผลประโยชน์ร่วมกับพันธมิตร แทนการดำเนินนโยบายเอาแต่ประโยชน์ของตน (America First ) ประเทศไทยอาจจะได้รับอานิสสงค์ในการช่วยปิดล้อมจีน หรือกลายเป็นตัวกลางค้าขายระหว่าง 2 ขั้วได้ แต่นั่นก็ไม่แน่นอน อย่างไรก็ตามในปัจจุบันสหรัฐฯได้เล็งเป้าการลงทุนไปสู่อินโดนีเซีย หลายพันล้านดอลลาร์ และเวียดนามอีกจำนวนมากเพราะทั้ง 2 ประเทศจะเป็นพันธมิตรสำคัญในการช่วยสหรัฐฯต่อกรกับจีน ส่วนญี่ปุ่นที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐฯก็ดำเนินนโยบายการลงทุนไปในแนวเดียวกับสหรัฐฯ คือ ย้ายฐานการผลิตไปอินโดนีเซียและเวียดนาม ดังนั้นจีนจะเป็นความหวังที่จะมาปิดช่องว่างการลงทุนในไทย แต่ถ้าพิจารณาโดยละเอียดมันก็เหมือนกับทัวร์ศูนย์เหรียญ นั่นคือไม่เหลืออะไรไว้ให้ไทยเลย นอกจากความเสียหายของสิ่งแวดล้อม ที่กลายเป็นต้นทุนทางสังคมที่จีนเหลือไว้ให้ ซึ่งชนชั้นนายทุนและชนชั้นปกครองไม่แยแสสนใจ เพราะได้รับผลประโยชน์จากความร่วมมือทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะเขียนบทความนี้ก็ได้รับข่าวว่าทรัมป์ประกาศชัยชนะแล้วทั้งๆที่ยังนับคะแนนไปเสร็จ และถ้ามันเป็นชัยชนะที่ทรัมป์เคลมเป็นชัยชนะที่ใกล้กันมาก ก็เท่ากับว่าทรัมป์ได้จุดไฟสงครามขึ้นในประเทศแล้ว โดยพูดถึงการให้หยุดนับคะแนนในรัฐนอร์ทแคโลไลนา โดยกล่าวว่าจะนำเรื่องขึ้นสู่ศาลสูง “เอาตามตรงนะ เราชนะแล้ว” นั่นคือคำประกาศของทรัมป์ต่อผู้สนับสนุน อย่างนี้มีหรือที่ไบเดนจะยอมรับเหมือนที่รีพับลิกันได้โกงการนับคะแนนที่ฟลอริดา และมีการนำเรื่องขึ้นสู่ศาลสูง จนศาลตัดสินให้ จอร์ช ดับเบิลยู บุช ชนะ และอัลกอร์ ยอมรับความพ่ายแพ้ แม้จะไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลสูง และในหลายปีต่อมาก็มีการพิสูจน์ได้ว่าแท้จริงกอร์ชนะ เมื่อไบเดนไม่ยอม และคงต่อสู้ทางศาลสูงลำบาก ประชาชนที่สนับสนุนไบเดน และพรรคเดโมแครต โดยเฉพาะกลุ่มหัวรุนแรงชาวผิวสีคงจลาจล อนึ่งแม้ว่าทรัมป์จะใช้อุบายอุบาทว์เอาชนะได้แต่ในสมัย 2 นี้เขาคงผ่านสภาล่างและสภาสูงในเรื่องกฎหมายต่างๆยาก เนื่องจากเดโมแครตได้เสียงมากขึ้นทั้ง 2 สภา โดยสภาล่างเดโมแครตมีเสียงมากกว่าอยู่แล้ว แต่ในสภาสูงหรือวุฒิสภา เดโมแครตซึ่งเคยมีเสียงน้อยกว่ามีโอกาสได้เสียงมากกว่าก็คราวนี้ จะอะไรก็ตามสหรัฐฯได้มีการแบ่งแยกประเทศเป็น 2 ขั้ว แล้วอย่างชัดเจนจนไม่อาจตั้งอยู่บนความสงบได้ ต่อไปอีกแล้วเพราะทรัมป์เป็นผู้จุดไฟสงครามขึ้น แล้วประเทศไทยเล่าจะเป็นอย่างไร