ทั่วโลก ลุ้นกันจดจ่อด้วยใจระทึก สำหรับ “ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2020” ที่กำลังจะเปิดคูหาให้ประชาชนชาวอเมริกัน ได้ไปใช้สิทธิหย่อนบัตรเลือกตั้ง ในวันอังคารที่ 3 พ.ย.นี้ ตามวันเวลาท้องถิ่น ซึ่งจะตรงกับช่วงเช้าของวันพุธที่ 4 พ.ย. ตามวันเวลาในไทย คู่ชิงชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หนนี้ ก็เป็นการสัประยุทธ์กันระหว่าง “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ” ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรครีพับลิกัน ในฐานะเจ้าของเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ ในทำเนียบขาว กับ “นายโจ ไบเดน” อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยบารัก โอบามา ในฐานะผู้ท้าชิง คือ ผู้สมัครับเลือกตั้งจากพรรคเดโมแครต ในส่วนคะแนนนิยมของสองผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตลอดช่วงที่ผ่านมา ต้องถือ อดีตรองประธานาธิบดีไบเดน มีคะแนนนิยมนำหน้าเหนือประธานาธิบดีทรัมป์ มาโดยตลอด แทบจะทุกสำนักโพลล์ ที่ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยมีคะแนนนิยมนำหน้า มากบ้าง น้อยบ้าง ตามแต่เหตุปัจจัยพาให้เป็นไป ซึ่งบางช่วง บางตอน คะแนนนิยมของรองประธานาธิบดีไบเดน เหนือกว่าประธานาธิบดีทรัมป์ ถึง 2 หลัก คือ มากกว่า 10 จุด ก็มี เมื่อกล่าวถึงคะแนนนิยมของประชาชาวต่างประเทศ ที่มีต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งสองคน ก็มีชอบ มีชัง คละเคล้าแตกต่างกันไป ล่าสุด ทาง “บีวีเอ” สำนักโพลล์ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในแดนน้ำหอม คือ ประเทศฝรั่งเศส สำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างประชาชนในพื้นที่ 5 ประเทศพี่เบิ้มแห่งทวีปยุโรป ได้แก่ เยอรมนี อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และอังกฤษ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า ส่วนใหญของกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามก็นิยมชมชอบต่ออดีตรองประธานาธิบดีไบเดน มากกว่าประธานาธิบดีทรัมป์โดยเฉลี่ย ทั้งนี้ หากกลุ่มตัวอย่างสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในสหรัฐฯ ได้ ก็จะกาบัตรเลือกตั้งเทคะแนนให้แก่อดีตรองประธานาธิบดีผู้นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มตัวอย่างของชาวเมืองเบียร์ นิกเนมของประเทศเยอรมนี ที่บีวีเอโพลล์ ระบุว่า มากถึงร้อยละ 66 หรือคิดเป็นร่วมๆ 2 ใน 3 เลยทีเดียว ที่ชื่นชอบต่ออดีตรองประธานาธิบดีไบเดน ส่วนชาวเยอรมันที่นิยมชมชอบต่อประธานาธิบดีทรัมป์ มีจำนวนเพียงร้อยละ 8 เท่านั้น ไม่ถึง 1 ใน 10 ขณะที่ ผู้ที่ยังไม่ตัดสินว่าะเลือกใครดี ระหว่างทรัมป์กับไบเดน ในเยอรมนีมีจำนวนร้อยละ 27 เหตุปัจจัยที่ทำให้ชาวเมืองเบียร์ ออกอาการยี้ต่อประธานาธิบดีทรัมป์ผู้นี้ ก็ด้วยประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้นี้มีเรื่องระหองระแหงกับเยอรมนีหลายครั้งหลายหน ทั้งกับนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงแกร่งของเยอรมนี รวมถึงกรณีขัดแย้งเรื่องการย้ายฐานทหารอเมริกัน หัวเรือใหญ่ของนาโต ไปยังโปแลนด์ เป็นอาทิ ซึ่งนอกจากทำให้ชาวเยอรมันเป็นจำนวนมากไม่ชอบทรัมป์ ก็ยังพลอยทำให้ไม่ปลื้มประเทศสหรัฐฯ กันไปด้วย โดยมีชาวเยอรมัน ชื่นชอบต่อประเทศสหรัฐฯ เพียงร้อยละ 22 เท่านั้น อันถือเป็นคะแนนนิยมที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ส่วนประเทศที่ให้ความชมชอบแก่ประธานาธิบดีทรัมป์มากที่สุดในครั้งนี้ ก็เห็นจะเป็น “อิตาลี” แดนมักกะโรนี ที่ให้คะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 15 ทว่า ในความชื่นชอบที่ชาวอิตาลีมีให้อดีตรองประธานาธิบดีไบเดน ก็ไม่น้อยเช่นกัน คือ ร้อยละ 42 หรือมากกว่าเกือบๆ 3 เท่า ที่ชอบทรัมป์ สาเหตุโดยรวมที่บรรดาชาติพี่เบิ้มใหญ่ไม่ชอบทรัมป์ นอกเหนือจากกรณีที่เยอรมนี ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น ก็ยังเป็นผลพวงมาจากการที่สหรัฐฯ ภายใต้การของประธานาธิบดีทรัมป์ ถอนตัวพ้นการเป็นสมาชิกจากข้อตกลงปารีส ที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน และการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ดำเนินนโยบาย เดินหน้าในโครงการก่อสร้างกำแพงปิดกั้นพรมแดนระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก แดนจังโก อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ จะมีแต่คนชังในเสียงส่วนใหญ่ก็หาไม่ เพราะมีกลุ่มคนที่นิยมชมชอบต่อเขาก็มีเช่นกัน โดยเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ประชาชนในเหล่าประเทศของยุโรปกลาง และยุโรปตะวันออก กลับมีความชื่นชอบต่อประธานาธิบดีทรัมป์ผู้นี้ ซึ่งคิดเป็นถึง 1 ใน 5 เลยทีเดียว อันเป็นผลพวงจากการดำเนินนโยบายย้ายฐานทัพสหรัฐฯ ผู้นำของนาโต มายังบรรดาประเทศเหล่านี้ เช่น โปแลนด์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากสร้างความมั่นใจในด้านความมั่นคง ให้พ้นจากภัยจากคุกคามของรัสเซียแล้ว ก็ยังทำให้ชาติเหล่านี้คาดหวังว่า ส่งผลดีต่อทางเศรษฐกิจของประเทศพวกเขาด้วย นอกจากนี้ ก็ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับที่ภริยาของประธานาธิบดีทรัมป์ คือ “เมลาเนีย ทรัมป์” สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ มีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ในสโลวีเนีย ซึ่งเป็นประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางอีกด้วย สำหรับคะแนนนิยมของสองผู้สมัครรับเลือกตั้งในสหรัฐฯ ล่าสุด อดีตรองประธานาธิบดีไบเดน นำหน้าประธานาธิบดีทรัมป์ อยู่ 7 จุด ที่ร้อยละ 51 ต่อ 44 อย่างไรก็ดี ใช่ว่าอดีตรองประธานาธิบดีไบเดน จะเอาชนะได้อย่างสะดวกดาย เพราะนั่นคือ เป็นตัวชี้วัดของคะแนนป๊อปปูลาโหวตที่นายไบเดนจะได้ แต่ตัวชี้ขาดว่า ใครจะได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีในทำเนียบขาวจริงๆ นั้น ขึ้นอยู่คะแนนของ “คณะผู้เลือกตั้ง” หรือ “อิเล็กโทรัลโหวต” เป็นประการสำคัญ คือ ใครได้คะแนนอิเล็กโทรัลโหวตจำนวน 270 เสียงก่อน จากจำนวนทั้งสิ้น 538 เสียง จึงจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างแท้จริง